ชาวเน็ตจีนสุดซึ้ง! ชายพิการสายตา ซ้ำป่วยไบโพลาร์ สู้ชีวิตจนกลายเป็น ‘นักแปลอัจฉริยะ’

ชาวเน็ตจีนสุดซึ้ง! ชายพิการสายตา ซ้ำป่วยไบโพลาร์ สู้ชีวิตจนกลายเป็น ‘นักแปลอัจฉริยะ’

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่น "หางโจว เดลี่" ได้ตีพิมพ์บทความ “ลูกชายอัจฉริยะของเรา” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของนักแปลอัจฉริยะ “จิน เสี่ยวอี๋ว์” (金晓宇) จากคำบอกเล่าของพ่อของเขา “จิน ซิ่งหย่ง” (金性勇) สร้างความซาบซึ้งและกระตุ้นต่อมน้ำตาของชาวเน็ตเป็นอย่างมาก

“คุณเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับลูกชายของพวกเราได้ไหม ลูกชายของฉันเป็นสุดยอดนักสู้ ตอนนี้เขาอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชและแม่ของเขาก็เพิ่งเสียชีวิต” คำขอของชายผู้เป็นพ่อ นำไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวสู่สาธารณชน

จินซิ่งหย่ง เล่าว่า ครอบครัวของเขามีด้วยกัน 4 คน ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกชาย 2 คน โดย เสี่ยวอี๋ว์ เป็นลูกชายคนเล็ก

เสี่ยวอี๋ว์ ในวัย 6 ขวบ ได้สูญเสียดวงตาข้างซ้ายจากอุบัติเหตุ ในช่วงมัธยมปลายเขาเริ่มมีอารมณ์แปรปรวน พังข้าวของเสียหาย เริ่มเก็บตัวและพูดน้อยลง ท้ายที่สุดเขาถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์อาการป่วยนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก แม้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ไม่สามารถเรียนจนจบ ครั้งหนึ่ง เสี่ยวอี๋ว์ เคยฆ่าตัวตาย แต่ครอบครัวช่วยไว้ได้ทัน สุดท้ายเขาก็ต้องไปโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาในทุกๆปี

ชาวเน็ตจีนสุดซึ้ง! ชายพิการสายตา ซ้ำป่วยไบโพลาร์ สู้ชีวิตจนกลายเป็น ‘นักแปลอัจฉริยะ’

“เรียนไม่จบ ไม่มีงานทำ ไม่แต่งงาน ไม่เป็นไร เรารับได้ทั้งนั้น ขอแค่ลูกมีชีวิตอยู่ก็พอ” พ่อของเขากล่าว

เส้นทางชีวิตที่ดูมืดมนและยากลำบาก แต่ด้วยกำลังใจที่ดี แรงสนับสนุนจากครอบครัวและความตั้งใจที่แน่วแน่ ทำให้เขาลุกขึ้นมาอีกครั้ง

เสี่ยวอี๋ว์ กลับมาทุ่มเทอย่างหนักในการศึกษาด้วยตนเองอย่างน่าทึ่ง จนได้รับอนุปริญญาจากการศึกษาด้วยตนเอง จากสาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง และเขาไม่หยุดเพียงเท่านั้น เขายังศึกษาภาษาต่างประเทศอีกหลายภาษา ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาเยอรมัน

การเรียนภาษาด้วยตนเองนั้นไม่ง่ายเลย แต่เสี่ยวอี๋ว์ ก็ไม่ยอมแพ้ เขาใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานในการต่อยอดการเรียนภาษาที่สามและภาษาที่สี่ โดยสำหรับภาษาเยอรมัน เขาเริ่มเรียนรู้จากการอ่านหนังสือสอนภาษาเยอรมัน จากนั้นเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับการแปลแบบมืออาชีพ อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วจึงหันมาอ่านนวนิยายภาษาเยอรมัน ซึ่งเขาจะอ่านนวนิยายต้นฉบับภาษาต่างๆอย่างน้อย 20 เล่มสำหรับทุกๆภาษาที่เขาเรียน ถ้ามีคำไหนที่ไม่เข้าใจก็ค้นหาความหมายของคำเหล่านั้นจากพจนานุกรมที่ทั้งใหญ่และหนาในห้องสมุดมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง

เสี่ยวอี๋ว์ ฝึกฝนภาษาต่างๆ จนชำนาญและเริ่มต้นการเป็นนักแปลเมื่อ 10 ปีก่อน ปัจจุบันได้แปลหนังสือจากภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่นและภาษาเยอรมันไปกว่า 22 เล่ม ซึ่งครอบคลุมหลายหลายหมวด เช่น นวนิยาย ภาพยนตร์ ดนตรี ปรัชญา ฯลฯ

ชาวเน็ตจีนสุดซึ้ง! ชายพิการสายตา ซ้ำป่วยไบโพลาร์ สู้ชีวิตจนกลายเป็น ‘นักแปลอัจฉริยะ’

สำหรับการแปลหนังสือ “อังเดรย์ ทาร์คอฟสกี้ : องค์ประกอบของภาพยนตร์” (Andrei Tarkovsky : The Elements of Cinema) เสี่ยวอี๋ว์ ใช้วิธีการชมภาพยนตร์ทุกเรื่อง จากการกำกับโดยอังเดรย์ ทาร์คอฟสกี้ ผู้กำกับชื่อดังระดับโลก ผู้เป็นนักเขียนบท และนักทฤษฎีภาพยนตร์ชาวรัสเซีย อย่างน้อยเรื่องละ 2 ครั้ง และถ้ารายละเอียดบางส่วนในภาพยนตร์ที่อ้างอิงเนื้อหาในหนังสือ เขาก็จะย้อนชมฉากนั้นหลายๆครั้ง ก่อนลงมือแปล

“เขาไม่เคยแปลผิด หรือ พิมพ์ผิดเลยสักครั้ง หนังสือทั้ง 22 เล่ม ไม่ง่ายเลยที่จะแปลให้ออกมาถูกต้องและพิมพ์ถูกทั้งหมด และที่สำคัญหนังสือที่เขาแปลนั้น ขายดีทุกเล่ม” สต๊าฟในกองบรรณาธิการกล่าว

หลังจากแปลเสร็จสิ้น และหนังสือถูกตีพิมพ์ออกมา เสี่ยวอี๋ว์ มักตรวจสอบคอมเมนต์และคะแนนที่ผู้อ่านโหวตให้ บนเว็บไซต์จีน โต่วป้าน (豆瓣) ครั้งหนึ่ง เสี่ยวอี๋ว์ เคยเห็นผู้อ่านวิจารณ์และคิดว่าเขาแปลผิดพลาด แต่หลังจากที่ผู้อ่านได้เปรียบเทียบข้อความดังกล่าวกับต้นฉบับโดยละเอียดแล้ว ก็พบว่า เสี่ยวอี๋ว์ แปลได้ถูกต้องและชื่นชมเขาว่าเป็นนักแปลที่ละเอียดรอบคอบ เสี่ยวอี๋ว์ รู้สึกขอบคุณคอมเมนต์เหล่านั้นมาก มันเป็นกำลังใจให้เขาแปลหนังสือต่อไป

แม้มีพรสวรรค์ แต่คำว่า “อัจฉริยะ” แท้จริงแล้วล้วนมาจากความขยันและความเพียร เสี่ยวอี๋ว์ อ่านหนังสือมากมายในห้องสมุด โดยเฉพาะนวนิยายต่างประเทศ เกือบทั้งหมด จะต้องมีชื่อเขาเป็นผู้ยืมด้วยแน่นอน และเมื่อสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เขาใช้วิธีการฟังข่าววิทยุพากย์ภาษาอังกฤษจากสำนักข่าว BBC และข่าวภาษาญี่ปุ่นจากสำนักข่าว NHK จนเมื่อเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ เขาก็ชมภาพยนตร์ต่างประเทศในคอมพิวเตอร์อีกหลายร้อยเรื่อง เพื่อเรียนรู้ภาษาและฝึกฝนการแปล

สิ่งสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลยในการฝ่าฟันอุปสรรค คือ การสนับสนุนจากครอบครัว บ้านของเขาไม่ได้มีฐานะที่ร่ำรวย พ่อจ่ายซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มีราคาสูงถึง 10,000 หยวน (ประมาณ 50,000บาท) รวมทั้งเครื่องพิมพ์ เครื่องสแกน อุปกรณ์ต่างๆและหนังสือจำนวนมากให้กับเขา เสี่ยวอี๋ว์ไม่มีเพื่อน ดังนั้นพ่อและแม่ของเขา จึงเป็นทั้งเพื่อนที่ดีที่สุด ทั้งผู้ช่วยและคนอ่านหนังสือที่เขาแปลเป็นคนแรก แม้เขาจะโชคร้ายที่พิการทางสายตาและทรมานจากโรคไบโพลาร์ แต่เขาก็โชคดีที่มีครอบครัวที่อบอุ่นอยู่เคียงข้าง

ช่วงสามปี ที่ผ่านมานี้ เสี่ยวอี๋ว์ ทำงานอย่างหนัก รีบเร่งแปลงานมากมาย อีกทั้งคอยดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์และเป็นผู้ป่วยติดเตียง และพ่อวัย 85 ปี ที่เริ่มเดินไม่ค่อยไหว

เมื่อไม่นานมานี้ แม่ของเขาก็ได้จากไป ซึ่งตัวเขาเองนั้นยังไม่ทราบ เพราะหลังจากที่เขาได้แปลหนังสือ “จดหมายของวอลเตอร์ เบนจามิน” (The Correspondence Of Walter Benjamin) เสร็จ เขาก็เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช และกำลังจะออกจากโรงพยาบาลในเร็วๆนี้ พร้อมกับหนังสือเล่มใหม่ที่กำลังจะวางขาย

หลังจากบทความ “ลูกชายอัจฉริยะของพวกเรา” ได้เผยแพร่ออกไป ก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างท่วมท้น ผู้คนต่างซาบซึ้งกินใจกับเรื่องราวของ เสี่ยวอี๋ว์ และครอบครัว ส่งผลให้หนังสือที่เขาแปลได้รับความนิยมและราคาหนังสือที่เขาแปลนั้นพุ่งสูงขึ้นเป็น 4 เท่า รวมทั้งมีผู้คนมากมายที่ต้องการติดต่อเพื่อช่วยเหลือเขาและครอบครัว

นอกจากนี้ เสี่ยวอี๋ว์ ยังได้รับคำชมและกำลังใจจากชาวเน็ตมากมาย เช่น “เขานั่นเอง คนที่แปลหนังสือที่ฉันชื่นชอบ ขอบคุณที่ไม่ยอมแพ้ ขอบคุณที่แปลผลงานดีๆออกมาและขอบคุณที่ยังมีชีวิตอยู่” และ “เมื่อพบกับแสงสว่าง ชีวิตคนเราย่อมมีค่าเสมอ”

ปัจจุบัน เสี่ยวอี๋ว์ กำลังแปลหนังสือเรื่อง “โครงการอาเขต” (Arcade Project) ของ วอลเตอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) ซึ่งแปลได้ไปครึ่งทางแล้ว และคาดว่าจะตีพิมพ์ในอีกไม่ช้า

ขอบคุณ... https://mgronline.com/china/detail/9650000007263

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 23 ม.ค.65
วันที่โพสต์: 25/01/2565 เวลา 10:35:13 ดูภาพสไลด์โชว์ ชาวเน็ตจีนสุดซึ้ง! ชายพิการสายตา ซ้ำป่วยไบโพลาร์ สู้ชีวิตจนกลายเป็น ‘นักแปลอัจฉริยะ’