เลือกตั้ง 2566 ลงคะแนนเสียงแทน "ผู้พิการ - คนชรา" ได้

เลือกตั้ง 2566 ลงคะแนนเสียงแทน "ผู้พิการ - คนชรา" ได้

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เตรียมอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในกลุ่ม “คนพิการ-ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ” ทั้งในส่วนของหีบบัตรและคูหา ที่จะจัดไว้เฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบางดังกล่าว พร้อมอนุญาตให้ “กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือ ญาติ หรือ บุคคลไว้ใจ” เป็นผู้กาบัตรลงคะแนนแทนได้ โดยความยินยอม

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แจ้งว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้น กกต.คำนึงถึงสิทธิในการเลือกตั้งของคนพิการทุพพลภาพและผู้สูงอายุ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 กำหนดว่า จะได้จัดให้มีการอำนวยความสะดวกสําหรับการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษ โดยการจัดวางคูหาออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้ง จะอยู่ห่างจากคูหาอื่นอย่างน้อย 1.50 เมตร โดยโต๊ะวางคูหาออกเสียงลงคะแนนมีความสูงไม่เกิน 0.75 เมตร และจัดเก้าอี้ไว้ในคูหาออกเสียงลงคะแนนด้วย ทั้งนี้ในกรณีที่คนพิการ ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจ เป็นผู้ทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น โดยกรรมการฯ จะบันทึกการกระทำดังกล่าวลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง และให้ถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

สำหรับสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งกลาง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการจัดและควบคุมการออกเสียงลงคะแนน ณ ที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ โดยสำนักงาน กกต.ได้กำหนดสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ไว้จำนวนทั้งสิ้น 28 แห่ง ใน 23 จังหวัด โดยหีบบัตรในการออกเสียงลงคะแนนจะกำหนดสีหรือมีเครื่องหมายแสดงหีบบัตรเลือกตั้ง แต่ละใบไว้ให้แตกต่างกัน และจะมีการสื่อสารที่แสดงขั้นตอนและวิธีการออกเสียงลงคะแนนพร้อมอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนไว้ให้แก่คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุด้วย

นอกจากนี้ สำนักงาน กกต. จะจัดการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และประชาสัมพันธ์การเข้าถึงสิทธิในการเลือกตั้งของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยสำนักงาน กกต. ระบุว่า ตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อคนพิการหรือทุพพลภาพอย่างเสมอภาค ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดถึงความก้าวหน้า ความสามารถในการจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นมืออาชีพ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ กกต. ได้สรุปจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตและนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 25 -27 มีนาคม 2566 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 162,863 คน โดยผู้ลงทะเบียนล่าสุดในวันนี้( 27 มี.ค.) จำนวนทั้งสิ้น 71,436 คน

ครั้งนี้จำนวนผู้ขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง ที่ขอลงทะเบียนไว้ในวันที่ 27 มีนาคมจำนวน 65,220 คนนั้น ในข้อมูลพบว่า จังหวัดกรุงเทพมหานคร มีผู้ขอลงทะเบียนมากที่สุดจำนวน 29,214 คน รองลงมาเป็น จังหวัดชลบุรี 4,017 คน จังหวัดสมุทรปราการ 3,647 คน ตามด้วยจังหวัดนนทบุรี 3,198 คน

ขณะที่ผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรข้อมูล ในวันที่ 27 มีนาคมพบว่า ในจำนวนทั้งหมด 6,216 คน ในประเทศออสเตรเลียมีผู้ขอลงทะเบียนมากที่สุด 807 คน โดยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 645 คน ส่วนที่จีนรวมกับไต้หวันรวมกันจำนวน 494 คน และเยอรมนี จำนวน 440 คน

ขอบคุณ... https://www.tnnthailand.com/news/election/142610/

ที่มา: tnnthailand.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 29 มี.ค.66
วันที่โพสต์: 29/03/2566 เวลา 11:46:40 ดูภาพสไลด์โชว์ เลือกตั้ง 2566 ลงคะแนนเสียงแทน "ผู้พิการ - คนชรา" ได้