กสทช.เสริมความรู้โลกไอที เจาะกลุ่มผู้พิการ-สูงอายุ-ด้อยโอกาส ตระหนักรู้เท่าทันภัยทางดิจิทัล

กสทช.เสริมความรู้โลกไอที เจาะกลุ่มผู้พิการ-สูงอายุ-ด้อยโอกาส ตระหนักรู้เท่าทันภัยทางดิจิทัล

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการบรรยายหัวข้อ “การสร้างความรับรู้เท่าทันภัยทางดิจิทัลและการคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม” ณ อาคารหอประชุมสำนักงาน กสทช. และทางออนไลน์ผ่านระบบ WebEx ไปยังศูนย์อินเตอร์เน็ตสาธารณะ 2,184 แห่งทั่วประเทศ

โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ นายชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม นายวีรพนธ์ ศรีนวลผู้อำนวยการส่วนจัดให้มีบริการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ทางสังคม สำนักบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม

ศ.(คลินิก) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังที่เห็นตามข่าวเรื่องการหลอกลวงทางออนไลน์ เกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย ทุกคนอาจเคยได้สัมผัสมาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ หรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจากศูนย์อินเตอร์เน็ตสาธารณะ 2,184 แห่งทั่วประเทศ เรามีหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคมในประเทศไทย ซึ่งไม่ควรตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี มุ่งเน้นสู่การพัฒนาคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ที่มีคุณภาพในการใช้ดิจิทัล

“ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส จริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ รับรู้เท่าทันภัยที่อาจจะพบทางไซเบอร์ ให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นผู้ใช้งานดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตจะสามารถถ่ายทอดความรู้ที่มีต่อไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป” รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าว

ขณะที่ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) กล่าวในการบรรยายเรื่อง “เข้าถึงอย่างเข้าใจ” ว่า มนุษย์มีพัฒนาการด้านการสื่อสาร จากการใช้ภาษากาย มาสู่การใช้จดหมาย หนังสือ มาจนถึงปัจจุบันที่ใช้คลื่นความถี่เป็นตัวกลางส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ทำให้ปริมาณข้อมูลต่างๆ ถูกกระจายไปอย่างกว้างขวางมากมายมหาศาล โดยคลื่นความถี่มีอยู่ในทุกที่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้เครื่องมือผลิตคลื่นความถี่เพื่อกระจายเป็นสื่อสัญญาณในพื้นที่นั้นหรือไม่ และนอกจากคลื่นความถี่ที่อยู่ในอากาศและอวกาศหรือดาวเทียมแล้วยังมีคลื่นที่ไปตามสายไม่ว่าสายทองแดงหรือสายไฟเบอร์ออพติค ทั้งหมดนี้เป็นการทำให้พื้นที่ต่างๆ มีระบบสื่อสารเชื่อมโยงถึงกัน อย่างในอดีตจะส่งจดหมายจาก จ.แม่ฮ่องสอน ไปยัง จ.ยะลา อาจใช้เวลาถึงผู้รับประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันพื้นที่ต่างๆ ถูกร้อยเรียงเชื่อมโยงด้วยคลื่นความถี่และโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม การส่งข้อความไปหากันไม่ได้ใช้เวลาเป็นวัน แต่เป็นเพียงเสี้ยววินาที และกิจกรรมในการสื่อสารข้อมูลก็จะเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งเพิ่มขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศหรือทั้งโลกไม่ใช่เพียงจุดใดจุดหนึ่ง เราจึงอยู่ในยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization

ขอบคุณ... https://shorturl.asia/soObu

ที่มา: bangkok-today.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 21 ธ.ค. 66
วันที่โพสต์: 21/12/2566 เวลา 10:17:20 ดูภาพสไลด์โชว์ กสทช.เสริมความรู้โลกไอที เจาะกลุ่มผู้พิการ-สูงอายุ-ด้อยโอกาส ตระหนักรู้เท่าทันภัยทางดิจิทัล