20 ปีไฟใต้ ตาย-เจ็บเกือบ 2 หมื่น พิการเฉียดพัน เยียวยา 4 พันล้าน!

20 ปีไฟใต้ ตาย-เจ็บเกือบ 2 หมื่น พิการเฉียดพัน เยียวยา 4 พันล้าน!

4 มกราคม 2567 เป็นวันครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารที่สุดครั้งหนึ่งของเมืองไทย

เหตุปล้นปืนครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่ค่ายทหาร กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ “ค่ายปิเหล็ง” อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547

คนร้ายได้อาวุธปืนไปมากถึง 413 กระบอก ล้วนเป็นอาวุธปืนสงคราม

หลายคนเรียกวันที่ 4 มกราคม 2547 ว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะนับจากวันปล้นปืน ก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน ยืดเยื้อยาวนานถึง 20 ปีแล้ว

แม้ในทศวรรษหลังมานี้ เหตุร้ายรูปแบบต่างๆ จะลดระดับลงบ้าง และมีความพยายามตั้งคณะพูดคุยเจรจา เพื่ือหาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่กระบวนการสันติภาพก็ไม่มีความคืบหน้า

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีเหตุรุนแรงที่ก่อความสูญเสียเกิดขึ้นมากมาย “ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมโดยนับเฉพาะเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ลงมติตรงกันว่าเป็น “เหตุความมั่นคง” เท่านั้น ไม่ใช่เหตุส่วนตัว ล้างแค้น ทวงหนี้ หรือชู้สาว

20 ปีไฟใต้ ตาย-เจ็บเกือบ 2 หมื่น พิการเฉียดพัน เยียวยา 4 พันล้าน!

ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 มีสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียที่น่าตกใจ

1.สถิติการสูญเสีย

เสียชีวิต รวม 4,577 ราย (นับเฉพาะสถานการณ์/เหตุความมั่นคง)

ประชาชนมากที่สุด 2,733 ราย

รองลงมาคือทหาร 623 นาย ตำรวจ 410 นาย

ครู 98 คน

เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ 9 คน

เจ้าหน้าที่ อส. (สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน) 18 คน

ผู้นำท้องถิ่น 246 คน

ผู้นำศาสนาอิสลาม 24 คน

พระสงฆ์ 13 รูป

ปีที่สูญเสียมากที่สุด คือ 2550 - 723 ศพ / ต่ำสุด ปี 2564 - 40 ศพ

ข้อมูลที่ต้องหมายเหตุเอาไว้ก็คือ ตัวเลขความสูญเสียของผู้คนในบางสาขาอาชีพ ก่อนหน้านี้สูงกว่าที่ปรากฏ เช่น ครู (เคยมีตัวเลขบางแหล่งรายงานการเสียชีวิตรวมมากกว่า 110 ราย) หรือแม้แต่ อส.ก็มีผู้ถูกสังหารจำนวนมากกว่า 18 ศพ แต่ภายหลังพิสูจน์แล้วพบว่า บางรายอาจไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ จึงมีการปรับตัวเลขใหม่

ตัวเลขผู้บาดเจ็บ รวม 11,349 ราย (นับเฉพาะสถานการณ์/เหตุความมั่นคง)

ประชาชนมากที่สุด 6,182 ราย

รองลงมาคือทหาร 2,994 นาย ตำรวจ 1,712 นาย

ครู 120 คน

เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ 61 คน

เจ้าหน้าที่ อส. 40 คน

ผู้นำท้องถิ่น 173 คน

ผู้นำศาสนาอิสลาม 26 คน

พระสงฆ์ 33 รูป

2.รูปแบบความรุนแรง

รวมทุกเหตุการณ์ ทุกรูปแบบ 10,392 เหตุการณ์

ยิง มากที่สุด 4,468 เหตุการณ์

รองลงมาคือระเบิด 3,736 เหตุการณ์

วางเพลิง 1,527 เหตุการณ์

นอกจากนั้นยังมีเหตุ “โจมตีที่ตั้ง” หรือฐานปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง 51 ครั้ง

ซุ่มโจมตี 201 ครั้ง

ฆ่าด้วยวิธีทารุณ (เช่น ฆ่าตัดคอ ฆ่าแล้วจุดไฟเผาร่างซ้ำ) 92 ครั้ง

ปีที่เหตุรุนแรงเกิดขึ้นถี่ที่สุด คือปี 2550 - 1,821 เหตุการณ์ / ต่ำสุด 2563 - 54 เหตุการณ์

จากสถิติความสูญเสีย ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ นำมาสู่การช่วยหลือเยียวยา ซึ่งเป็นงบประมาณที่หน่วยงานรัฐและรัฐบาลต้องรับผิดชอบในแต่ละปี เพราะถือว่าไม่สามารถดูแลชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนได้ดีพอ

ประเด็นที่น่าเศร้าก็คือ นอกจากเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังมีผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องพิการ หรือทุพพลภาพจากสถานการณ์ความไม่สงบ และรัฐต้องช่วยเหลือเยียวยาจำนวนมากถึง 895 คน แยกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 430 คน และประชาชน 465 คน

รวมงบประมาณการช่วยเหลือทั้งหมด 4,330,023,615.85 บาท แยกเป็น

- งบประมาณการช่วยเหลือความสูญเสียทางด้านร่างกาย จำนวน 3,372,727,743 บาท

- งบประมาณการช่วยเหลือด้านทรัพย์สิน จำนวน 957,295,872.85 บาท

แยกย่อยเป็น การช่วยเหลือเกี่ยวกับบ้านเรือน อาคาร ยานพาหนะ และพืชผลทางการเกษตร จำนวน 5,682 ราย

ขอบคุณ... https://shorturl.asia/2An0r

ที่มา: isranews.org/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 4 ม.ค.66
วันที่โพสต์: 4/01/2567 เวลา 14:25:04 ดูภาพสไลด์โชว์ 20 ปีไฟใต้ ตาย-เจ็บเกือบ 2 หมื่น พิการเฉียดพัน เยียวยา 4 พันล้าน!