รายงานพิเศษ : ทบทวนขยายเวลาขาย ‘สุรา’ ลด ‘เจ็บ-ตาย-พิการ’ สังคมเสื่อม

รายงานพิเศษ : ทบทวนขยายเวลาขาย ‘สุรา’ ลด ‘เจ็บ-ตาย-พิการ’ สังคมเสื่อม

เครือข่ายลดอุบัติเหตุ จี้รัฐทบทวนนโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หวั่นหาก “ดื้อด้าน” จะนำมาซึ่งความสูญเสียอุบัติเหตุทางถนน-เด็กและเยาวชนกลายเป็นเหยื่อ-เกิดปัญหารุนแรงเสี่ยงฆ่าตัวตาย และเสื่อมโทรมในสังคมที่เกิดจากน้ำเมา

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้มีนโยบายให้เปิดสถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมและสถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ให้เปิดบริการได้ถึงตี 4 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการขยายกำหนดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไป ให้สอดคล้องกับเวลาเปิด-ปิดของสถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่นำร่องดังกล่าวนั้น ซึ่งตนเองเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องต้องทบทวนและพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ทั้งที่เป็นผลกระทบทางตรงที่มีต่อสุขภาพร่างกาย และผลกระทบทางอ้อมในเรื่องความสูญเสียจากเศรษฐกิจและสังคม ทั่วโลกรับรู้และต่างพยายามแก้ไขปัญหากันมาอย่างยาวนาน ทำให้องค์การอนามัยโลก(WHO) ถึงกับเสนอให้ทุกประเทศหาทางแก้ไขปัองกัน

นายพรหมมินทร์ กล่าว ต่อไปว่า นักวิจัยวิทยาศาสตร์สารเสพติดนานาชาติ ชี้ว่าปัญหาจากการดื่ม สร้างผลกระทบรุนแรง รัฐต้องมีส่วนร่วมวางนโยบายที่เข้มแข็ง ห่วงเด็กและเยาวชนกลายเป็นเหยื่อปัญหารุนแรงถึงขั้นเสี่ยงฆ่าตัวตาย ซึ่งการออกกฎหมายจำกัดอายุ คุมเวลาขาย ห้ามโฆษณา ช่วยลดปัญหาลง 35% ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม การมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากจากการดื่มไม่ว่าจะเกิดจากเหตุทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุทางถนน อาชญากรรม ทำให้กระทบการรักษาผู้ป่วยจากการเจ็บป่วยโรคอื่นๆ เตียงเต็ม โรงพยาบาลไม่พอ บุคลากรไม่พอและยังใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมากจนส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านสาธารณสุข กระทบครอบครัว เช่น รายได้ครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดและผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้นอกจากการวางแผนแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังต้องดูแลเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้เพื่อทำให้คนหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนอีกด้วย

ซึ่งสอดคล้องกับ ดร.ชิด ซู ทินน์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ศึกษาเรื่องการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเยาวชน มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต มีการเก็บกลุ่มตัวอย่างในเยาวชนอายุ 15-23 ปี จำนวน 1,538 คน ในโรงเรียน 6 แห่ง จากทุกภาคของไทย โดยพบว่า เยาวชนไทยมีปัญหาที่เกิดจากการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากปี 2551 อยู่ที่ 14.8% เพิ่มขึ้นเป็น 22.2% ในปี 2558 พบปัญหาเกิดจากการที่เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ส่งผลให้เด็กมีโอกาสที่จะกลายเป็นนักดื่ม และมีปัญหาทางสุขภาพจิตและเชื่อมโยงกับการติดพนัน และใช้สารเสพติด

ทั้งนี้ วัยรุ่นต้องเผชิญกับปัญหาที่มาจากอารมณ์ จนกระทบไปถึงปัญหาสังคม และสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผลการเรียนตกต่ำ ปัญหาความพยายามฆ่าตัวตาย ปัญหาทางสุขภาพอื่น ล้วนเกิดจากการที่เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ภาครัฐควรมีโปรแกรมสำหรับดูแลคนรุ่นใหม่ เยาวชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักและรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตนเองได้ จึงจำเป็นต้องสร้างหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนให้เท่าทันต่อผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต การพนัน และการใช้สารเสพติด

นายพรหมมินทร์ กล่าวต่ออีกว่า จากผลกระทบดังกล่าวนี้ หากรัฐยังคงดื้อด้านคิดจะขยายเวลาขายน้ำเมาก็เท่ากับว่ามองไม่เห็นความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย มองไม่เห็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับคนไทยอย่างต่อเนื่อง มองไม่เห็นความทุกข์ทรมานของผู้ที่ได้รับผลกระทบและต้องสูญเสียคนในครอบครัว เพียงเพราะต้องการกระตุ้นส่งเสริมทางเศรษฐกิจ ทั้งๆที่ขาดโครงสร้างการบริหารจัดการรับมือกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

“ปัจจุบันนี้เกิดความเสื่อมในสังคมไทยที่มีความสัมพันธ์กับน้ำเมา เช่น อุบัติเหตุทางถนน การเสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ ทำให้ครอบครัวล่มสลาย เกิดเหตุทะเลาะวิวาท ฆ่าข่มขืน คดีอาชญากรรม ศีลธรรมตกต่ำ ยาเสพติด การพนันและอีกมากมาย เราต้องช่วยกันส่งสัญญาณแรงๆ ให้กับรัฐบาล อย่าคิดเพียงหาเม็ดเงิน อย่าคิดจะแลกชีวิตคนไทยกับน้ำเมา ” นายพรหมมินทร์ กล่าว

ขอบคุณ... https://www.naewna.com/likesara/787234

ที่มา: naewna.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 21 ก.พ.67
วันที่โพสต์: 21/02/2567 เวลา 10:33:59 ดูภาพสไลด์โชว์ รายงานพิเศษ : ทบทวนขยายเวลาขาย ‘สุรา’ ลด ‘เจ็บ-ตาย-พิการ’ สังคมเสื่อม