'บุญรอด อารีย์วงษ์' บูลลี่ไม่ใช่อุปสรรค กับไอเดียความสุขส่งต่อได้

'บุญรอด อารีย์วงษ์' บูลลี่ไม่ใช่อุปสรรค กับไอเดียความสุขส่งต่อได้

เปิดใจ 'บุญรอด อารีย์วงษ์' ความพิการและคำบูลลี่ที่ไม่ใช่อุปสรรค กับการเข้าใจความทุกข์ อยู่อย่างเป็นสุข และไอเดียชีวิตที่อยากส่งต่อ

มีคนเคยบอกไว้ว่าชีวิตคนเราเกิดมาต้องสู้ แต่หลายคนอาจจะโดนชีวิตสู้กลับ ทำให้บางครั้งรู้สึกท้อและไม่มีแรงทำอะไรต่อ แต่ความยากลำบากในชีวิตกลับทำอะไร 'บุญรอด อารีย์วงษ์' ไม่ได้เลย

บุญรอด ตรวจพบมะเร็งตั้งแต่อายุ 3 เดือน นั่นส่งผลให้เขา มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเขาก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ ด้วยพลังแห่งนักสู้ ที่ถูกเติมเต็มจากครอบครัว เพื่อน และคนรอบข้างที่ปรารถนาดีมาโดยตลอด

ปัจจุบันบุญรอดอายุ 31 ปี เป็นยูทูบเบอร์ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 168,000 คน และยังเป็นวิทยากรคอยมอบพลังบวก และตอบแทนสังคมที่เคยให้โอกาส

กว่าจะมีวันนี้ เขาก็พยายามไม่แพ้ใคร และต่อจากนี้คือเรื่องราวการสนทนาระหว่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับ 'บุญรอด อารีย์วงษ์' ที่แม้จะดู 'ทุกข์' แต่บุญรอดกลับเล่าอย่างมี 'สุข' และภูมิใจ นี่อาจจะกลายเป็นเรื่องสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน

อายุ 3 เดือน พบมะเร็ง นอนรักษานานนับปี :

บุญรอดพิการทางการเคลื่อนไหว โดยเกิดจากการเป็นมะเร็งที่ตับ ตั้งแต่อายุ 3 เดือน

คุณแม่ลัดดา อารีย์วงษ์ คลอดบุญรอดตามปกติ แต่หลังจากกลับมาบ้านเริ่มมีอาการท้องโต และชอบร้องไห้ตอนกลางคืนทุกวัน คุณแม่เริ่มสงสัยว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นแปลก จึงพาไปคลินิกแถวบ้าน เบื้องต้นแพทย์บอกว่านี่เป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆ หลังจากนั้นจึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาลศิริราช และได้ทำการแอดมิต

'บุญรอด อารีย์วงษ์' บูลลี่ไม่ใช่อุปสรรค กับไอเดียความสุขส่งต่อได้

แพทย์ตรวจพบก้อนเนื้อที่ท้องของบุญรอดในวัยเพียง 3 เดือน จึงเริ่มรักษาโดยการผ่าตัดครึ่งท้อง หลังจากเอาก้อนเนื้อมาตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง จึงต้องทำการรักษาและให้คีโม บุญรอดใช้เวลารักษา 1 ปีเต็ม ซึ่งการรักษานั้น ส่งผลให้บุญรอดไม่เหมือนเดิม

การที่บุญรอดได้รับคีโมจำนวนมาก ตั้งแต่ยังเล็ก และต้องนอนรักษาอยู่กับที่ 1 ปี ทำให้กล้ามเนื้อยึด เมื่อเริ่มโตขึ้นอาการก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผลจากอดีตทำให้บุญรอดดูผิดปกติ เนื่องจากจะเกิดอาการเกร็งเวลาพูด เดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่อาการทุกวันนี้ก็ยังถือดีกว่าเมื่อก่อนมากแล้ว

บุญรอดบอกกับทีมข่าวฯ ว่า "จำความรู้สึกตอนนั้นไม่ได้ แต่เราคิดว่าเราไม่ได้ลำบาก คนที่ลำบากคือแม่ เพราะว่าแม่ต้องนอนเฝ้าเราตลอด ถึงตอนแรกแพทย์จะไม่อนุญาต แต่แม่ขอร้องจนยอมใจอ่อน"

ตั้งแต่จำความได้อาการก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางบ้านจะให้ออกกำลังกายอยู่เสมอ มีการเอากระจกมาตั้งเพื่อให้บุญรอดเห็นว่าตัวเองนั้นเดินเป็นอย่างไร

"เราพยายามปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ว่ายน้ำ เล่นแบดมินตัน ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเอง เราพยายามทำเท่าที่คนทั่วไปจะทำได้ ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังจากที่บ้าน ที่บ้านไม่คิดว่าเราเป็นคนพิการ อยากทำอะไรก็ลองทำ ที่ครอบครัวคิดแบบนี้ เพราะอยากให้เราอยู่ได้ด้วยตัวเอง ในวันที่พวกเขาไม่อยู่"

'บุญรอด อารีย์วงษ์' บูลลี่ไม่ใช่อุปสรรค กับไอเดียความสุขส่งต่อได้

อุปสรรค-การพิสูจน์ตัวเอง-พลังในการใช้ชีวิต :

แม้ว่าอาการต่างๆ ยังไม่หายไปทั้งหมด แต่บุญรอดกลับมองว่า "ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการดำเนินชีวิต หรือถ้าเป็นก็น้อย" ซึ่งคนอื่นอาจจะมองว่าเป็นอุปสรรคมาก บุญรอดพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ พยายามไม่พึ่งพาใคร อยากอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง

บุญรอดกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า "เวลาเราไปทำอะไรสักอย่าง คนชอบเข้ามาห้ามแล้วบอกว่า ทำไม่ได้หรอก แต่ใจเรารู้ว่าเราทำได้ ก็พยายามบอกเขาไม่เป็นไร ปล่อยให้เราทำเองเลย เราไม่อยากเป็นภาระคนอื่น"

ครั้งหนึ่ง 'บุญรอด' เคยปฏิเสธคนที่จะเข้ามาช่วยถือ แก้วน้ำกับจานข้าว เพราะว่าเขาอยากพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่า 'ทำได้ด้วยตัวเอง' แต่ถึงอย่างนั้น นี่ไม่ใช่การปฏิเสธน้ำใจจากผู้หวังดี เพียงแต่เขาอยากลองทำ ในสิ่งที่ตนสามารถทำได้ แม้ว่านั่นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม บุญรอดเข้าใจและขอบคุณทุกคนที่อยากช่วยเหลือจากใจจริง อีกทั้งยังดีใจที่สังคมของเรายังมีเรื่องดีๆ แบบนี้

งานแรกที่บุญรอดทำ คือ งานเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ ของคณะหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาทำงานนี้อยู่ 5 ปี ก่อนที่จะลาออก เพราะการเดินทางไป-กลับ ใช้เวลาค่อนข้างนาน และเขาคิดว่าตนเองไม่มีเวลาดูแลครอบครัว

สำหรับงานแรกในชีวิตของบุญรอด เขาบอกกับเราว่า "การเริ่มต้นทำงานแรกในชีวิตค่อนข้างยาก" เพราะคนมีภาพจำว่า คนพิการต้องการความช่วยเหลือตลอดเวลา และคนในสังคมมีหลายประเภท ทั้งที่หวังดี และไม่หวังดี แต่บุญรอดอยากพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนได้เห็น ว่าเขาทำงานได้แบบคนปกติทั่วไป จึงพยายามทำทุกอย่าง แม้จะต้องไปออกงานต่างจังหวัดเขาก็ไป และเนื่องจากเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรม ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จึงทำให้เป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่าย ในที่สุดความพยายามของบุญรอดก็ได้ถูกพิสูจน์ จนคนอื่นเห็นและยอมรับ ทำให้เขาได้รับการไว้ใจที่จะทำงานต่างๆ มากขึ้น

ที่บุญรอดคิดเช่นนี้และมีแรงทำงาน เพราะที่ผ่านมาเขามีพลังในการใช้ชีวิตที่ดี พลังอย่างแรกที่สำคัญกับเขามาก คือ 'ครอบครัว' บุญรอดมองว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะหากที่บ้านไม่สนับสนุนตั้งแต่เล็ก ก็กล้าการันตีว่า ทุกคนจะไม่ได้เห็น 'บุญรอด อารีย์วงษ์' แบบทุกวันนี้ "ถ้าครอบครัวไม่ได้เลี้ยงเราให้โตมา เราอาจจะไม่ได้มีชีวิตแบบนี้ อาจจะดูแลตัวเองไม่ได้ และเรียนไม่จบด้วยซ้ำ" บุญรอดกล่าว...

นอกจากครอบครัวแล้ว 'คนรอบตัว' ก็เป็นแหล่งพลังงานบวกที่ดีของบุญรอด เช่น เพื่อน อาจารย์ หน่วยงานในมหาวิทยาลัย แพทย์ผู้รักษา ฯลฯ ซึ่งบุญรอดบอกว่า "คนรอบตัวสำคัญมากจริงๆ"

"เราเป็นคนที่เขียนหนังสือไม่ได้ แต่สามารถพิมพ์ได้ เพราะคุณหมอที่รักษา แนะนำให้ที่บ้านซื้อเครื่องพิมพ์ดีดมาให้เราฝึกพิมพ์ จึงทำให้เราเป็นคนพิมพ์คล่อง แต่ถึงอย่างนั้นในคาบเรียน เราก็ยังต้องอาศัยเลคเชอร์จากเพื่อน ซึ่งเพื่อนก็ใจดีมากแบ่งเลคเชอร์ให้เราอ่าน พวกเขาน่ารักกับเราเสมอ

ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ช่วยเหลือคนพิการดีมากๆ มีศูนย์บริการนักศึกษาพิการทุกรูปแบบในมหาวิทยาลัย อย่างเราเขียนหนังสือไม่ได้ ตอนสอบเขาก็จะมีคอมพิวเตอร์ให้พิมพ์ และเพิ่มเวลาในการสอบให้เรา 30 นาที เพราะคนพิการอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าคนอื่น ตรงนี้ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องเช่นกัน"

'บุญรอด อารีย์วงษ์' บูลลี่ไม่ใช่อุปสรรค กับไอเดียความสุขส่งต่อได้

ก้าวข้ามคำดูถูก และการจัดการความทุกข์ :

การที่บุญรอดเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ทำให้บางคนอาจจะไม่เข้าใจ จนมองว่าเป็นเรื่องแปลกและผิดปกติ ดังนั้น ตลอดชีวิต 31 ปีของบุญรอด เขาถูกดูถูก เหยียดหยาม และบูลลี่ต่างๆ นานา บุญรอดเล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า มีครั้งหนึ่งเคยเดินสวนกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เขาหันมาถามบุญรอดว่า "ทำไมเดินแปลกแบบนี้" ตนนั้นรู้สึกงงก็ไม่รู้จะตอบว่าอะไร จึงเลือกที่จะเดินไปโดยไม่กล่าวคำใดๆ

"เราโดนบูลลี่ตั้งแต่เด็ก ยิ่งเมื่อก่อนสังคมไม่ได้เปิดกว้างขนาดนี้ เราก็โดนมาตลอดตั้งแต่ประถมจนมัธยม เมื่อโตขึ้นก็มีโลกออนไลน์เข้ามา พอเราทำยูทูบก็มีคนมาแสดงความคิดเห็นเชิงลบ ครั้งหนึ่งเราก็โดนคนคอมเมนต์ว่า "เป็นแบบนี้ไม่น่าเกิดมาเลย" เรารู้สึกงงที่เขาค่อนข้างใจแคบ แต่ก็พยายามไม่สนใจ และมองว่านั่นไม่ได้ให้ค่าอะไรกับเรา หรือมีคนมาคอมเมนต์ว่า "พี่แกล้งเป็นหรือเปล่าคะ" เราก็งงเหมือนกัน เพราะมันไม่มีเหตุผลที่จะต้องแกล้งเป็น ดังนั้น สังคมทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก เราเลยพยายามเรียนรู้และปรับตัวตลอด เพื่ออยู่กับมันให้ได้

หากมีคนมามองว่าเราไม่พร้อม เราจะพยายามดูว่าคนนั้นคือใคร และต้องดูว่าบริบทตรงนั้นคืออะไรมากกว่า ถ้าเป็นเรื่องการใช้ชีวิตเราก้าวผ่านได้ง่าย เพราะเราทำได้จริงๆ ถ้าเป็นเรื่องการศึกษา เราก็จบทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งตอนนี้มีอาชีพที่ดี และดูแลครอบครัวได้ เราก้าวผ่านหลายๆ อย่าง ที่คนอาจจะมองว่าทำไม่ได้ไปแล้ว"

อย่างการทำยูทูบกับเพื่อน ก็ได้สอนให้บุญรอดเข้าใจโลก และคนในสังคมมากขึ้นกว่าเดิม เขาเจอทั้งคนที่มองโลกในแง่ดี และคนที่อาจจะโลกแคบ สิ่งเหล่าทำให้เขากลายเป็นคน 'จิตแข็ง' ไม่เอียงไปตามคำดูถูก

แม้จะกล้าบอกว่าตนเองเป็นคนที่จิตแข็ง และพยายามมีความสุขกับการใช้ชีวิต แต่บุญรอดก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความทุกข์เข้ามาบ้าง แต่เขาถือคติที่ว่า 'จะไม่จมปลักกับความทุกข์' ถ้าวันนี้ทุกข์ พรุ่งนี้ตื่นมาจะต้องสลัดความทุกข์ให้หายไป ไม่เช่นนั้นตลอดวันที่เหลือเขาจะใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีความสุข วิธีจัดการความทุกข์และปัญหาของเขา คือ การปล่อยวางและไม่ยึดติด แก้ปัญหาเท่าที่ตนเองสามารถทำได้ เพราะเขาเองก็ไม่เห็นประโยชน์จากความทุกข์เหล่านั้น

ส่งต่อพลังบวกและรอยยิ้ม :

บุญรอดทำช่องยูทูบกับเพื่อนที่ชื่อว่า 'ภูเขา' โดยใช้ชื่อช่องว่า 'ภูเขาแชนแนล' (Poocao Channel) ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดมากกว่า 168,000 คน ซึ่งคลิปแรกเป็นการตั้งกล้องและนั่งพูดคุยกันเท่านั้น พอได้นำมาตัดลงยูทูบ ปรากฏว่าคลิปมีกระแส มีคนชื่นชอบ จึงคิดต่อยอดจนเกิดเป็นอาชีพในที่สุด

คลิปที่บุญรอดและทีมงานผลิตออกมาทุกคลิป ล้วนสร้างสีสันให้กับสังคมที่กำลังเต็มไปด้วยความเครียด เขารู้สึกดีใจและมีความสุขมาก ที่ตนเองสามารถสร้างรอยยิ้มให้กับผู้อื่นได้ และยังเป็นพลังให้คนได้ใช้ชีวิตต่อไป

"เราภูมิใจ ที่ทำมาได้ขนาดนี้ คนดูของเราก็น่ารักมากๆ สนับสนุนและเป็นพลังบวกให้เรามาโดยตลอด บางคนทักแชตในอิสตาแกรมมาขอบคุณ สนับสนุน คุยเล่น หรือขอคำปรึกษา เราพยายามจะตอบทุกคนให้ได้ เพราะเขาอุตส่าห์ทักมาหาเรา มีน้อยมากที่เราไม่ได้ตอบ เพราะอาจจะไม่เห็น บางคนทักมาบอกว่าเขามีความสุขที่ได้ดูคลิปเรา จากที่กำลังเศร้าและไม่อยากมีชีวิตอยู่ คลิปของเราเติมเต็มความสุขในใจเขา ทำให้เขาอยากสู้ต่อ เราเลยรู้สึกดีและแฮปปี้ไปด้วย"

อีกหนึ่งสิ่งที่บุญรอดพยายามสื่อสาร ผ่านการทำคลิปลงยูทูบ คือ "อยากเป็นกระบอกเสียงให้คนพิการ"

"เราเคยไปประเทศญี่ปุ่นมา เขาสนับสนุนคนพิการดีมาก แต่ที่เมืองไทยอาจจะยังไม่ดีสักเท่าไร ยิ่งต่างจังหวัดอาจจะยิ่งแย่ ทำให้เรารู้ว่าทำไมคนไม่เท่ากัน ในช่องของเรา เราพยายามคิดคอนเทนต์เพื่อสะท้อนปัญหา และให้คนเข้าใจคนพิการมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าผู้พิการก็สามารถใช้ชีวิตได้ เพียงแต่ต้องให้โอกาสเขา โอกาสเป็นสิ่งสำคัญมาก"

อีกเรื่องที่บุญรอดมองว่าสำคัญ คือการส่งต่อโอกาสที่ตนเองเคยได้รับ เมื่อครั้งยังเด็ก... เขาและครอบครัวอารีย์วงษ์ ไม่ได้มีเงินมากมายที่จะใช้จ่ายได้คล่องตัว และบุญรอดต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง 'เงิน' จึงจำเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ และโรงพยาบาลศิริราชมาโดยตลอด ทำให้บุญรอดมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ และตอนนี้เมื่อเขามีกำลังทรัพย์พอจะช่วยเหลือผู้อื่น เขาจึงบริจาคเงินสู่โรงพยาบาลทุกปี โดยถือว่านี่คือการส่งโอกาสให้คนอื่น แบบที่บุญรอดเคยได้รับ

ชีวิตที่ผ่านมาของบุญรอด ผ่านความทุกข์และคำดูถูกมามากมาย สิ่งเหล่านั้นทำให้เขาตกผลึกมุมมองบางอย่าง ที่อยากส่งต่อให้ทุกคน โดยหวังว่าทุกคนจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แบบที่บุญรอดกำลังนั่งเล่าเรื่องประสบการณ์ด้วยรอยยิ้มให้เราฟัง และหวังว่าทุกคนจะได้เป็นตัวเองในโลกที่พยายามให้คุณเป็นคนอื่น

บุญรอดมองว่า 'สติ' มีความสำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิต อยากให้ทุกคนมีสติและใช้ชีวิตให้มีความสุข...

'ใช้ชีวิตให้มีสติ' ในที่นี้คือ ไม่ว่าจะทำเรื่องใดๆ อยากให้ทำอย่างมี 'สติ' ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก การงาน การเงิน การดำเนินชีวิต ฯลฯ อยากให้มีสติอยู่เสมอ เพราะหากพลาดไปแล้ว อาจจะแก้ไขยากหรือแก้ไขไม่ได้

'ใช้ชีวิตให้มีความสุข' คือ เป็นตัวเองในแบบที่อยากเป็น รักตัวเองให้มากๆ ทุกวันนี้คนเรามักพยายามใช้ชีวิต ให้มีความสุขในสายตาคนอื่น เช่น พอมีคนบอกว่าไม่สวย ก็ไปทำศัลยกรรมให้สวย ถามว่าคนอื่นมองว่าเราสวยแล้ว เรามีความสุขจากสิ่งนั้นจริงๆ ใช่ไหม บุญรอดจึงอยากให้ทุกคนได้อยู่กับตัวเอง สนใจคนอื่นได้ แต่อย่าสนใจมากเกินไป หรือหากจะสนใจคนอื่น ก็ขอให้เป็นคนที่เขาสำคัญกับชีวิตจริงๆ

"ทุกวันนี้เราก็เป็นตัวเองได้แล้วนะ เช่น เราชอบแต่งหน้า และชอบแต่งหญิง เพราะเรามีความสุขมาก แม้ว่าบางคนจะมองว่าไม่สวย แต่เราไม่สนใจ ใครอยากมองแบบไหนก็มองไป การแต่งหญิงก็เหมือนศิลปะ วันไหนอยากแต่งชายก็แต่ง วันไหนอยากแต่งหญิงก็แต่ง เพราะนี่คือตัวตนของเรา คนเราเกิดมาแล้ว อยากทำอะไรทำไปเลย อย่าไปกั๊กไว้ แม้ว่าคนภายนอกจะไม่โอเคก็ตาม เราเพียงต้องรู้จักกาลเทศะ ว่าควรแต่งที่ไหน เมื่อไหร่ หรือยังไงมากกว่า มองความเหมาะสมเป็นหลัก

อีกอย่างที่เราอยากบอกกับทุกคน และเราก็ทำแบบนี้ด้วย คือ เราจะไม่คาดหวังกับอนาคตมากเกินไป เช่น อีก 5 ปีต่อจากนี้ชีวิตจะเป็นยังไง เราไม่เคยคาดหวังเลย แต่พยายามมองว่า ณ ตอนนี้อะไรที่เราทำได้ดีที่สุด การคาดหวังไม่ใช่เรื่องผิด แต่การคาดหวังแล้วผิดหวังมันทำให้เราเป็นทุกข์ จึงเลือกมีความสุขกับปัจจุบันมากกว่า"

ก่อนบทสนทนาแห่งชีวิต และพลังบวกจะสิ้นสุดลง บุญรอดกล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวฯ ว่า "เรามาไกลกว่าที่คิดเยอะมาก เราไม่เคยคิดว่าเราจะได้เรียนในธรรมศาสตร์ด้วยซ้ำ แต่เพราะความพยายามของเรา ความรักและแรงผลักดันจากทุกคน รวมถึงโอกาสต่างๆ ที่เคยได้รับทำให้เรามีวันนี้ได้ เราภูมิใจกับตัวเองมากๆ แต่เราเชื่อมั่นว่า เราไปได้ไกลกว่านี้ จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ก้าวต่อไปของชีวิต หากมีโอกาสได้เรียนก็จะเรียนเพิ่ม เพื่อใช้ในการต่อยอดชีวิต และสุดท้ายบุญรอดอยากเป็นคนที่มีความสุข เพื่อส่งต่อความสุขแบบนี้ให้คนอื่นตลอดไป"

นี่คือเรื่องราวของมนุษย์ที่มีชื่อว่า 'บุญรอด อารีย์วงษ์'

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2735542

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 30 ต.ค.66
วันที่โพสต์: 30/10/2566 เวลา 13:37:06 ดูภาพสไลด์โชว์ 'บุญรอด อารีย์วงษ์' บูลลี่ไม่ใช่อุปสรรค กับไอเดียความสุขส่งต่อได้