เปลี่ยนสงสารเป็นโอกาส วิธีคิดมอบอาชีพให้คนพิการ สู่ความยั่งยืน

เปลี่ยนสงสารเป็นโอกาส วิธีคิดมอบอาชีพให้คนพิการ สู่ความยั่งยืน

เริ่มต้นด้วยความไม่รู้ สู่การมุ่งหวังเปลี่ยนสังคม 'สงสาร' เป็น 'มอบโอกาส' เรื่องราวของ 'ผึ้ง วันดี' นักเขียนสารคดี ผู้ใช้ทุนส่วนตัวสร้างอาชีพให้คนพิการผ่านงานแฮนด์เมด...

'ข้อจำกัด' บางอย่าง พรากบางสิ่งไปจากชีวิต 'มนุษย์'

สำหรับ 'คนพิการ' ก็เช่นกัน หลายคนมีความสามารถ แต่กลับถูกห้ามทำงาน หรือถูกตีตราด้วยคำว่า 'ทำไม่ได้' ก่อนที่จะมีโอกาสพิสูจน์ความสามารถเสียอีก ทำให้พวกเขาต้องติดหล่มความคิดว่า ตนเองนั้น 'ไร้ค่า'

ชีวิตของนักเขียนสารคดีคนหนึ่งชื่อ 'ผึ้ง-วันดี สันติวุฒิเมธี' เธอทำงานคลุกคลีกับคนพิการอยู่หลายปี ได้เห็น 'ชีวิต' ของพวกเขาหลากรูปแบบ ตั้งแต่คนที่มีรอยยิ้ม ไปจนถึงคนที่อยากจบชีวิต ลาโลกใบนี้แบบไม่มีหวนกลับ เรื่องราวที่ได้พบ ทำให้เธอสะสม 'พลังความคิด' บางอย่างที่อุดมไปด้วย 'พลังความหวัง'

วันหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจก้าวไปข้างหน้า ใช้แรงกาย แรงสมอง และสองมือ ปลุกปั้นแบรนด์ V Craft เพื่อสร้างอาชีพให้คนพิการ ไม่ใช่เพียงให้พวกเขามีงานทำ แต่ยังอยากคืนคำว่า 'คุณค่า' สู่ความคิดของผู้พิการทุกคน นอกจากนั้นยังต้องการทลายกรอบของสังคมที่มองคนพิการด้วยความสงสารเวทนา

ต่อจากนี้คือเรื่องราวจากการสนทนาระหว่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับ 'ผึ้ง วันดี' ที่แม้ชีวิตจะต้องพยายามทุ่มเทแรงกาย และแรงใจอย่างหนักหน่วง แต่เธอก็ยังเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงที่มีพลังและความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนสงสารเป็นโอกาส วิธีคิดมอบอาชีพให้คนพิการ สู่ความยั่งยืน

เริ่มทำโดยที่ไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร :

ประโยคจากเสียงปลายสายของผู้หญิงคนนี้ที่น่าสนใจ คือ "ตอนที่เราเริ่มทำ 'ไม่รู้' เลยว่าทางข้างหน้าจะเป็นยังไง รู้แต่ว่าการลงทุนกับคนพิการต้องใช้เวลา"

พอได้ยินแบบนั้นปุ๊บ ทีมข่าวฯ ก็ถามกลับทันทีว่า "ถ้าไม่รู้ ทำไมยังไปต่อ?"

"เราอยาก 'พิสูจน์' ให้สังคมเห็นว่า ถ้าให้ 'โอกาส' และ 'เวลา' กับคนพิการสำหรับฝึกฝน วันหนึ่งเขาจะทำได้จริงๆ ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมา เราได้พิสูจน์แล้วว่าทำได้" เธอตอบ

จากการร่วมงานกับคนพิการ 6 ปี สู่การสร้างอาชีพเพื่อคนพิการ :

จากความ 'ไม่รู้' แต่อยากไปต่อ รวมเข้ากับความคิด ความตั้งใจ อันเต็มเปี่ยมไปด้วย 'พลัง' ที่อยากจะ 'สร้างงาน' ให้คนพิการหลากหลายประเภท ผ่านการทำงานฝีมือที่ 'สวยงาม' และต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานแฮนด์เมด (Handmade) ของคนพิการ

แม้นี่จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ไม่ใช่ว่าเธอคิดปุ๊บแล้วจะทำได้ปั๊บ เพราะแนวคิดนี้ถูกตกผลึก หลังจากทำงานร่วมกับคนพิการมาแล้วช่วงหนึ่งของชีวิต…

ประมาณ 6 ปี ก่อนจะมาทำ V Craft 'วันดี' เคยทดลองทำแบรนด์ให้กับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และเคยมีประสบการณ์ทำงานกับคนพิการ สิ่งนี้เองทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า คนตาบอด-คนพิการ สามารถทำอะไรได้บ้าง

"เราเริ่มอยากจะทำแบรนด์สินค้าของตนเอง เป็นธุรกิจเพื่อสังคม มีงานเพื่อคนพิการหลากหลายประเภท อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์คนพิการ ด้วยการมีดีไซเนอร์เข้ามาช่วย อยากออกแบบการผลิตสินค้าที่เหมาะกับศักยภาพของผู้พิการแต่ละประเภท และต้องการสร้างตลาดให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น"

เปลี่ยนสงสารเป็นโอกาส วิธีคิดมอบอาชีพให้คนพิการ สู่ความยั่งยืน

ปรึกษาคนพิการ ลงมือเรียนรู้ ก่อนเริ่มเปิดสอน :

ก่อนจะเริ่มทำแบรนด์ V Craft ผึ้งได้แต่มองหาว่า "จะให้คนพิการทำอะไร" ซึ่งโจทย์แรกของเธอเป็น 'คนตาบอด' ทำให้เธอต้องคิดต่อว่า แล้วทักษะอะไรที่คนตาบอดจะสามารถทำได้

หลังจากคิดอยู่สักพัก ผึ้งจึงได้ปรึกษากับรุ่นน้องชื่อ 'พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์' ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา ทำให้ได้ข้อสรุปว่าจะทำ 'งานถัก' เพราะเป็นงานที่ใช้การสัมผัส คิดว่าน่าจะทำได้

"ตอนนั้นตัวเราเองก็ยังไม่เคยเรียนเหมือนกัน เคยเรียนแต่การต่อผ้า (Patchwork) วันหนึ่งไปเห็นงานถักที่เรียกว่า มาคราเม่ (Macrame) แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ จึงอยากจะทำมาคราเม่ โดยที่ตอนนั้นไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าคืออะไร"

'งานถัก' ที่ผึ้งตกตะกอนความคิดร่วมกับพลอย ก็ลงล็อกกับความชอบส่วนตัวของเธอพอดี เพราะแม้อาชีพหลักของผึ้งจะเป็นนักเขียนสารคดี แต่เธอมีความชื่นชอบงานแฮนด์เมดมาก "ผึ้งเคยได้เรียนหลักสูตรต่อผ้าของประเทศญี่ปุ่นที่มาเปิดในเมืองไทยแล้วก็ชอบมาก" เธอเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส

ผึ้งลองเริ่มเรียนการทำ 'เปลญวน' เพราะชื่นชอบเป็นทุนเดิม แต่คิดไปคิดมา เธอมองว่าถ้าเริ่มจากเปลญวน คนตาบอดอาจจะลำบาก เพราะว่าเชือกยาว และไม่อยากสร้างความลำบากให้คนพิการมากขึ้น จึงไปลองเรียนงานถัก 'มาคราเม่' ทำให้พบว่าคนตาบอดน่าจะทำได้

"เราไปหาครูสอนเพิ่มเติม เริ่มจากงานชิ้นเล็กๆ จึงได้เรียนกับ ครูย้ง จากเพจ 'รยางค์ระวิง' (rayangrawing) ซึ่งเขามีความเชี่ยวชาญถักงานดีไซน์ ก็ปรึกษาครูว่าอยากทำแบรนด์สร้างงานให้คนพิการ คุณครูจึงได้มาร่วมเป็นดีไซน์เนอร์ด้วย"

'คนตาบอด' ผู้พิการกลุ่มแรกที่เลือก :

ความตั้งใจแรกของผึ้ง ต้องการสร้างอาชีพแก่ผู้พิการหลากหลายประเภท แต่ข้อจำกัดที่มีอยู่ทำให้เธอต้องเลือก…

ผึ้ง กล่าวว่า ความพิการแต่ละประเภท มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ถ้าเราสอนผู้พิการทุกประเภทรวมกัน เราจะสอนไม่ได้ เราจึงต้องออกแบบการสอนให้เหมาะกับความพิการนั้นๆ

ในเฟสแรกเริ่มที่ 'คนตาบอด' เพราะว่าเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการจ้างงานน้อยที่สุด ตามกฎหมาย ม.35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ส่วนในอนาคตมีแผนจะขยายไปสู่คนพิการอื่นๆ

"อีกเหตุผล คือ คนตาบอดไม่สามารถเรียนการถักจากยูทูบได้เลย เพราะว่าคลิปไม่มีเสียงบรรยาย แต่ผู้พิการอื่นๆ ที่มองเห็นเขายังสามารถเรียนรู้ได้ พอจะเริ่มจากคนตาบอด เราก็ต้องมาออกแบบการสอนว่าจะทำยังไงถึงจะสอนพวกเขาได้

ถ้ามาคอยบอกว่าให้ถักลายไหน คนตาบอดจะไม่รู้ และนึกไม่ออก ผึ้งจึงทำชิ้นงานขึ้นมาให้เขาจับ แล้วค่อยๆ สอนแต่ละลาย ไปทีละขั้นตอน ทางเราเองก็สอนไปด้วย และเติมความรู้โดยการไปเรียนเพิ่มด้วย"

เปลี่ยนสงสารเป็นโอกาส วิธีคิดมอบอาชีพให้คนพิการ สู่ความยั่งยืน

ไม่คิดค่าสอน ควักทุนส่วนตัว เพื่อคนพิการเรียนฟรี :

"การลงทุนกับคนพิการ ช่วงแรกต้องใช้ต้นทุนเยอะมากๆ ถ้าเรามองว่า ลงทุนวันนี้ อาทิตย์หน้าต้องเห็นผลเลย มันทำไม่ได้" วันดี กล่าวกับเรา

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้ง V Craft ไม่ได้คิดค่าสอน และค่าอุปกรณ์ใดๆ นอกจากนั้นยังบอกกับทีมข่าวฯ อีกว่า "เราซื้ออุปกรณ์ไปให้ถึงบ้าน ทุกวันนี้เงินลงทุนทั้งหมดคือเงินของผึ้งเอง ซึ่งไม่รู้ว่าเงินที่ลงทุนไปจะได้คืนเมื่อไร แค่อยากจะทำไปเรื่อยๆ"

"ปัจจุบันมีคนพิการทำงานกับเราประมาณ 10 คน เราลงทุนเชือกให้เขาทำงานเยอะมาก ตอนนี้ลงทุนไปประมาณหลักแสนแล้ว เพราะต้องใช้วัสดุเยอะ แล้วเรายังจ้างดีไซเนอร์ด้วย เพราะอยากให้รูปแบบของงานออกมาสวย

ส่วนช่วงที่นัดคนพิการมาอบรมเติมความรู้เดือนละครั้ง เราไม่ได้ขอเงินภาครัฐใดๆ คนพิการเดินทางมาเอง ส่วนเราก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่ช่วยค่าเดินทางคนพิการ ซึ่งทำเป็นกองทุน"

ทุกๆ 1 เดือน สมาชิก V Craft จะนัดเจอกัน 1 ครั้ง เป็นการนัดแบบรอบใหญ่ กล่าวคือทุกคนมาเจอกันอย่างพร้อมหน้า

"เวลาเจอกันรอบใหญ่ 10 คน ผึ้งคนเดียวจะดูไม่ไหว ตอนนี้มีเพื่อนเข้ามาช่วยเป็นอาสา ถ้ามา 10 คน เราต้องมีอาสามาช่วยประมาณ 4-5 คน และเราโชคดีที่มีคนสนับสนุนสถานที่อบรมฟรี แต่หากใครไม่สามารถมารอบใหญ่ได้ จะมีการเติมความรู้รอบย่อย บางครั้งเราก็ไปหาถึงที่บ้าน และเราตรวจการบ้านในไลน์กลุ่ม เทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้ทำงานง่ายขึ้น"

แบ่งรายได้จากอาชีพนักเขียน เป็นทุนซื้ออุปกรณ์ :

เงินส่วนหนึ่งที่นำมาใช้กับ V Craft วันดี บอกกับเราว่า เป็นเงินที่มาจากอาชีพนักเขียน เธอคิดว่าแทนที่จะนำเงินไปบริจาค 'ให้เปล่า' โดยการหยอดกล่อง หรือว่าทำบุญ เธอเปลี่ยนเป็นการนำเงินนั้น 'แบ่ง' ไว้อีกบัญชี สำหรับไว้เป็นทุนในการใช้สอน และทุนซื้ออุปกรณ์ ซึ่งนี่เป็นการนำเงินมาสร้างความรู้

วันดี กล่าวอย่างภูมิใจว่า… เราไม่ได้ยื่นปลาให้เขา แต่สอนให้เขารู้จักที่จะหาปลา

"ถ้าเราบริจาคเงินให้เขา 100-200 บาท กินข้าวไม่กี่มื้อก็หมดแล้ว แต่ถ้าเราสอนเขาหาปลา เขาจะมีอาชีพ และที่สำคัญเขาจะเปลี่ยน Self esteem (การเคารพตนเอง) และความมั่นใจในตัวเอง จากคนที่ไร้ค่า เป็นคนที่มีค่า และต่อจากนั้นครอบครัวก็จะเห็นค่าพวกเขามากขึ้น และไม่มองว่านี่คือภาระ"

คนพิการมีรายได้ทุกสิ้นเดือน :

คนพิการที่ทำงานอยู่กับ V Craft ขณะนี้นอกจากจะได้เรียนฟรี มีความรู้ติดตัวแล้ว พวกเขายังมีรายได้ทุกๆ สิ้นเดือนอีกด้วย

เจ้าของ V Craft บอกว่า คนพิการนำความรู้ และอุปกรณ์ไปทำงานที่บ้าน เมื่องานสำเร็จก็ส่งกลับมาให้เราขาย ซึ่งจะมีเงินเข้าบัญชีพวกเขาทุกสิ้นเดือน ตอนนี้ทำในรูปแบบของบริษัท และเป็นกิจการเพื่อสังคม เราเพิ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทที่สร้างรายได้ให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง เรามีหลักฐานการจ่ายเงินให้ผู้พิการ และมีบัตรคนพิการยืนยันชัดเจน

"ตอนนี้ทาง V Craft ได้จดแจ้งเป็น กลุ่มกิจการเพื่อสังคม ประเภท นิติบุคคล ตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 และในปีหน้ามีแผนว่าจะยื่นขอจดเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ต่อไป"

'ป้าป้อม' นักเรียนคนแรก ที่เคยคิดสั้น :

นักเรียนคนแรกของ V Craft ชื่อ 'ป้าป้อม' ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ผึ้งลุกขึ้นมาทุ่มเทให้กับแบรนด์นี้

"ป้าป้อมไม่ได้ตาบอดตั้งแต่กำเนิด แต่มาบอดสนิทในภายหลัง อีกทั้งยังมีน้องเป็นผู้พิการทางสมองและเป็นใบ้ กลางวันต้องอยู่กับน้อง ทำให้ป้าป้อมไม่สามารถออกมาเรียนรู้อะไรได้ คนในครอบครัวก็ออกไปทำงาน ป้าเคยติดต่อไปยังโครงการ ที่เราเคยทำกับสมาคมคนตาบอด แต่ก็ออกมาเรียนด้านนอกไม่ได้ เพราะต้องดูแลน้อง จึงทำให้ไม่มีอาชีพ"

ผึ้งได้ส่งต่อเรื่องเล่าชีวิตบางส่วนของป้าป้อมให้เราฟังต่อว่า ป้าป้อมเคยคิดสั้น เราเลยบอกว่าอย่าไปทำแบบนั้น เดี๋ยววันหนึ่งทำแบรนด์ของตัวเองแล้วจะมาสอนให้

"คราวนี้พอเราเริ่มทำแบรนด์ ถ้ามีเวลาว่างจากงานเขียน จะไปหาป้าป้อมเพื่อสอนงานให้ และซื้ออุปกรณ์ไปให้ด้วย ป้าป้อมถักงานไป เรียนไป แล้วได้ดูแลน้อง แรกๆ ป้าก็ท้อ แต่เราคอยบอกว่า ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้รีบร้อน เรารู้ว่างานฝีมือต้องใช้เวลาเรียนรู้ เราไม่ได้รีบขายสินค้า เพราะต้องการสร้างอาชีพ และสอนงาน จึงไม่เร่งรัด

กระทั่งวันหนึ่งที่แกทำได้ แกก็เห็นคุณค่าตัวเอง ตอนนี้มีเงินซื้อของให้น้อง มีความสุขที่หารายได้ให้ตัวเอง ส่วนลูกๆ ก็เอางานที่แม่ทำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า "แม่ฉันทำ" มันทำให้เห็นการยอมรับ เวลาคนมาบ้านก็ชมแม่ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เหล่านี้คือสิ่งที่มีค่า ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้"

ทำงานกับคนพิการ 'ยาก' :

แม้ผึ้งจะมีประสบการณ์ทำงานกับคนพิการมาหลายปี จนเป็นแรงผลักดันให้เธอคิด และทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่แก่ผู้อื่น แต่เธอเองไม่ปฏิเสธ และยอมรับด้วยว่า "การทำงานกับคนพิการนั้นยาก"

ผึ้ง วันดี บอกว่า ทำงานกับคนพิการจะเปลี่ยน Mindset (กรอบความคิด-ทัศคติทางจิตใจ) พวกเขาค่อนข้าง 'ยาก' เพราะว่าในกรณีของคนตาบอด การมองไม่เห็นทำให้พวกเขาเกิดความกลัว ความกังวล และชอบตั้งคำถามกับตัวเองว่า "จะทำได้เหรอ เพราะมองไม่เห็น"

เธอยกตัวอย่าง 'ป้าป้อม' ให้เราฟังว่า กว่าป้าป้อมจะทำได้สวย โทรมาร้องไห้หลายรอบมาก แล้วก็ไม่อยากทำเพราะรู้สึกว่า 'ทำไม่ได้' แต่สุดท้ายความพยายาม และการฝึกฝนของป้าป้อม ก็ทำให้ป้าป้อมทำงานออกมาได้ดี และมีฝีมือในระดับที่ดี

อยากเปลี่ยนซื้อเพราะ 'สงสาร' เป็นซื้อเพราะ 'สวย' :

ผึ้ง กล่าวว่า ถ้าเราสังเกตผลิตภัณฑ์คนพิการ จะพบว่าส่วนใหญ่มักจะ 'ไม่ตอบโจทย์' เรื่องการใช้งาน เนื่องจากเมื่อคนพิการอบรมการสร้างอาชีพเรียบร้อย ก็ต้องกลับไปลงทุนเอง ออกแบบเอง หรือขายเอง

ทำให้หลายครั้งผลงานเหล่านั้นมักถูก 'จำกัด' ด้วยวัสดุ และการสร้างตลาด เมื่อคนจะ 'ซื้อ' ก็มักซื้อด้วยความสงสาร และซื้อไปแล้วก็ไม่ได้ใช้งาน เลยกลายเป็นวงจร "ซื้อเพราะสงสาร"

"ตอนนี้เวลางานของเราไปวางขายออกบูธ ถ้ายังไม่บอกว่าคนตาบอดทำ คนก็จะไม่รู้ มีนักท่องเที่ยว และคนซื้อเดินมาดู พอบอกว่าคนตาบอดทำ เขาก็ว้าว ตอนนี้เราจึงได้ขายงานที่มีความสวยงาม และคนได้ใช้จริง"

ไม่ต้องสงสาร ขอแค่ 'โอกาส' และ 'เวลา' ให้คนพิการ :

ผึ้ง วันดี บอกกับทีมข่าวฯ ว่า สิ่งหนึ่งที่อยากสื่อสารให้กับสังคมไทย คือ อยากให้คนในสังคม 'อย่าสงสารคนพิการ' แต่อยากให้สังคม 'มอบโอกาส' เพราะพวกเขาไม่มีใครอยากถูกมองด้วยความ 'เวทนา'

ลองไปถามได้เลยว่า ถ้ามีงานทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ กับการแบมือขอเงินคนอื่น เราเชื่อว่าเขาเลือก 'มีงานทำ' แต่ที่เขาต้องไปขอเงินคนอื่น เพราะบางทีเขาไม่มีทางเลือก

"ยกตัวอย่าง คนที่ทำงานกับเราคนหนึ่ง ตอนนี้เรียนปริญญาตรีออนไลน์วันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเรียนยังหาเวลามาเรียนงานถัก ส่วนวันธรรมดาก็จะขายลอตเตอรี่ เราถามเขาว่าทำไมถึงเรียนปริญญาตรี เขาตอบว่าอยากทำงานเป็น โอเปอร์เรเตอร์ (Operator) ซึ่งตำแหน่งนี้ต้องใช้วุฒิการศึกษาปริญญาตรี เขาอยากมีงานประจำทำ เขาอยากมีความมั่นคงในชีวิต”

วันดี กล่าวต่อว่า ถ้าเราให้โอกาสคนพิการใช้ศักยภาพที่มีอยู่แลกกับเงิน เราจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น เพราะเขาต้องการ 'การยอมรับ' แล้วสิ่งที่สังคมจะได้กลับมา คือ 'คนพิการไม่ถูกมองว่าเป็นภาระคนอื่น'

"สิ่งที่เราควรจะให้กับคนพิการ คือ การพัฒนาศักยภาพที่เขามีอยู่ เครื่องมือที่ช่วยใช้พัฒนาพวกเขา บางครั้งไม่ได้ต้องการนวัตกรรมที่แพง แค่มีสิ่งที่จำเป็น และเหมาะสำหรับเขา"

คนพิการได้รับการยอมรับ และช่วงเวลาที่มีความสุขกลับคืนมา :

แม้วันนี้ 'ผึ้ง' จะยังไม่ได้ต้นทุนคืน แต่เธอก็ภูมิใจในตัวเอง เพราะสิ่งที่ทำไม่ได้สูญเปล่า แถมยังได้ 'พิสูจน์' ให้เห็นว่าคนพิการมีคุณค่าไม่ด้อยไปกว่าใครๆ

"คนพิการ ได้รับ 'ความมั่นใจ' ในตัวเองกลับมา และได้รับ 'การยอมรับ' จากคนในครอบครัว มีอยู่คนหนึ่งที่ตาบอดภายหลังจากโรคเบาหวาน หลังจากตาบอดก็ไม่เล่นเฟซบุ๊กอีกเลย เพราะไม่เห็นว่าตัวเองมีอะไรจะอวดเพื่อน แต่ถึงวันที่เขาถักงานออกมาได้สวย เขาบอกกับเราว่าเขาจะกลับไปเล่นเฟซบุ๊ก เขาอยากให้ทุกคนเห็นว่าแม้ตัวเองจะมองไม่เห็น แต่สามารถทำสิ่งที่สวยงามได้"

การทำงานกับคนพิการ สอนชีวิตว่า 'อย่าท้อใจกับอะไรง่ายๆ' :

จากการพูดคุยทำให้เราได้รู้ว่า ผึ้งให้อะไรกับคนพิการ ส่วนคนพิการได้รับสิ่งใดจากผึ้ง แล้วตัวเธอเองล่ะ ได้อะไรจากการลงมือทำครั้งนี้บ้าง?

ผู้ก่อตั้งแบรนด์ V Craft เล่าว่า พอดูชิ้นงานคนพิการแล้วเราบอกเขาว่า "ที่ทำยังไม่สวย" เขาจะรื้อทำใหม่ โดยไม่ท้อใจง่ายๆ แต่พอทำได้เขาก็ดีใจ เราเองก็ดีใจ ซึ่งเรื่องนี้สอน 'การมองโลก'

"สถานการณ์ และเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อาจจะทำให้ชีวิตพลิกผัน หดหู่ หรือไม่มีความหวัง แต่เราอยู่กับคนที่เขามองไม่เห็น เขายังพยายามขนาดนี้ นี่จึงเหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน ทำให้เราอยากจะก้าวเดินไปด้วยกัน และเราเองจะไม่ท้อกับอะไรง่ายๆ"

ผึ้ง วันดี กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา 'V Craft' ก้าวเดินอย่างต่อเนื่อง เราเริ่มก้าวจากตัวคนเดียว ด้วยสองมือของตัวเอง แต่ตอนนี้มีไม่รู้กี่สิบมือที่ยื่นเข้ามา ถ้าวันนั้นเราไม่ก้าวออกมา มัวแต่นั่งฝัน มันจะไม่มีวันที่ความฝันเราจะเติบโต ขอแค่เราลงมือทำ ทำไปเรื่อยๆ อย่าหยุด อย่าท้อ

"การทำตามสิ่งที่ใจคาดหวัง บางครั้งต้องใช้เวลา ถ้าเรามัวฝันมันจะอยู่แค่ในหัว แต่ถ้าลงมือทำคนจะเห็นเราเอง คนจะเห็นว่าความฝันของเราหน้าตาเป็นยังไง แล้วหากไม่หยุดเดิน ค่อยๆ ก้าวไปเรื่อยๆ เราก็จะไม่อยู่ที่เดิมอีกต่อไป".

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2748661

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 ธ.ค. 66
วันที่โพสต์: 19/12/2566 เวลา 14:17:35 ดูภาพสไลด์โชว์ เปลี่ยนสงสารเป็นโอกาส วิธีคิดมอบอาชีพให้คนพิการ สู่ความยั่งยืน