‘อาจารย์นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร’ สานต่อการให้กับภารกิจผู้นําสถาบันราชสุดา

‘อาจารย์นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร’ สานต่อการให้กับภารกิจผู้นําสถาบันราชสุดา

‘อาจารย์นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร’ สานต่อการให้กับภารกิจผู้นําสถาบันราชสุดา มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ

กว่า 400,000 คน คือ ตัวเลขของคนพิการทางการได้ยินในเมืองไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลุ่มคนเหล่านี้ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ไม่นับคนพิการอีกจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา

เหตุผลสำคัญมีทั้งความไม่พร้อมของสถานศึกษาในการรองรับผู้พิการ สภาพแวดล้อมในครอบครัว ปัจจัยด้านการเดินทาง ตลอดจนสถานะทางการเงิน นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งสูงขึ้น

นี่จึงเป็นภารกิจของสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มุ่งเป้าเป็นสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาบุคลากรกลุ่มวิชาชีพครู และนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสอนและพัฒนาศักยภาพคนพิการให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะช่วยสร้างโอกาสให้คนพิการได้เข้าถึงการศึกษา

การขับเคลื่อนภารกิจของสถาบันราชสุดาไปให้ถึงเป้าหมาย จึงต้องอาศัยหัวเรือใหญ่ที่เข้าใจสถานการณ์ ตลอดจนเข้าใจความต้องการคุณภาพชีวิตที่แท้จริงของคนพิการ อย่าง ‘อาจารย์นายแพทย์สมเกียรติ ลีละศิธร’ ผู้อำนวยการสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ท่านนี้

‘อาจารย์นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร’ สานต่อการให้กับภารกิจผู้นําสถาบันราชสุดา

อาจารย์นายแพทย์สมเกียรติจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี 2526 ก่อนไปเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ 1 ปีที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา จากนั้นได้มีโอกาสทำงานเป็นแพทย์เต็มตัวที่โรงพยาบาลชุมพวงในจังหวัดเดียวกัน จนกระทั่งปี 2532 จึงได้โอนย้ายมาเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อนที่ในปี 2545 จะได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และรองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพในปี 2558 หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนในปี 2562 และปัจจุบันกับการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันราชสุดา

ภารกิจผู้นำสถาบันราชสุดา เพื่อคนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง

การมุ่งยกระดับคุณภาพด้านการศึกษาให้แก่คนพิการของสถาบันราชสุดา คือความคาดหวังที่อยากเห็นคนพิการสามารถพึ่งพาตนเอง หาเลี้ยงชีพได้ สามารถอยู่ร่วมและเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาสังคมร่วมกับคนทั่วไปได้ หากสามารถทำให้ระบบการศึกษาบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ คนพิการก็จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างมีความหมาย มีความภาคภูมิใจ และนั่นคือคุณภาพชีวิตที่แท้จริงของคนพิการ

“ผมอยากให้สถาบันราชสุดาเป็นปัญญาของสังคมที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการต่างๆ ให้กับคนพิการ ทั้งบริการทางการแพทย์ การศึกษา การมีงานทำ และบริการทางสังคมอื่นๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ สร้างการมีคุณค่าภายในจิตใจให้กับคนพิการทุกคน

เพราะแท้จริงแล้วคนพิการก็คือคนทั่วไปที่มีความบกพร่อง อาจเป็นทางกาย หรือทางใจ หรือประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น ตา หรือหู เป็นต้น เขาเหล่านี้ก็ต้องการความรัก ความปรารถนาดี การทำความดี การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้เช่นเดียวกับพวกเราทุกคน” ผู้อำนวยการสถาบันราชสุดากล่าว

‘อาจารย์นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร’ สานต่อการให้กับภารกิจผู้นําสถาบันราชสุดา

อาจารย์นายแพทย์สมเกียรติมองว่า ที่ผ่านมาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจและเข้าถึงของคนทั่วไปในสังคม ต้องทำให้คนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าและพลังของคนพิการ อันเป็นพื้นฐานของการสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือ Inclusive Society และเมื่อเวลาผ่านไป หากมองย้อนหลังในสิ่งที่ร่วมกันทำให้กับสังคมในเรื่องนี้ก็จะเกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน

สถาบันราชสุดาจึงสนับสนุนสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนพิการต้องการ นั่นคือการสนับสนุนทางด้านการศึกษา ด้วยระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น เปิดให้คนพิการสามารถเรียนรวม (Inclusive Education) กับคนทั่วไปได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีการสนับสนุนสำหรับความพิการที่แตกต่างกันไป เช่น คนหูหนวกที่มีการใช้ล่ามภาษามือ และสื่อเทคโนโลยีที่ช่วยการเรียนรู้ให้มีประสิทธิผล คนตาบอดอาจต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยการเห็น ช่วยการเข้าถึงข้อมูล ช่วยการเดินทาง รวมทั้งผู้สอนที่เข้าใจลักษณะของความพิการ และความต้องการจำเป็นเฉพาะของคนพิการ มีความสามารถที่จะสอนให้คนพิการเข้าถึง เข้าใจ นำไปใช้ รวมทั้งสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ เป็นต้น

“เรายึดหลักว่าคนหูหนวกและคนหูดีจะเรียนด้วยกัน เพราะการเรียนด้วยกันทำให้เขาเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เป็นที่มาที่เราใช้คำว่าสองภาษา สองวัฒนธรรม”

นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ สถาบันราชสุดาแห่งนี้ได้ผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 692 ราย ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 153 ราย แบ่งเป็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 84 ราย นักศึกษาที่มีการได้ยิน 69 ราย และคาดว่าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2567 จำนวน 54 ราย

ในส่วนของระดับบัณฑิตศึกษา แบ่งเป็นระดับปริญญาโท 49 คน คาดว่าจะเสร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 7 ราย และระดับปริญญาเอก 24 ราย จะสำเร็จการศึกษาปี 2566 จำนวน 8 ราย โดยระดับนี้มีทั้งนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเห็น นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว รวมถึงนักศึกษาทั่วไป

“บุคลากรเหล่านี้จะไปเติมเต็มส่วนการศึกษาของระบบใหญ่ รวมทั้งไปช่วยพัฒนาความเข้มแข็งในการดำเนินการของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ที่มีทั่วประเทศกว่า 2,000 แห่ง ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้กับทุกท่าน”

ทุกคนล้วนเป็น ‘หุ้นส่วน’ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการกับสถาบันราชสุดาได้

เมื่อถามว่าอยากเห็นสถาบันราชสุดามีการพัฒนาต่อยอดต่อไปอย่างไร อาจารย์นายแพทย์สมเกียรติตอบว่า อยากเห็นสถาบันราชสุดาไม่ได้ทำภารกิจอยู่เพียงลำพัง แต่มีเพื่อนร่วมทางที่เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา

หุ้นส่วนจะได้เข้ามาช่วยขยายการเข้าถึงโอกาสและครอบคลุมบริการที่จำเป็นของคนพิการ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนทั่วไป ครอบคลุมความพิการที่หลากหลายประเภท รวมทั้งสามารถขยายประโยชน์ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีระบบสังคมและวัฒนธรรมคล้ายกันได้

“การที่สถาบันราชสุดาจะทำภารกิจพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการสร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกันได้นั้น เราต้องการความเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการศึกษา การส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการ การพัฒนาระบบบริการที่คนพิการเข้าถึงได้ การวิจัยพัฒนา และการสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม รวมทั้งการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับคนพิการ โดยอาจเป็นการทำงานร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเป็นโครงการความร่วมมือในลักษณะต่างๆ ตลอดจนการร่วมลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ได้”

โดยการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันราชสุดาผ่านทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่เป็นอีกสะพานบุญ ในการ “ให้” เพื่อส่งต่อโอกาสให้กับคนพิการทั้งทางด้านการได้ยิน และคนพิการทางการมองเห็นที่สถาบันราชสุดา

หากมองว่าเป้าหมายการต่อยอดก้าวต่อไปของสถาบันราชสุดาคือการมีเครือข่ายเพื่อทำงานร่วมกันก็คงไม่ผิดนัก เพราะหากเกิดความร่วมมือเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงกัน ย่อมตอบเป้าหมายของสถาบันราชสุดา แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อดูแลกันอย่างแท้จริง ภายใต้เป้าหมายสูงสุดนั่นคือการที่คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสเท่าเทียมกับคนทั่วไป และอาจถือว่าภารกิจในฐานะผู้นำสถาบันราชสุดาประสบความสำเร็จไปอีกขั้น

สานต่อการให้ไม่สิ้นสุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ

เชิญร่วมบริจาคโครงการทุนสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ชื่อบัญชีมูลนิธิรามาธิบดี

กรุงเทพ 090-3-50015-5

กสิกรไทย 879-2-00448-3

ไทยพาณิชย์ 026-3-05216-3

บริจาคออนไลน์คลิก http://www.ramafoundation.or.th

LINE @ramafoundation

โทรศัพท์ 02-201-1111

ขอบคุณ... https://www.thepeople.co/interview/look-up/52814

ที่มา: thepeople.co/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 5 ม.ค.66
วันที่โพสต์: 5/01/2567 เวลา 13:57:16 ดูภาพสไลด์โชว์ ‘อาจารย์นพ.สมเกียรติ ลีละศิธร’ สานต่อการให้กับภารกิจผู้นําสถาบันราชสุดา