ฝ่าระเบียบและปัญหาสารพันในการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ (ตอนจบ)

ฝ่าระเบียบและปัญหาสารพันในการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ (ตอนจบ)

เพื่อที่จะทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ในที่พักอาศัยได้อย่างสะดวกสบายตามอัตภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะระบบราชการไทยมีระเบียบต่างๆมากมายที่กลายเป็นอุปสรรคกีดกันไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับสิทธิ ผู้ที่ทำงานในแวดวงนี้ต้องต่อสู้ พลิกแพลง ปรับแนวทางและประสานความร่วมจากหลายฝ่าย

ในทางนโยบายระดับชาตินั้น วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ว่า ทางรัฐบาลพยายามจะหางบประมาณเพื่อเพิ่มวงเงินสำหรับการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้พิการให้ได้ 100,000 บาทต่อครอบครัว เพื่อให้เพียงพอ รวมถึงอยากจะหาเงินเพื่อให้ผู้พิการได้ใช้จ่ายซื้อสิ่งของจำเป็นอีกเดือนละ 2,000 บาท แถมยังจะมีค่าอุปการะผู้พิการอีกด้วย

ในระดับปฏิบัติ ผ่องศรี หิรัญบริรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการคนพิการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ปี 2565 แล้วได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 2,300,000 บาท ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3,600,000 บาท แต่ยังไม่พอเพียงเพราะจังหวัดสุรินทร์มีประชากรพิการเป็นจำนวนมาก ที่ต้องการปรับบ้านใน ปี2566 นี้ได้รับรายชื่อมาทั้งหมด 90 หลัง เกินจำนวนงบปีก็มีอยู่

สำหรับงบประมาณ 40,000 บาทต่อครอบครัวนั้นคงไม่เพียงพอ เนื่องจากค่าวัสดุอุปกรณ์ที่แพงขึ้น ค่าแรงช่างที่เพิ่มขึ้น ผ่องศรี กล่าวว่า ถ้าจะให้ได้บ้านที่ปลอดภัย เหมาะสม และอำนวยความสะดวกให้สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง และต้องเพิ่มงบประมาณต่อหลัง ขั้นต่ำ 70,000 และไม่เกิน 100,000 บาท ต่อหลัง

นอกจากงบประมาณแล้ว ปัญหาอีกประการหนึ่งซึ่งพบมาคือ คนพิการที่ต้องการรับสิทธิ์ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยไม่มีเอกสารสิทธิในที่ซึ่งอาคารเหล่านั้นปลูกสร้างอยู่ ผ่องศรี บอกว่า ปัญหานี้อาจจะสามารถยืดหยุ่นได้บ้าง หากว่าได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินที่ถือเอกสารสิทธินั้นอยู่

“ถ้าคนพิการไม่มีโฉนดเป็นของตัวเอง แต่ของคนในครอบครัวของญาติพี่น้อง แล้วอยากปรับปรุงที่อยู่อาศัยตรงนี้ ทางออกของกระทรวงคือให้คนที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เอาเอกสารรับรอง เขาเรียกว่าหนังสือยินยอมให้ปรับปรุงบ้านมีแบบฟอร์มยินยอมให้เจ้าของที่เจ้าของโฉนดยินยอมให้คนพิการได้รับสิทธิ์ในการปรับบ้านให้เข้าอยู่อาศัยได้” ผ่องศรี กล่าว

“แต่อาจจะมีปัญหาอีกว่า วันนี้ยอมให้ปรับบ้าน ต่อมาไม่กี่เดือนอยากเอาที่คืน ก็เป็นปัญหาต่อคนพิการถ้าแก้ไม่ถูกจุดปัญหาคือกลายเป็นการสร้างบ้านให้คนอื่น ต้องมีหนังสือยินยอมต้องคุยกัน ต้องให้คนพิการได้อยู่ตรงนี้เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ก็ว่าไป” ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าว

แต่ถ้าเป็นการใช้ที่ดินทับซ้อนกับที่สาธารณะจะแก้ไขค่อนข้างยากทางศูนย์ได้คำแนะนำว่าก็ต้องได้รับความยินยอมจากพื้นที่ อบต. เป็นรายกรณี บางทีเป็นสิทธิทับซ้อนเป็นกรณีพิพาทก็ยากต้องดูว่าพื้นที่ทับซ้อนหน่วยไหนกับหน่วยไหนบ้าง ต้องปรึกษาทางด้านกฎหมายกับเจ้าหน้าที่กฎหมายของกลุ่มอีกที ต้องหารือไปที่ส่วนกลางว่าสามารถทำได้หรือไม่

เมื่อพิการ, ทำอย่างไรบ้านจึงจะน่าอยู่

ข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับคนพิการจังหวัดสุรินทร์

• เขตปกครอง 17 อำเภอ

• ผู้พิการทั้งสิ้น 64,253 ราย (4.68 %ของประชากรทั้งจังหวัด)

• หญิง 33,491 ราย

• ชาย 30,762 ราย

• พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 33,099 ราย (จำนวนไม่น้อยสูงวัยและมีโรคประจำตัวด้วย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงหรือต้องนอนติดเตียง

• พิการทางการมองเห็น 11,038 ราย

• พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 8,189 ราย

• พิการประเภทอื่นอีก 11,927 ราย

ฝ่าระเบียบและปัญหาสารพันในการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ (ตอนจบ)

แสดงจำนวนผู้ขอรับสิทธิปรับปรุงครัวเรือนของคนพิการ จ.สุรินทร์

ปี พ.ศ. จำนวนผู้รับบริการ

2562 36

2563 21

2564 28

2565 59

2566 90

ที่มา: ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดสุรินทร์

ในส่วนของภาคที่ให้บริการต่อผู้พิการเองก็มีปัญหาว่า บุคคลากรไม่เพียงพอ ทำโครงสร้างของบุคลากรมาแต่ไม่เหมาะสมกับงาน แต่บางตำแหน่งอย่างที่สำคัญอย่างนักสังคมมีแค่คนเดียวในขณะที่คนพิการตั้ง 60,000 กว่าคน จังหวัดอื่นคนพิการหมื่นคนมีคนนึงเหมือนกัน นักพัฒน์มีแค่ 2 คน บางจังหวัดมี 3 คน

“อยากให้ได้กรอบเจ้าหน้าที่เยอะขึ้นเพราะว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่เรามี 9 คน ส่วนพนักงานกองทุนมีนักพัฒน์ 2 คน นักสังคมสงเคราะห์ 1 คน นิติกร 3 คน นักวิเคราะห์นโยบายและแผน 1 คน นักวิชาการการเงินและบัญชี 1 คน แล้วคนขับพนักงานขับรถ 1 คน ส่วนตัว ผอ. เป็นข้าราชการของสังกัดสำนักปลัดกระทรวงแต่มาช่วยดู เราทำงาน 9-10 คน แต่ดูแลคนพิการหกหมื่นกว่าคน 17 อำเภอถือว่าเยอะมาก” ผ่องศรี กล่าว

เรื่องความเข้าใจและทัศนคติของช่างก็เป็นประเด็นสำคัญด้วย “เคยเจอปัญหา นายช่างเวลาเขาออกแบบเขาก็คิดถึงคนปกติ ประตูกว้างเท่าบ้านคนปกติสูงประมาณ 180 ซม.ไม่เกินนี้แต่กว้างแค่ 80 ซม.” ผู้อำนวยการกล่าว และเสริมว่า “เราทำโครงการ ช่างรู้ใจห่วงใยใส่ใจคนพิการ เชิญอาจารย์จากมหาสารคามกับคุณหมอ มาอบรมตั้งแต่ทัศนคติให้รู้ว่าคนพิการต้องใช้ชีวิตยังไง รู้สึกยังไง ให้จำลองเป็นคนพิการทุกประเภท ให้ช่างลองเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว ทางการได้ยิน ทางการมองเห็นซัก 1-2 ชั่วโมง เขาก็สะท้อนว่า รู้สึกอึดอัดมาก แค่ไม่กี่นาทีไม่กี่ชั่วโมงก็อึดอัดแล้ว เขาไม่ได้คิดมาก่อนในมุมคนพิการว่าคนพิการแบบนี้มาระยะเวลานานหรือบางคนตลอดชีวิตมันลำบากมากในการใช้ชีวิต นายช่างจำลองไปเข้าห้องน้ำ ไปกินข้าว ข้ามสิ่งกีดขวาง เขาก็เอาไปปรับก็ใส่ใจมากขึ้นเลยใส่ใจว่าคนพิการไม่ได้เหมือนคนปกติ ต้องใส่ใจเพราะบางคนเขาบอกเลยว่าปกติเขาไม่ต้องไปดูพื้นที่เลย เขาก็วาดในหัวเลยเขียนแบบออกมา แต่หลังจากอบรมแล้วเขาก็ต้องไปหน้างาน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการออกแบบให้ตรงตามความต้องการของคนพิการ" ผ่องศรี กล่าว

ฝ่าระเบียบและปัญหาสารพันในการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ (ตอนจบ)

ผศ.กตัญญู หอสูติสิมา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน UDC (Universal Design Center) ผู้มีส่วนร่วมกับการสร้างการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าอกเข้าใจเรื่องการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของคนพิการให้ท้องถิ่นอธิบายถึง การออกแบบไม่ตรงตามความต้องการและขาดการมีส่วนร่วม มีผลต่อการใช้ชีวิตหรืออาจเพิ่มอุปสรรคมากกว่าการเอื้ออำนวยความสะดวกและปลอดภัย การถามความต้องการจากคนพิการและการได้จำลองความพิการทำให้เกิดประสบการณ์ร่วม ช่วยให้การออกแบบมีประสิทธิภาพเพราะคนออกแบบเข้าอกเข้าใจและคนใช้งานเข้าถึงได้ โดยสะท้อนอุปสรรคเรื่องการออกแบบ และแรงงานในกระบวนการปรับ สู่หนทางเสนอแนะ จากประสบการณ์

“บรรยายไม่เกิดอะไรขึ้น ได้ความรู้แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร Transformative Learning คือเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวคน คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวคนต้องมีเรื่องมากระทบใจ ถ้าเป็นอบรมทั่วไปคือไปนั่งฟังแล้วออกไปหน้างานเดี๋ยวก็ลืม แต่การจำลองจะตราตรึงเข้าไปอยู่ในใจ เป็นสิ่งที่เราเชื่อแล้วเราก็เห็นต้องผ่านฐานใจ ฐานหัว และการปฏิบัติ” กตัญญู กล่าว

“อย่าทำให้คนพิการรู้สึกว่าเขาไม่ใช่เจ้าของบ้าน เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขามีส่วนร่วม เคยเจอเหตุการณ์ปรับแล้วใช้ไม่ได้ ใช้แล้วไม่ถนัด ถ้าไม่ได้คุยกับตัวคนพิการคือเขาไม่ยอมใช้ย้ายไปอยู่กับลูกสาวแทนเคยเจอแบบนี้ ตอนดูสภาพบ้านทำการประเมินต้องคุยหาข้อสรุปกับเจ้าของบ้านในวันนั้นเลย ดูว่าเขามีชีวิตประจำวันอย่างไร ทำอะไรตรงไหน บอกให้เขารู้เลยว่ามาทำอะไรกับชีวิตเขาบ้าง แล้วขอข้อเสนอด้วยว่าอันไหนชอบหรือไม่ชอบ อะไรอยากได้ไม่อยากได้ เพราะนั้นบ้านเขาไม่งั้นมีกรณีที่แบบปรับบ้านแล้วไม่อยากใช้ก็มี คือเขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นบ้านเขาเหมือนอยู่ดีๆมีคนมาตัดสินใจแทน แต่เขาไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจเลย”

การใช้ช่างจิตอาสา เพื่อแก้ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ อาจจะก่อปัญหาใหม่ การมีช่างจิตอาสาเป็นอุดมคติถ้าที่ไหนมีที่นั้นถือว่าเป็นชุมชนที่มีบุญ ถ้ามองจากเรื่องความยั่งยืนของช่างแล้วช่างจิตอาสาไม่ยั่งยืน กตัญญู บอกว่า เขาพยายามผลักดันเรื่องการสร้างช่างชุมชนให้มาเป็นกลไกหนุนเสริมของงานปรับสภาพบ้าน เพราะไม่เชื่อมั่นในเรื่องของจิตอาสา จิตอาสาขึ้นอยู่กับตัวคนอยากอาสาตอนนี้ก็มาช่วย ถ้าไม่อยากอาสาก็ว่าเขาไม่ได้ แต่ความต้องการมีอยู่ตลอด ควรพิจารณาให้ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลแก่ช่างจะดีกว่า ควรต้องมีการสร้างช่างให้ตำบล ควรมีช่างที่ทำเรื่องนี้ต้องมีใจ มีความผูกพันกับชุมชนอยากดูแลคนในชุมชน แล้วมีค่าตอบแทนที่ควรได้รับ อาจไม่มากแต่ว่าอย่างน้อยต้องมีซึ่งค่าแรงที่คิด 30% จากค่าวัสดุ

ฝ่าระเบียบและปัญหาสารพันในการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ (ตอนจบ)

นภสินธุ์ คนเกณฑ์ ช่างรับเหมา กล่าวว่า ก่อนจะทำงานช่างจะต้องถามคนพิการก่อน ว่าเขานั่งยังไง ชักโครกต่ำหรือสูงไปต้องให้เขามาลองดู เขาย้ายตัวออกจากที่นั่งของเขาจะง่ายไหมต้องปรับตามสภาพของเขา

“หลักการสำคัญที่คนเป็นช่างควรเป็น คือนั่นบ้านเขาควรต้องทำตามความต้องการตามใจเจ้าของบ้าน ถ้าไม่ตรงตามความต้องการใช้ เขาก็จะไม่ใช้และเขาก็จะไม่มีความสุข และที่สำคัญการทำไปด้วยความใจเย็น การทำไปด้วยการถามความต้องการคนใช้เจ้าของบ้านที่มีความพิการไปด้วย สามารถทำให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยลดการเป็นภาระของคนในครอบครัว พ่อแม่เขาเหนื่อยน้อยลงชีวิตเขามีความสุขและเขาก็ดีใจ เขาได้อยู่บ้านที่ช่างได้ทำ” นภสินธุ์ กล่าว

ฝ่าระเบียบและปัญหาสารพันในการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ (ตอนจบ)

เฉลิมชัย ทองสุข ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิขวัญชุมชนกล่าวสะท้อนเพื่อยืนยัน หากว่าคนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยได้ เท่ากับคุณภาพชีวิตของคนพิการและครอบครัวนั้นดีขึ้นได้ มูลนิธิขวัญชุมชนเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ตระหนักถึงปัญหาของคนพิการในพื้นที่ ซึ่งความสนใจเกิดขึ้นหลังจากทำในงานประเด็น เด็ก HIV ผู้หญิง ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แล้วค้นพบว่าไม่มีประเด็นเรื่องคนพิการเลย เกิดคำถามว่าเด็กพิการหายไปไหน พวกเขาอยู่อย่างไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้ามาทำงานเรื่องคนพิการมากขึ้น เริ่มลงสำรวจเก็บข้อมูลคนพิการทำให้เห็นสภาพปัญหาของเด็กพิการและคนพิการในจังหวัดสุรินทร์ ว่าสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยนั้นมีผลกระทบต่อชีวิตคนพิการในหลายมิติ

คุณชีวิตคนพิการที่จะดีขึ้นได้ ภาครัฐควรต้องสนับสนุนเพิ่มงบประมาณ และวิธีการจัดการในรูปแบบอื่นๆร่วมด้วย เพื่อรองรับเนื่องจากสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสัดส่วนของคนพิการอาจจะมากขึ้น

“ควรจ้างบุคคลภายนอกขึ้นมา แล้วไปรับสัมปทานจากกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการในการทำเรื่องปรับสภาพบ้านโดยเฉพาะ สมมติว่ากรมคนพิการมีความต้องการในการปรับบ้านคนพิการ 50 หลังในจังหวัดสุรินทร์ ก็หาหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้มาทำเลย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้กระบวนการงานเร็วมากขึ้นและคุมมาตรฐานได้เหมือนกัน เพื่อเกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นแก้ปัญหาให้กับคนได้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐเป็นแหล่งทุนหลัก” เฉลิมชัย กล่าว

ขอบคุณ... https://prachatai.com/journal/2023/12/107285

ที่มา: prachatai.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 18 ธ.ค. 66
วันที่โพสต์: 18/12/2566 เวลา 13:56:41 ดูภาพสไลด์โชว์ ฝ่าระเบียบและปัญหาสารพันในการเข้าถึงสิทธิของคนพิการ (ตอนจบ)