สานพลังภาคีฯ สร้างแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เสริมพัฒนาการเรียนรู้เด็กพิเศษร่วมกับครอบครัว

สานพลังภาคีฯ สร้างแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เสริมพัฒนาการเรียนรู้เด็กพิเศษร่วมกับครอบครัว

กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วมกับ มูลนิธิขวัญชุมชน และศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ โครงการมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดีเพื่อเด็กปฐมวัย สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้เด็กพิเศษมีศักยภาพและเกิดการพัฒนาสมรรถนะที่สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้

แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เพื่อทำให้เกิดเป็นนิเวศสามดีที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาเด็กพิเศษร่วมกับครอบครัว โดย นางสุภาพร ทองสุข มูลนิธิขวัญชุมชน ผู้รับผิดชอบโครงการฯ และ นายเชาวลิต สุรัติมงคล ครู ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ หน่วยบริการอำเภอคูเมือง เริ่มจากการชวนให้ผู้ปกครองและครอบครัวของเด็กพิเศษมาช่วยกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ หรือ “สนาม 3 ดีเพื่อเด็กพิการ” ที่หน่วยบริการอำเภอคูเมือง และมีนักกายภาพมาช่วยประเมินและออกแบบอุปกรณ์ของเล่น เช่น ทางเดินเพื่อพัฒนาระบบประสาทรับสัมผัสของร่างกาย(Sensory) กรวด ทราย พรมหญ้า หินคลุก และมีการจัดกิจกรรมพาฝึกเดิน ชิงช้าสำหรับเด็กตัวโตและเด็กตัวเล็ก กองทราย อุปกรณ์ห้อยโหนและปีนป่าย ฯลฯ จัดเวลาให้เด็กพิการได้เล่นทุกวันอย่างน้อย 15 นาทีช่วงก่อนกลับบ้าน เพื่อพัฒนาระบบประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวและสมดุล (Vestibular or Movement and Balance Sense) เป็นส่วนที่รับรู้ผ่านระบบประสาทที่อยู่ในหูชั้นใน เกิดการรักษาสมดุลของร่างกายเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางหรือเคลื่อนไหวร่างกาย

เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นหรือออทิสติกหากได้พัฒนาระบบประสาทรับสัมผัส Sensory integration หรือ SI จะช่วยให้พฤติกรรมชอบสะบัดมือ ชอบเล่นกระแทกแรงๆ ไม่นิ่ง กลัวเสียงดัง กลัวผิวสัมผัสบางชนิด ไม่ชอบให้ตัวเองมือเลอะ ไม่ชอบให้กอดหอม ทำอะไรช้า งุ่มง่าม ดูเก้งก้างเวลาเคลื่อนไหว หรือความรู้สึกเฉื่อยมากเกินไป ดูซึมๆ นิ่งๆ หรือดูง่วงนอนตลอดเวลา การพัฒนาระบบประสาทรับความรู้สึกและสั่งให้ร่างกายแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ดีขึ้น ทั้งการสัมผัส การมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน และการรับรส การเคลื่อนไหวและการทรงตัว การรับรู้กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ มูลนิธิขวัญชุมชน และ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ หน่วยบริการอำเภอคูเมือง มีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กพิเศษ เพื่อทำความเข้าใจกับครอบครัวในการจัดภาพแวดล้อมของบ้านให้มีมุมต่าง ๆ เช่น มุมของเล่น มุมศิลปะวาดรูประบายสี มุมหนังสือนิทาน ฯลฯ มุมต่าง ๆ ในบ้าน และสามารถทำกิจกรรมร่วมกับลูกได้ง่ายๆ ที่บ้านผ่าน งานครัว งานบ้าน งานสวน และอื่นๆ

ครอบครัวเป็นนิเวศที่ใกล้ชิดเด็กพิการที่สุด หาก พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผู้ดูแลเด็กพิการ มีความเข้าใจพัฒนาการและอาการติดขัดของลูก เด็กพิเศษควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป การเปลี่ยนวิธีคิด หรือ mindset ของพ่อแม่ต่อความพิการของลูกใหม่ “คนพิการสามารถฟื้นฟูศักยภาพและสมรรถนะได้” บทบาทสำคัญของพ่อแม่ คือ การสนับสนุนให้ลูกพิการมีศักยภาพและเกิดการพัฒนาสมรรถนะที่สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ นิเวศสามดีของเด็กพิการต้องพัฒนาไปตามลำดับตั้งแต่ ครอบครัว ตัวเด็ก ครู และการมีส่วนร่วมของชุมชน

สานพลังภาคีฯ สร้างแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เสริมพัฒนาการเรียนรู้เด็กพิเศษร่วมกับครอบครัว

เด็กพิการและครอบครัวร้อยละ 90 ในพื้นที่มีฐานะยากจน เป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้เด็กพิการเข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ ในการดูแลฟื้นฟูสุขภาพ การศึกษา หรือการพัฒนาทักษะอาชีพ หลายครอบครัวทำงานแบบหาเช้ากินค่ำรับจ้างรายวัน การส่งเสริมศักยภาพครอบครัว ทำให้ครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมีความเข้มแข็ง คือพลังแห่ง มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดีในการดูแล เห็นความสำคัญของการฝึกฝนและพัฒนาทักษะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง คอยให้คำปรึกษากับครอบครัว เพื่อลดความเครียด ให้ข้อมูล ให้ทางเลือกในการตัดสินใจ และรวมถึงการให้กำลังใจ

กิจกรรมกลุ่มครอบครัว ทำเสื้อ Eco print เสื้อตัวเดียวในโลกจึงเปรียบเสมือนพื้นที่มีชีวิต เป็นกิจกรรมบำบัดเพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่เชื่อมความสัมพันธ์ที่สร้างความสุขให้กับเด็กและผู้ปกครอง ในระหว่างทำกิจกรรมผลิตเสื้อ ครูผู้ดูแลเด็กได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง ส่วนเด็กพิการที่อ่อนแรงหรือสภาวะซึมจากการรับยา ไม่สามารถทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองได้ เขาจะนั่งดูนอนดูคนที่ช่วยดูแลพวกเขาอยู่ไม่ห่าง เสื้อ Eco print เสื้อตัวเดียวในโลกก็เปรียบเสมือนเด็กพิเศษที่สวยงามในแบบที่ไม่เหมือนใคร กว่าจะได้เสื้อหนึ่งตัวที่สวยงามไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา ต้องใช้ความพยายาม ความอดทน และฝึกฝนอย่างต่อเนื่องถึงจะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การดูแลเด็กพิเศษก็เช่นกัน ต้องช่วยกันสร้างนิเวศรอบตัวเด็กที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตจนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม

การสนับสนุนครอบครัวและเด็กพิเศษอย่างเข้าใจ จะเป็นประตูแห่งโอกาสให้เด็กพิเศษได้รับการส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องเปิดโอกาสให้ได้สะท้อนเสียงของเด็กพิการในชุมชนสู่พื้นที่สาธารณะด้วย เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถของตนเอง สามารถทำกิจกรรมในดำเนินชีวิตได้ เช่น การทำกิจวัตรประจำวัน การเรียน ควบคุมตนเองได้ ปรับสภาพอารมณ์ต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ มีทักษะทางสังคม และสามารถปรับตัวเข้าสังคมได้

ขอบคุณ... https://shorturl.asia/FDECM

ที่มา: thaihealth.or.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 25 ต.ค. 66
วันที่โพสต์: 25/10/2566 เวลา 11:31:28 ดูภาพสไลด์โชว์ สานพลังภาคีฯ สร้างแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เสริมพัฒนาการเรียนรู้เด็กพิเศษร่วมกับครอบครัว