สลากดิจิทัลพ่นพิษ คนพิการสุดลำบาก รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย

สลากดิจิทัลพ่นพิษ คนพิการสุดลำบาก รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย

หลังเปิดขายสลากดิจิทัล 80 บาท ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ล่าสุด วันที่ 4 มิถุนายน 2565 มีสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ขายในระบบแล้ว 4,433,963 ใบ จากผู้ซื้อสลาก 1,064,294 คน หรือเฉลี่ย 1 คนซื้อประมาณ 4 ใบ ถือเป็นการตอบรับที่ดี ตามแนวทางที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องการควบคุมราคาขายให้อยู่ที่ใบละ 80 บาท แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้ค้าสลากฯ รายย่อยที่ได้โควตาประเภทผู้พิการ กลับได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ถึงขนาดต้องขายให้ได้ 5 ใบ จึงจะได้ค่าข้าวกะเพราไข่ดาว 1 จาน และเตรียมยื่นข้อเสนอปรับเปลี่ยนโควตาผู้พิการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

สลากดิจิทัลกระทบผู้ค้าสลากพิการ

“ตอนนี้ได้รับผลกระทบหนักมาก หลังเปิดขายสลากดิจิทัล เพราะผู้ค้ารายย่อยแข่งขันราคากับสลากดิจิทัลที่ขายใบละ 80 บาทไม่ได้ โดยเฉพาะคนพิการได้โควตาน้อยอยู่แล้ว แค่คนละ 5 เล่ม ซึ่งกำไรจากการขายไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป อาจต้องไปหาอาชีพอื่นทำ หรือต้องกลับไปทำงานที่บ้านเกิดที่สุรินทร์” ผู้พิการที่ได้โควตาสลากจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ระบายถึงปัญหา

ผู้ขายสลากฯ รายเดิมเล่าว่า คนที่เดินเร่ขายสลากฯ ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ค้าในระบบออนไลน์ หรือดิจิทัลได้ เพราะในระบบมีราคาถูกกว่า สามารถเลือกเลขแบบรวมชุดได้ 6-7 ใบ ทำให้มีความสะดวกกว่าการมาซื้อกับผู้พิการที่เร่ขายตามสถานที่ต่างๆ

สลากดิจิทัลซ้ำปัญหาเดิมเรื่องโควตาน้อย

อีกปัจจัยที่ทำให้แข่งขันไม่ได้ เนื่องจากโควตาผู้พิการที่ได้รับจัดสรรมีน้อย ซึ่งรายได้จากยอดขายไม่พอกับค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ทำให้ต้องไปซื้อสลากฯ ในท้องตลาดมาเพิ่ม เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น การขายสลากส่วนนี้จะมีราคาแพงกว่าใบละ 80 บาท เมื่อเฉลี่ยแล้วทำให้ต้นทุนสูงกว่าเดิม แต่ก็ต้องซื้อมาขายเพื่อให้ได้ปริมาณและรายได้เพิ่มขึ้น

โดยสลากฯ ในงวดที่จะออกกลางเดือนมิถุนายนนี้ ราคาตลาดตอนนี้ตกอยู่ที่ใบละ 89-90 บาท ทำให้ไม่สามารถรับมาขายในราคา 80 บาท และตัดสินใจว่าจะไม่ซื้อสลากฯ มาเพิ่มในงวดนี้ เพราะลูกค้าหลายคนซื้อสลากดิจิทัลที่มีราคาถูกกว่า ขณะเดียวกันสลากฯ ที่ออกช่วงกลางเดือนจะขายได้น้อยกว่าสลากฯ งวดปลายเดือน

รายได้แทบไม่พอจ่ายค่าเดินทาง กะเพราไก่ ไข่ดาวการเข้ามาของสลากดิจิทัล ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อที่มีน้อยลง แต่ผู้ค้ารายย่อยที่เป็นผู้พิการยังต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น การเดินทางแต่ละวัน มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 300 บาท ตัวอย่างเช่น การเดินทางไปตั้งแผงขายย่านสยามสแควร์ ต้องเดินทางจากท่าน้ำนนท์ด้วยแท็กซี่ ไป-กลับ เฉลี่ยวันละ 400 บาท เพราะต้องขนทั้งเก้าอี้ แผงขายหวย ทำให้ไม่สะดวกในการโดยสารด้วยรถไฟฟ้า แต่บางครั้งถ้ามีเพื่อนไปด้วย จะทำให้ค่าเดินทางถูกลง

“ทุกวันนี้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้พิการที่ขายหวยได้รับความลำบาก และถูกบีบจากระบบโควตาที่ไม่สมเหตุสมผลกับความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากกินข้าวผัดกะเพราไข่ดาว 1 จาน ผมต้องขายหวยให้ได้ 5 ใบ เพื่อเอากำไรมาเป็นค่าข้าวในมื้อนั้น และถ้ายิ่งมีสลากดิจิทัลเข้ามา จะทำให้ผู้ซื้อลดลง จนตอนนี้หลายคนต่างคุยกันว่า อาจใกล้ถึงวันอวสานของผู้พิการที่ขายหวย”

แนะทางออกเพิ่มโควตาสลากฯ ให้ผู้พิการ

ด้วยค่าครองชีพและโควตาที่ผู้ค้าสลากพิการแบกรับ แหล่งข่าวจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เสนอทางแก้ไขว่า กองสลากฯ ควรจัดการกับ “ยี่ปั๊ว” “ซาปั๊ว” ให้เป็นระบบมากขึ้น แม้จะมีการขายสลากดิจิทัล แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบ แถมยังเป็นช่องทางใหม่ให้สามารถขายสลากได้หลายทางมากขึ้น ต่างจากผู้ค้ารายย่อยที่ต้องรับสลากฯ มาในราคาแพง และโควตาที่ได้มาไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ

ดังนั้น กองสลากฯ ควรเพิ่มโควตาให้กับผู้พิการเป็นคนละ 10 เล่ม จะทำให้สามารถขายได้ใบละ 80 บาท โดยไม่ต้องไปตระเวนหาสลากฯ มาขายเพิ่ม เพราะทุกวันนี้ต่อให้ขายได้หมดตามโควตาจะได้เงิน 9,600 บาท ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และบางงวดอาจขายได้น้อย หากมีเลขที่ไม่สวยปนเข้ามามาก ซึ่งเฉลี่ย 500 ใบ มีประมาณ 100 ใบ ที่ผู้ขายต้องรับความเสี่ยง

ราคาขายไม่สอดคล้องค่าครองชีพ

“ประสาน น้อมจันทึก” ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายสลาก 5 ภาค ที่ได้รับโควตาผู้พิการ นำเสนอทางออกว่า ตอนนี้กองสลากฯ ควรหันมาให้ความช่วยเหลือผู้ค้าสลากรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการขายสลากดิจิทัล หลายคนไม่สามารถขายใบละ 80 บาท เพราะโควตาที่ได้รับไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ โดยเฉพาะผู้พิการที่ได้รับเพียง 5 เล่ม จำนวน 500 ใบ เฉลี่ยได้กำไรใบละ 9.60 บาท ถ้าขายหมดจะได้กำไร 4,800 บาท ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพยุคนี้ จึงควรเพิ่มโควตาให้ผู้พิการเป็น 10 เล่ม ซึ่งรายได้จะเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

“สิ่งที่กองสลากฯ พยายามแก้ไขคือ ให้ขายในราคาที่ตรงกับหน้าสลากในราคา 80 บาท ดังนั้นถ้าไม่เพิ่มโควตา กองสลากฯ อาจจะเพิ่มราคาขายเป็นใบละ 100 บาท เพราะราคา 80 บาท เป็นราคาที่มีการขายมาแล้วหลายปี จึงไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเพิ่มราคาแล้วจะต้องเพิ่มรางวัลใกล้เคียงให้มีมากขึ้น หรือเพิ่มเงินในส่วนคนที่ถูกรางวัลให้เหมาะสมกับราคา เพื่อให้ผู้ค้ารายย่อยอยู่รอด”

การแก้ปัญหาของกองสลากฯ ด้วยการขายสลากดิจิทัลไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน แต่จะสร้างปัญหาให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนขายสลากฯ ที่เป็นผู้ค้ารายย่อยจะได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง และทำให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆ ของสังคมตามมา

ตอนนี้ทางเครือข่ายพยายามประเมินผลกระทบของผู้ขายรายย่อย หากมีผลกระทบจากการขายสลากดิจิทัลในระยะยาว เตรียมที่จะเข้าไปยื่นหนังสือกับผู้อำนวยการกองสลากฯ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการเพิ่มโควตาให้กับผู้พิการ หรือสร้างช่องทางการขายอื่นเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ระบุถึง การจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับผู้พิการรายย่อยรับไปจำหน่ายโดยตรง จำนวน 46,175 เล่ม จัดสรรผ่านสมาคมผู้พิการ รวมทั้งผ่านสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย และองค์การทหารผ่านศึก 153,927 เล่ม รวมเป็นสลากที่จัดสรรให้ผู้พิการ 200,155 เล่ม จากจำนวนสลากที่พิมพ์ออกจำหน่ายทั้งหมด 740,000 เล่ม คิดเป็นสัดส่วนสลากที่จัดสรรให้กับผู้พิการร้อยละ 27.04 ของจำนวนสลากทั้งหมด.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2411312

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 6 มิ.ย.65
วันที่โพสต์: 6/06/2565 เวลา 11:31:06 ดูภาพสไลด์โชว์ สลากดิจิทัลพ่นพิษ คนพิการสุดลำบาก รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย