“ท็อฟฟี่ (คนตาบอด) โดนปลดจากพิธีกรทีวี โดนยกเลิกไปต่างประเทศ เพราะคลิปกินเหล้าที่ข้าวสาร ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับรายการและคนพิการ”

“ท็อฟฟี่ (คนตาบอด) โดนปลดจากพิธีกรทีวี โดนยกเลิกไปต่างประเทศ เพราะคลิปกินเหล้าที่ข้าวสาร ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับรายการและคนพิการ”

นั่นเป็นข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ของผู้ที่ใช้ชื่อว่า Worachat Cheang Thamrongvarangkul ซึ่งเป็นเพื่อนกับ “ท็อฟฟี่” คนตาบอด ที่ถูกปลดออกจากการเป็นพิธีกรรายการทีวีที่มีชื่อว่า “สื่อ ยอดนักสืบ” รายการแสดงความสามารถของคนพิการที่ได้รับทุนสนับสนุนมาจากสำนักงาน กสทช. และเป็นคนที่พาไปท็อฟฟี่ไปเที่ยวพร้อมดื่มเหล้าที่ถนนข้าวสาร โดยมีคลิปเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ จนเป็นที่มาของการถูกปลด

ต่อมาผู้ใช้เฟซบุ๊ก ว่า Worachat Cheang Thamrongvarangkul เขียนชี้แจงยืนยันว่า ในสัญญาการเป็นพิธีกรของท็อฟฟี่ ไม่มีระบุว่าห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หรือห้ามไปถ่ายรายการกับช่องอื่น เพราะถ้ามีระบุในสัญญา ก็จะไม่ผลิตรายการรูปแบบนี้ออกมา แต่ที่ทำก็เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นว่า คนพิการตาบอด ก็สามารถใช้ชีวิตเที่ยว กิน ดื่ม เฉกเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปได้

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในกลุ่มคนพิการและคนที่ทำงานเพื่อยกระดับคนพิการให้อยู่ในสถานะที่เหมือนคนปกติทั่วไป โดยมีประเด็นหลักคือ “ทำไมคนพิการดื่มเหล้า จึงกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี”

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ สมาชิกศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล ซึ่งเป็นคนพิการเช่นกัน ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์นี้ว่า ถ้ามีข้อห้ามระบุในสัญญาการเป็นพิธีกรรายการ “สื่อ ยอดนักสืบ” ของท็อฟฟี่ ก็คงต้องเคารพตามสัญญา

แต่ถ้าไม่มีข้อห้ามในสัญญา เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นทัศนคติของสังคมและหน่วยงานที่เป็นเจ้าของทุนผลิตรายการได้เป็นอย่างดี นั่นคือทัศนคติที่ยังคงมองคนพิการอยู่ในกรอบของความน่าสงสารน่าเวทนา ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปได้

เรายังคงถูกมองด้วยสายตาของความน่าเวทนาอยู่เสมอ อย่างในกรณีนี้เห็นได้ชัดเลยครับว่า มุมมองในเรื่องการกิน ดื่ม หรือแม้แต่การสูบบุหรี่ของคนพิการ ยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดบาป ทั้งที่คนพิการก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นมนุษย์ที่มีความต้องการ สามารถไปเที่ยวหาความสุข ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ได้เหมือนมนุษย์คนอื่นๆ ตราบใดที่เขายังไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้ใช้ยาเสพติด ไม่ได้ขับรถหลังไปดื่มเหล้า

ดังนั้นแม้ทางรายการจะพยายามอธิบายว่า นี่ไม่ใช่การ “ปลด” แต่เป็นการ “ทำโทษ” ท็อฟฟี่ ที่มีคลิปไปเที่ยวและดื่มเหล้าออกมาในสื่อ ก็ต้องถามกลับไปอีกว่า แล้วท็อฟฟี่ ทำอะไรผิด”

“ท็อฟฟี่ (คนตาบอด) โดนปลดจากพิธีกรทีวี โดนยกเลิกไปต่างประเทศ เพราะคลิปกินเหล้าที่ข้าวสาร ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับรายการและคนพิการ”

“ผมมองว่า การปลดคุณท็อฟฟี่จากพิธีกรรายการ คือการสร้างบรรทัดฐานให้สังคมยิ่งมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนพิการ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ผิดเพี้ยน ทำให้คนพิการต้องถูกมองเป็นกลุ่มคนที่ต้องอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัวในความพิการ ต้องสุภาพเรียบร้อยตลอดเวลาเพื่อให้คนสงสารและอยากให้ความช่วยเหลือเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนพิการก็มีความต้องการเหมือนคนทั่วไป และเขาก็ไม่ได้บวชเป็นพระ ไม่จำเป็นต้องรักษาศีล”

“การปลดท็อฟฟี่ มันคือการส่งข้อความตอกย้ำว่า ถ้าคนพิการคนใด ไม่ได้ทำตัวสุภาพ ไม่อยู่ในสถานะที่น่าสงสาร ก็จะถูกเรียกสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตกลับคืนไปเมื่อไหร่ก็ได้ แล้ว “มาตรฐานความเป็นคน” ของคนพิการอยู่ตรงไหน” อรรถพล กล่าว

เมื่อเทียบกับประสบการณ์ในชีวิตของตัวเขาเอง อรรถพล ซึ่งเป็นผู้พิการที่นั่งวีลแชร์ ก็เคยถูกมองด้วยบรรทัดฐานที่สังคมไม่อนุญาตให้เขาสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้แบบเดียวกันนี้ เช่นกัน

“มันไม่เกี่ยวกับว่าท็อฟฟี่เป็นคนตาบอดแล้วจะถูกมองด้วยมุมมองที่เคร่งกว่า แม้แต่ผมซึ่งพิการเพราะถูกยิงจนต้องมาใช้วีลแชร์ เคยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แล้วก็มีคนมาทักว่า ผมไม่ควรใช้ชีวิตแบบนั้นนะ พวกเขาบอกผมว่า ทำไมยังดื่มยังสูบอยู่อีกทั้งที่ร่างกายก็พิการแบบนี้แล้ว นั่นทำให้ผมสงสัยมากว่า เมื่อผมพิการแล้ว ผมจึงไม่สามารถใช้ชีวิตในแบบที่ผมต้องการเหมือนคนทั่วไปได้หรือ”

แม้การถูกปลดออกจากรายการ “สื่อ ยอดนักสืบ” ของ ท็อฟฟี่ จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง อรรถพล ก็มองเห็นประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะนี่เป็นหนึ่งในโอกาสที่คนพิการจะได้มีพื้นที่ในการเสนอมุมมองที่ “ท้าทาย” ต่อบรรทัดฐานเดิมๆของสังคมบ้าง

การที่ท็อฟฟี่ซึ่งเป็นคนตาบอด มีคอนเทนต์ไปเที่ยวถนนข้าวสาร ดื่มเหล้า เต้นรำ มันคือข้อความสำคัญมากๆครับ ที่กำลังถูกส่งออกไปเพื่อท้าทายบรรทัดฐานเดิมๆ ที่สังคมมีต่อคนพิการ เขากำลังทำให้สังคมเห็นความเป็นมนุษย์ของคนพิการ ทำให้เห็นการใช้ชีวิตจริงๆ ของคนพิการที่มีมานานแล้วเพียงแต่สังคมไม่เคยเห็นเองก็เท่านั้น

และมันยังกลายเป็นพื้นที่ให้สังคมได้ยอมรับความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่จริง นั่นคือ ความต่างทางร่างกายแต่สามารถมีชีวิตเป็นปกติได้ ซึ่งถ้าเรามีสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เราก็คงไม่ต้องถูกตีกรอบแบบนี้มาตั้งแต่แรก

เมื่อพูดถึงในแง่ของการนำเสนอมุมมองต่อคนพิการในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่การขายความน่าสงสาร อรรถพล เห็นว่า รายการที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นี้ แม้จะเป็นรายการที่เปิดพื้นที่ให้คนพิการมาแสดงความสามารถ แต่ก็ยังถูกนำเสนอด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้คนพิการต้องเป็นคนดี ต้องสุภาพ ต้องน่าสงสารอยู่เช่นเดิม ซึ่งเป็นภาพลักษณฺที่คนพิการในประเทศไทยถูกกดทับมาตลอดหลายสิบปี จนกระทั่งมีโซเชียลมีเดีย ที่เป็นช่องทางให้คนพิการสามารถสื่อสารได้เองเกิดขึ้น

“ภาพลักษณ์ที่ทำให้คนพิการน่าเวทนาสงสาร คือสิ่งที่พวกเราถูกสื่อสารมวลชนนำเสนอผ่านรูปแบบที่ผมเห็นว่าเป็น “การโฆษณาชวนเชื่อ” มาหลายสิบปีแล้วครับ โดยเฉพาะในยุคก่อนที่มีสื่อไม่มากนัก และยังถูกควบคุมผ่านกลไกของรัฐได้ทั้งหมด จนมามีโซเชียลมีเดียนี่แหล่ะครับ เราจึงมีคนที่เข้าใจเรื่องสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของคนพิการมาช่วยกันผลิตใหม่ๆ ที่สื่อสารได้ดีขึ้นมาก”

“สื่อ ไม่จำเป็นต้องนำเสนอแต่ด้านที่น่าสงสารของคนพิการเสมอไปนะครับ เราอยากถูกนำเสนอให้เห็นตัวตนของเราจริงๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งบ้าง มีเฉดสีเทาหรือจะดำบ้างก็ได้ เรามีความต้องการใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป นั่นคือมุมมองที่จะช่วยทำให้เรามีอำนาจต่อรองทางสังคมได้เหมือนทุกคนอย่างแท้จริง มันจึงจะเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีของคนพิการจริงๆ”

“เวลาคนพิการเขาทำอาหารมาขายนะครับ เขาต้องการให้คนซื้อไปเพราะอยากกินอาหารของเขา ไม่ได้ต้องการให้คนมาซื้อเพราะความสงสาร แต่ซื้อไปแล้วไม่กินของที่เขาขาย” อรรถพล ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ

ขอบคุณ... https://www.thaipbs.or.th/news/content/330996

ที่มา: thaipbs.or.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 30 ส.ค.66
วันที่โพสต์: 30/08/2566 เวลา 10:55:52 ดูภาพสไลด์โชว์ “ท็อฟฟี่ (คนตาบอด) โดนปลดจากพิธีกรทีวี โดนยกเลิกไปต่างประเทศ เพราะคลิปกินเหล้าที่ข้าวสาร ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับรายการและคนพิการ”