ครอบครัวใจสู้ เลี้ยงลูกพิการสมอง 3 คน เล่านาทีแรกที่รู้ เผยวิธีเอาชนะความกลัว ใช้ชีวิตยังไง

ครอบครัวใจสู้ เลี้ยงลูกพิการสมอง 3 คน เล่านาทีแรกที่รู้ เผยวิธีเอาชนะความกลัว ใช้ชีวิตยังไง

เป็นเรื่องราวของผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่ง ชื่อว่า “twinsza4” ที่มักจะแชร์เรื่องราวจองลูกๆ ทั้ง 3 คน น้องออม น้องปุณ น้องปัณ ที่มีอาการพิการทางสมอง เป็นดาวน์ซินโดรม ที่เผยออกมาในมุมที่เป็นกำลังใจให้กับคนอื่นๆ ที่กำลังท้อกับปัญหาชีวิต

วันที่ 17 ก.ย.66 นายนันทวุฒิ สุขนุ่ม หรือโอ๋ พ่อของน้องๆ ทั้ง 3 คน เปิดเผยกับ “ข่าวสดออนไลน์” ว่า ตอนนี้ลูกๆ ของตน คนโตน้องออม อายุ 17 ปี พิการทางสมอง หลังจากน้องคลอดได้ประมาณ 2 เดือน ก็มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกและรักษาตัวได้ไม่นานเลือดก็ไหลเวียนเข้าศีรษะ หมอจึงได้แจ้งว่าน้องโตขึ้นอาจจะไม่เหมือนเดิม ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติไม่ได้

ส่วนน้องแฝดทั้ง 2 คน น้องปุณ น้องปัณ อายุ 7 ขวบ ก็เป็นดาวน์ซินโดรม ซึ่งจริงๆ ตนไม่ได้ตั้งใจจะปล่อยให้มี แต่เมื่อรู้ว่ามีแล้วจึงดูแลกันมาตลอด ไปหาหมอตรวจครรภ์เรื่อยๆ หมอก็แนะนำตลอดว่าน้องปกติดี สุขภาพแข็งแรง น้ำหนักปกติทั่วไป จึงไม่ได้ตรวจน้ำคร่ำ จนถึงกำหนดคลอด ถึงรู้ว่าลูกเป็นดาวน์ซินโดรม หมอก็ได้นัดไปตรวจเรื่อยๆ เพื่อยืนยันว่าน้องเป็นประเภทไหนในช่วงแรก และตอนนี้น้องยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กำลังฝึกพัฒนาการอยู่ตลอด

โดยเมื่อรู้ว่าลูกเป็นดาวน์ซินโดรม ช่วงแรกตนก็ทำอะไรไม่ถูก และอีกอย่างตนไม่มีความรู้ด้านนี้เลยเพราะไม่ได้เตรียมการไว้ว่า ไม่รู้จะทำตัวยังไง ต้องบอกเลยว่าตอนแรก ตนก็รับไม่ได้ ตนไม่เคยคิดว่าจะมาเจอเหตุการณ์แบบนี้กับตัวเอง แล้วการใช้ชีวิตจะเป็นแบบไหน คือมืดไปหมด ไม่กล้าไปสบตาใคร มีคำถามในหัวมากมาย ช่วงแรกๆ อึดอัด แล้วก็พยายามพาลูกๆ ไปฝึก ไปเรียนเรื่องพัฒนาการต่างๆ แต่ก็ได้ไม่เต็มที่เพราะว่าต้องทำงาน จากนั้นยังมาเจอปัญหาเรื่องของสถานการณ์โควิด จนต้องอยู่บ้านเป็นหลัก ทำให้ช่วง 3 ปีหลังจากนั้นไม่ได้ออกไปไหน พัฒนาการก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น แม้แต่กระทั่งโรงเรียน ศูนย์ศึกษาพิเศษอะไรต่างๆ ก็ต้องหยุดไปในช่วงนั้นทั้งหมด โรงพยาบาลก็ไม่กล้าไป เพราะว่าน้องไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัย เขาไม่รู้ว่าใส่ไปช่วยอะไร มักจะดึงออกตลอดเวลา

ซึ่งลำบากมากในช่วงนั้น ทั้งต้องปรับตัวให้อยู่ได้แล้วก็คิดว่าจะทำยังไงที่จะทำให้ลูกไม่ต้องไปโรงเรียน แล้วมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ก็พยายามทำเท่าที่จะทำได้ แต่เมื่อลูกอยู่กับครอบครัวก็จะมีการต่อต้าน ไม่เหมือนไปโรงเรียน ที่เขามีอุปกรณ์และรู้การสอนอะไรต่างๆ ดีกว่าการอยู่กับครอบครัว แต่ทางครอบครัวก็ต้องทำให้ได้ เพราะคุณหมอและคุณครูก็แนะนำมาว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็งกับลูกๆ เพราะลูก อยู่กับครอบครัวนานกว่าโรงพยาบาลหรือโรงเรียน ครอบครัวเป็นจุดสำคัญที่จะต้องฝึกพัฒนาการของลูกลูก

และหลังจากหมดสถานการณ์โควิด ตนก็ได้พาลูกๆ ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเด็กโดยตรง เป็นการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพราะว่าตนอยากให้ลูกๆ รักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะทางของเด็ก ดีกว่าการไปเจอสภาวะอื่นๆ ในหนึ่งเดือนก็ต้องพาไป 3-4 ครั้ง แต่เมื่อพาไปรักษาที่โรงพยาบาลเด็ก ก็มีการต้อนรับที่อบอุ่น ทั้งหมอ พยาบาล และคนที่โรงพยาบาลก็มีการทักทายบอกว่าเคยเห็นน้องๆ ในติ๊กต็อก เห็นคุณพ่อเล่นก็ทำให้อุ่นใจมากขึ้น

ในตอนนนี้ ถึงแม้จะผ่านระยะเวลามาประมาณนึงแต่ตนก็ยังมีความรู้สึกท้ออยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถแสดงออกมาให้คนอื่นเห็นได้ ต้องเก็บไว้ในใจ ไม่จำเป็นต้องบอกใคร เพราะบางทีเวลาสบตาใคร คนใกล้ชิดตนก็เชื่อว่าเขารับรู้ว่าตนกำลังลำบากหรือว่าเหนื่อยแค่ไหน ซึ่งบางคนก็ไม่อยากทักตนด้วยซ้ำเพราะกลัวว่าจะกระทบกระเทือนจิตใจตน บางทีอยู่ที่ทำงานอยู่กับเพื่อนสนิทตนก็ไม่ได้อยากพูดเรื่องลูกให้เขาฟังเพราะกลัวเรื่องความสัมพันธ์จะเปลี่ยนไป เพราะบางทีเล่าให้ฟังก็กลัวว่าเขาสงสารแต่จริงๆ ตนได้คิดอะไรเลย จึงเลือกที่จะไม่พูดเรื่องครอบครัวเรื่องลูกกับเพื่อนๆ

ส่วนที่ตนทำคลิปออกมา จุดเริ่มต้นก็เพราะว่าตนเป็นครอบครัวแบบนี้ ก็อยากเอารูปลูกมาโพสต์บ้าง แต่เมื่อมาโพสต์แล้วก็เห็นคนมาคอมเมนต์ให้กำลังใจ ซึ่งก็เริ่มต้นจากหลักร้อย หลักพัน เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ บางคนก็เป็นแบบตน แล้วมาติดตามตนเพื่อจะแลกเปลี่ยน เข้ามาเป็นเพื่อนกัน เข้ามาหาความรู้ในการเลี้ยงลูก จึงได้ทำคลิปออกมาเรื่อยๆ

พอมีคนเข้ามาสนใจและแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น จากที่คิดว่าครอบครัวของตนหนักแล้ว แต่เมื่อมาเจอครอบครัวอื่นๆ ที่มาแชร์กัน ก็ทำให้ตนมีกำลังใจมากขึ้น ก็รู้สึกดีใจแล้วตนก็มีกำลังใจที่จะทำออกมาเรื่อยๆ แล้วตนเป็นคนที่ชอบตอบทุกคอมเม้นต์เพื่อที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับทุกคน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนรับรู้ถึงกำลังใจที่ส่งให้ ตนก็ดีใจมากแล้วอยากทำให้คนอื่นที่คิดว่าแย่แล้วมาเจอคลิปตนจะทำให้รู้ว่าเรื่องของเขามันเล็กนิดเดียว และอยากให้ทุกคนสู้ ก็ทำให้ตนมีกำลังใจสู้ไปด้วย

ทุกคนเป็นพลังบวกให้กัน เมื่อมีคนมาดูคลิปตนแล้วมีกำลังใจ ก็ทำให้รู้สึกดี เช่น บางคนกลับบ้านต้องไปทำข้าวให้ลูกกิน บางคนตื่นเช้ามาลูกงอแงไม่ยอมไปโรงเรียน เมื่อมาเห็นคลิปตนจะได้รู้ว่ามันปัญหาพวกนั้นเล็กนิดเดียว หรือแม้แต่บางทีตนก็ไปเจอเรื่องราวที่หนักกว่า มีทั้งติดเตียง หรือนอนแบบตอบสนองไม่ได้ก็ทำให้ตนมีกำลังใจเช่นกัน และมีกำลังใจที่จะทำคลิปออกมาเรื่อยๆ

ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7870807

ที่มา: khaosod.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 18 ก.ย.66
วันที่โพสต์: 18/09/2566 เวลา 14:47:37 ดูภาพสไลด์โชว์ ครอบครัวใจสู้ เลี้ยงลูกพิการสมอง 3 คน เล่านาทีแรกที่รู้ เผยวิธีเอาชนะความกลัว ใช้ชีวิตยังไง