วันสร้างสุข..คัดสรรชุดความรู้เพิ่มทักษะ เปลี่ยน..คนพิการเป็นภาระสู่การเป็นพลัง

วันสร้างสุข..คัดสรรชุดความรู้เพิ่มทักษะ เปลี่ยน..คนพิการเป็นภาระสู่การเป็นพลัง

คำถามที่ว่า เราทุกคนต้องการสังคมในฝันเป็นแบบไหน? คำตอบก็คงไม่พ้น อยากเห็น..สังคมที่ทุกคนมีความสุข ประชากรกลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลเกื้อกูลกันอย่างเป็นธรรม กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน

แต่จะมีสักกี่คนที่มองเห็นความสำคัญของการสร้างสังคมในฝันดังกล่าว เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ คนพิการเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ไม่กล้าออกสังคม ด้วยความกลัวจากสายตาของสังคม นอกจากนั้น ..ไม่มีใครกล้าจ้างงานคนพิการ

ด้วยเหตุผลของภารกิจที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อยากเห็นประชากรกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี ไม่ถูกเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าบนสังคมที่เท่าเทียมกันนั่นเอง ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สานพลังจัดงาน “วันสร้างสุข” นำร่องสร้างสุขภาวะคนพิการ "เชียงใหม่" ในห้องอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน

วันสร้างสุข..คัดสรรชุดความรู้เพิ่มทักษะ เปลี่ยน..คนพิการเป็นภาระสู่การเป็นพลัง

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานในพิธีเปิดงานวันสร้างสุขว่า เชียงใหม่มีความพร้อมมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยเพิ่มโอกาส พัฒนาศักยภาพ สร้างความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้คนพิการได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ผ่านการดำเนินงานหลักของ พมจ.เชียงใหม่ (ฝ่ายพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ทั้งนี้ การสนับสนุนกิจกรรมให้คนพิการมีโอกาส และมีส่วนร่วมทางสังคม ผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ “วันสร้างสุข เสริมสร้างสุขภาวะสำหรับคนพิการ เชียงใหม่” ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จะช่วยให้คนพิการเข้าถึงองค์ความรู้ในการสร้างทักษะชีวิต (Life Skill) นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพตนเองของคนพิการ สร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะในมิติต่างๆ ที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนพิการ

วันสร้างสุข..คัดสรรชุดความรู้เพิ่มทักษะ เปลี่ยน..คนพิการเป็นภาระสู่การเป็นพลัง

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ชี้แจงว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุที่เป็นผู้พิการในไทยที่ขึ้นทะเบียนไว้ 2 ล้านคน แต่สถิติจริงมี 4.5 ล้านคนที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการ คนกลุ่มนี้ต้องอยู่ในความดูแลของครอบครัว หนุนเสริมจากคนในชุมชน โอบอุ้มเกื้อกูลกัน โดยไม่ต้องรอบริการจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว สำนัก 9 สสส.สนับสนุนกิจกรรมโครงการต่างๆ เพื่อให้คนเท่าเทียมกันอย่างเป็นรูปธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการหนุนเสริมกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้คนพิการ นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพคนพิการให้มีสุขภาพที่ดี การนำเสนอ 70 วันมหัศจรรย์ของฉัน ให้กำลังใจคนพิการ 5,000 คน ที่ทำมาแล้วถึง 7 season กิจกรรม Wheelchair คนพิการวิ่งด้วยกัน ขยายกิจกรรมไปยังต่างประเทศเพิ่มระยะเส้นทางต่อไปเรื่อยๆ เปิดโอกาสให้มีการจ้างงานคนพิการต่อไปเรื่อยๆ ถึง 5 หมื่นตำแหน่ง

สสส.ให้ความสำคัญกับคนพิการอย่างต่อเนื่อง มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตทุกมิติ ตั้งแต่ทักษะการทำงาน การดูแลสุขภาพตนเอง การบริหารด้านการเงิน จนเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานระดับพื้นที่ กิจกรรมงาน “วันสร้างสุข เสริมสร้างสุขภาวะสำหรับคนพิการ” ครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการมีกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น มีคนพิการเข้าร่วมกว่า 250 คน เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับคนพิการ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพในการดำเนินชีวิตในทุกมิติ นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ มีทักษะการรู้เท่าทัน ยกสถานะทางสังคมของคนพิการ และได้แนวคิดแรงบันดาลใจในการปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาวะแก่คนพิการและสังคมรอบข้างต่อไป

“การส่งเสริมให้คนพิการมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ กิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพ 70 วันมหัศจรรย์ของฉัน ผู้เข้าร่วมสะสมกิจกรรม 5,476 คน งานวิ่งด้วยกัน มีคนพิการและคนไม่พิการเข้าร่วมกว่า 3,000 คน เกิดเครือข่ายวิ่งด้วยกันในต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกงและสิงคโปร์ สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ภาคีและ สสส.ได้ร่วมออกแบบนำชุดความรู้เชิงประเด็นสุขภาพต่างๆ ของ สสส.มาเชื่อมโยงกิจกรรมที่สอดคล้อง กับความต้องการ และสภาพข้อจำกัดต่างๆ กลุ่มคนพิการ มุ่งสู่การสร้างทักษะชีวิต เช่น กิจกรรมค้นหาตัวตน โดยใช้กระบวนการศิลปะบำบัด (Art Therapy Workshop) การใช้สมาร์ตโฟนสร้างอาชีพ โปรโมตสินค้าออนไลน์ ถ่ายภาพ พัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ เพิ่มโอกาสให้คนพิการเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะประจำเดือน เพื่อให้คนพิการและครอบครัวสามารถร่วมเรียนรู้ ร่วมปฏิบัติ สามารถนำไปต่อยอดปรับใช้ในชีวิตของตัวเองได้ โดยจัดไปแล้วรวม 20 ครั้งมีจำนวนคนพิการและครอบครัวเข้าร่วมประมาณ 817 คน” นางภรณีเปิดเผย

นางจิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ พมจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน จ.เชียงใหม่มีคนพิการที่ขึ้นทะเบียนและได้รับบัตรคนพิการแล้วจำนวน 56,339 คน คิดเป็น 3.14% ของประชากรทั้งหมดในจังหวัด มากเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ พิการทางเคลื่อนไหว พิการการได้ยิน พิการทางสายตา พิการทางจิตใจ ผู้พิการนับวันเพิ่มจำนวนขึ้นจากผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยกลายเป็นผู้พิการต้องได้รับการดูแล ขอเชิญชวนห้างร้านบริษัทเอกชนสนับสนุนจ้างงานให้คนพิการ ห้างสรรพสินค้าเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้แสดงศักยภาพขายผลิตภัณฑ์ด้วยน้ำมือเป็นอย่างดี จ.เชียงใหม่เป็นต้นแบบให้ความสะดวกกับคนพิการ โดยเฉพาะที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ เป็นอาคารที่เอื้อต่อคนพิการ มีทางลาดสำหรับรถเข็น ที่จอดรถกว้างขวาง โดยเฉพาะเข้าออกได้สะดวก “กลุ่มชาติพันธุ์พม่ามีจำนวนมากที่ จ.เชียงใหม่ เด็กที่เกิดใหม่แม้ไม่ได้สัญชาติไทย เพราะพ่อแม่เป็นต่างด้าวก็ต้องได้รับการศึกษาที่ไม่ต่างไปจากเด็กอื่นๆ”

จ.เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุจำนวนมากและนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งผู้สูงอายุที่เป็นชาวต่างประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ที่เข้ามาพำนักในเมืองไทย โดยเฉพาะในปี 2574 เมืองไทยจะก้าวสู่ผู้สูงอายุสุดยอด ทุกๆ 100 คนจะมีผู้สูงวัย 30 คน สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนพิการเข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างเสริมสุขภาวะในทุกมิติ สื่อสารงานเชิงประเด็นต่างๆ ของ สสส. ด้วยการแปลงความรู้ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ผสมผสานรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย นำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นไปตามภารกิจของ พมจ.เชียงใหม่ ที่มุ่งสร้างสังคมแห่งความสุขร่วมกัน ปรับเจตคติเปลี่ยนความเชื่อจาก "คนพิการเป็นภาระ สู่การเป็นพลัง" พัฒนารูปแบบการดำเนินงานให้คนพิการ และครอบครัวเข้าถึงบริการสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ สร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ผู้พิการได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม.

******

นางมัลลิกา ตะติยาพรพันธ์ ผอ.รพ.สต.บ้านพญาชมภู

การทำโมเดลต้นแบบพื้นที่บูรณาการพัฒนาชีวิตคนพิการต้องมีงานทำ อยู่ดี กึ๋นดี มีสุข นำร่องด้วยการนำธนาคารเวลาเป็นงานจิตอาสา เป็นการทำงานผ่านภาคีเครือข่าย ข้าราชการ ภาคประชาชนสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการด้อยโอกาส เป็นงานต่อเนื่องจ้างคนพิการทำงาน 7 คน ตลอด 6 ปีที่ รพ.สต. ศูนย์บริการคนพิการ ผู้ช่วยครูที่ รร. “การจ้างงานเชิงสังคมไม่ใช่การสงเคราะห์ 100%ทำให้คนพิการพึ่งพาตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัว พัฒนาศักยภาพคนพิการโดยชุมชน คนพิการทำงานจิตอาสานำยาไปส่งถึงบ้านคนไข้ติดเตียง มีช่างเย็บผ้า ช่างซ่อมอุปกรณ์ที่ชำรุดภายในบ้านให้บริการ ขณะนี้ 5 จังหวัด 15 พื้นที่นำร่อง เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน”

การพัฒนาศักยภาพคนพิการเป็นแกนนำพัฒนาตัวเอง คนพิการได้รับเงินไปดูแลความต้องการตามความต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว บางครอบครัวผู้นำครอบครัวพิการสูญเสียอาชีพรายได้หลัก การฟื้นฟูใช้หลักประคับประคอง ทำตามโครงการมีพี่เลี้ยงคอยประกบด้วยความรอบรู้ด้านสุขภาพ สังคมช่วยประคับประคองเพื่อให้คนพิการเกิดความหวัง คนพิการพัฒนาตัวเองกลายเป็นแกนนำชุมชน เป็นต้นแบบสร้างกิจกรรมบริการในชุมชน คนพิการรุ่นพี่ที่เป็นพี่เลี้ยงจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง มิฉะนั้นจะขอทุนสนับสนุนให้รุ่นน้องที่พิการได้ไม่ง่าย ดังนั้นอย่าปิดโอกาสคนที่ไม่ได้รับการสนับสนุน ทำสัญญาปีต่อปี ต้องดูสมรรถนะในการทำงานโดยมีหน่วยประสานการจ้างงาน มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมสนับสนุนคนพิการเข้ามาทำงานในองค์กร

การทำงานกับคนพิการเป็นทีม การเปลี่ยนแปลงทัศนคตินำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม นักสานพลังเชื่อมโยงทำงานร่วมกัน เปลี่ยนมุมมองการทำงาน เปลี่ยนแปลงทัศนคติ การทำงานร่วมกับเครือข่าย อย่ามุ่งแต่งานตัวเองให้มุ่งงานของเพื่อนด้วย เชื่อมการทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ 5 จังหวัด มีกลุ่มชาติพันธุ์ 3 พื้นที่มี 9 ชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นไทใหญ่ ลีซู คนพิการเป็นปัญหาสากลไม่ใช่คนไทย ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเลข 13 หลัก เป็นที่สังเกตว่ามีคนพิการจากสารเสพติดต้องส่งไปรักษา รพ.เฉพาะ มีโครงการคลินิกจิตบำบัดดูแลโดยชุมชน ต้องได้รับการฟื้นฟู.

ขอบคุณ... https://www.thaipost.net/public-relations-news/459358/

ที่มา: thaipost.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 4 ต.ค.66
วันที่โพสต์: 4/10/2566 เวลา 14:33:16 ดูภาพสไลด์โชว์ วันสร้างสุข..คัดสรรชุดความรู้เพิ่มทักษะ เปลี่ยน..คนพิการเป็นภาระสู่การเป็นพลัง