สกู๊ปแนวหน้า : ไม่ใช่แค่‘รอรับ’อย่างเดียว ‘คนพิการ’บทบาท‘ผู้ให้’ก็มี

สกู๊ปแนวหน้า : ไม่ใช่แค่‘รอรับ’อย่างเดียว ‘คนพิการ’บทบาท‘ผู้ให้’ก็มี

“คนพิการ” ภาพแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเมื่อเอ่ยคำคำนี้คือ “บุคคลที่มีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตและต้องการความช่วยเหลือ” แต่ในอีกด้านหนึ่ง “มีคนพิการที่พยายามลุกขึ้นมาเป็นผู้ให้” ไม่รอแต่เป็นผู้รับฝ่ายเดียว ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นรา ขำคมนักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาบอกเล่าในการบรรยาย (ออนไลน์) หัวข้อ “คนพิการกับการเป็น “มือบน” ที่สังคมไม่รับรู้” ถึงข้อค้นพบดังกล่าว

อาจารย์นรา เล่าว่า การบรรยายในครั้งนี้มาจาก “โครงการวิจัย การศึกษาการมีส่วนร่วมทางสังคมของคนพิการในสังคมไทยผ่านการทำงานจิตอาสา” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยตั้งแต่การใช้คำว่า “คนพิการ” แทนคำว่า ผู้พิการ เพราะผู้ให้ข้อมูลที่เป็นคนพิการให้ความเห็นว่า คำว่าคนพิการให้ความรู้สึกไม่แปลกแยกจากคนอื่นๆ ในสังคมมากกว่าคำว่าผู้พิการ ส่วนการใช้คำว่า “มือบน” แทนคำว่าผู้ให้ ในหัวข้อการบรรยาย เพราะนัยทางศาสนานั้นมือบนคือมือแห่งการให้ และเป็นมือที่มีพลังอำนาจมากกว่า

ที่มาของโครงการนี้ เนื่องจากคนพิการมักถูกมองว่าเป็นแต่เพียงผู้รับความช่วยเหลือจากสังคม (มือล่าง) แต่จริงๆ แล้ว มีคนพิการที่เป็นผู้ให้ ช่วยเหลือทั้งกับคนพิการด้วยกันและกับสังคมทั่วไป เช่น ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ช่วง 2-3 ปีก่อน ก็มีคนพิการออกไปบริจาคข้าวปลาอาหารแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก เพียงแต่สังคมไม่ค่อยรับรู้มากนัก ทัศนคติแบบนี้จึงสะท้อนออกมาเป็นนโยบายต่างๆ ที่แยกคนพิการออกจากคนทั่วไป เป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ จึงสนใจการออกมาทำงานจิตอาสาของคนพิการ

“ทำไมผมสนใจเรื่องการทำงานจิตอาสา การทำงานจิตอาสาเท่าที่ศึกษามาส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนพิการหรือแม้แต่คนทั่วๆ ไป คนที่ออกไปทำงานจิตอาสา ส่วนหนึ่ง

ที่ได้มาแน่ๆ คือความปีติ ความอิ่มเอมใจ อันนี้จะช่วยในเรื่องสังคมด้วย แล้วยิ่งคนพิการ โอกาสที่จะออกไปสู่สังคมค่อนข้างมีน้อยมากๆ เพราะฉะนั้นการได้ออกไปทำงานจิตอาสาครั้งหนึ่งเขาได้ทั้งจิตใจ ทั้งการกลับคืนสู่สังคม ออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมอีกครั้งหนึ่ง” อาจารย์นรา กล่าว

งานวิจัยทำการศึกษาคนพิการใน 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และตรัง จำนวนผู้ร่วมวิจัย 100 คน แบ่งเป็นจิตอาสาที่สังกัดองค์กรคนพิการ 30 คน จิตอาสาที่สังกัดองค์กรคนพิการ 10 คนผู้ร่วมงานหรือองค์กรที่ทำงานร่วมกับจิตอาสาที่มีความพิการ 25 คน ผู้ที่เคยได้รับบริการจากจิตอาสาที่มีความพิการ 25 คน และคนพิการที่ไม่เคยทำงานจิตอาสา 10 คน

ตัวอย่างของ “จังหวัดตรัง” ชมรมคนพิการเทศบาลนครตรัง มีการจัดทำถุงยังชีพ บรรจุสิ่งของที่จำเป็นสำหรับนำไปช่วยเหลือคนพิการด้วยกันในพื้นที่ หรือกิจกรรมเก็บขยะที่หาดเจ้าไหม ซึ่งมีคนพิการคนหนึ่งได้ออกจากบ้านเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ซึ่งแม้จะไม่ได้ช่วยเก็บขยะเหมือนกับผู้เป็นแม่ที่พามา แต่ก็มองเห็นถึงความสุขเพราะได้เห็นทะเล ได้เหยียบพื้นทราย หรือ“จังหวัดขอนแก่น” ชมรมคนพิการจังหวัดขอนแก่นซึ่งมีประธานชมรมเป็นคนพิการทางสายตา รวมถึงสมาคมคนพิการอำเภอกระนวน มีกิจกรรมมอบถุงยังชีพในการออกเยี่ยมผู้สูงอายุ

“ข้อสังเกตจากการร่วมกิจกรรมจิตอาสา” 1.องค์กรคนพิการเป็นหน่วยส่งผ่านความช่วยเหลือ2.คนพิการทางการเคลื่อนไหวไม่สามารถเดินทางเข้าไปบางพื้นที่ได้ 3.คนพิการบางประเภทต้องมีผู้ดูแลระหว่างทำกิจกรรม 4.คนตาบอดต้องมีผู้นำทาง 5.กิจกรรมเน้นหนักไปที่การให้ความช่วยเหลือคนพิการด้วยกันเอง และ 6.สมาชิกแต่ละคนต้องเสียสละเป็นอย่างมาก เช่น เดินทางไป-กลับด้วยมอเตอร์ไซค์ มากกว่า 60 กิโลเมตร เพื่อมาร่วมกิจกรรม

“เคยสัมภาษณ์ว่าทำไมถึงอยากมาทำกิจกรรม ไป-มาก็ไม่ได้ง่าย มาทำงานเงินก็ไม่ได้ อาจจะได้ค่าน้ำมันเล็กๆ น้อยๆค่าข้าวบ้าง เลี้ยงข้าวบ้าง แต่ไม่ได้ค่าจ้างอะไรเลย เขาบอกว่าเขามาทำแบบนี้เขาได้สังคม และตัวเขาเองเขารู้สึกว่าเขามีคุณค่าที่ได้ออกไปช่วยเหลือคนอื่น คนนี้ก็จะไปกับชมรมแทบทุกวัน ไม่ได้รู้สึกเหนื่อย ไป-กลับ 60 กิโลเมตร แล้วยังต้องเดินทางไปทำงานอีก ออกไปให้ความช่วยเหลืออีก ก็จะได้เห็นถึงความสุขของเขา” อาจารย์นรา ระบุ

กับคำถามที่ว่า “อะไรคือแรงจูงใจ (Motivation) ที่ทำให้คนพิการออกมาช่วยเหลือสังคม?” ซึ่งต้องบอกก่อนว่า “คนพิการจะมีช่วงเวลาที่ต้องก้าวผ่านความทุกข์” โดยเฉพาะคนที่เคยร่างกายปกติแต่ต้องมาพิการภายหลัง ซึ่งจะมีช่วงหนึ่งที่ไม่อยากออกจากบ้าน ต้องยอมรับกับความพิการและปรับตัวเพื่อก้าวผ่านให้ได้ “การผ่านช่วงเวลาแบบนั้นทำให้คนพิการเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและอยากส่งผ่านสิ่งเหล่านี้” จึงอยากออกมาเป็นผู้แบ่งปันกับผู้ประสบชะตากรรมเดียวกันเพื่อให้กำลังใจ ซึ่งนี่เป็นคำตอบที่ได้รับจากคนพิการแทบทุกคนที่ออกมาเป็นจิตอาสา

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นรา ชี้แจงว่า สิ่งที่นำมาบรรยายนี้ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลว่าคนพิการทำงานจิตอาสาอย่างไรบ้างเท่านั้น ส่วนระยะต่อไปของโครงการ จะเป็นการส่งเสริมบริษัทเอกชนในการสนับสนุนคนพิการที่ทำงานจิตอาสา พร้อมกับเก็บข้อมูลวิจัยไปด้วยซึ่งจะต้องได้ผลวิจัยในส่วนนั้นก่อน เพื่อนำเสนอต่อผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบาย

เพื่อส่งเสริมให้คนพิการออกไปทำกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น!!!

ขอบคุณ... https://www.naewna.com/likesara/769523

ที่มา: naewna.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 16 พ.ย. 66
วันที่โพสต์: 16/11/2566 เวลา 10:54:03 ดูภาพสไลด์โชว์ สกู๊ปแนวหน้า : ไม่ใช่แค่‘รอรับ’อย่างเดียว ‘คนพิการ’บทบาท‘ผู้ให้’ก็มี