ต้นแบบคุมโควิดในโรงเรียนเด็กพิการ "ศรีสังวาลย์เชียงใหม่" โมเดลไข่ 4 สี

ต้นแบบคุมโควิดในโรงเรียนเด็กพิการ "ศรีสังวาลย์เชียงใหม่" โมเดลไข่ 4 สี

ตลอด 1 เดือน หลังให้สถานศึกษาเปิดทำการเรียนการสอนแบบ on site บางแห่งพบนักเรียนติดเชื้อโควิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่จนต้องประกาศปิดเพื่อให้มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น มาตรการควบคุมดูแลการระบาดของแต่ละโรงเรียน จึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนศึกษาพิเศษที่ต้องดูแลเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายซึ่งต้องป้องกันมากกว่าโรงเรียนทั่วไป

นางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ เปิดเผยแนวคิดวิธีการสร้างมาตรการป้องกันโควิดระบาดภายในโรงเรียนซึ่งประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นต้นแบบแซนด์บ็อกซ์ ที่น่าสนใจ

ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาล์เชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2564 รัฐเคยประกาศให้โรงเรียนเปิดเทอมวันที่ 16 พ.ค. ต่อมาสถานการณ์ระบาดภายในประเทศยังคงวิกฤตทำให้ต้องเลื่อนไปเปิด 1 มิ.ย.

"การติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาก็สั่งเลื่อนอีกแต่เราเลื่อนไม่ได้ เพราะว่าทางโรงเรียนได้บอกให้ผู้ปกครองกักตัวพร้อมลูกก่อนมาโรงเรียน 14 วัน ถ้าเลื่อนพ่อแม่เด็กก็ต้องถูกกักตัวอีก 14 วัน กลายเป็นว่าสถานการณ์นั้นทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ก็คือไม่ได้ทำงานไม่ได้ออกไปไหนเกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งเด็กพิการที่โรงเรียนเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ แล้วก็เป็นเด็กยากจนถึงจนมากที่สุดอยู่แล้ว จึงทำให้คุณภาพชีวิตที่ไปอยู่บ้านยากขึ้นไปอีก จึงเป็นความต้องการของผู้ปกครองที่บอกว่าไม่ไหวแล้ว ผอ.ต้องเปิด เราก็เลยเริ่มเปิดตั้งแต่ 30 พ.ค. โดยฝืนมาตรการของจังหวัด แต่ไทม์ไลน์ของเรา เรามั่นใจว่าเด็กปลอดภัย"

"พอเปิดก็ไม่ให้ผู้ปกครองเข้ามาข้างใน เราดูว่าเด็กเดินทางมาจากที่ไหน เพราะที่นี่รับเด็กทั่วประเทศ ไกลสุดมาจาก จ.สตูล และจ.นครศรีธรรมราช เราก็จัดโซนเป็นห้องๆ ว่าเด็กมาจากจังหวัดอะไรบ้าง จนได้ทั้งหมด 17 ห้อง แล้วให้เด็กกักตัว 14 วัน เราก็เปิดเรียนปกติ on site คุณครูของเรายังเดินทางไปกลับได้ พอมาตรการ จ.เชียงใหม่ ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายครู นักเรียน กลับภูมิลำเนา นั่นก็เลยเป็นที่มาว่าเราต้องมากักตัวอยู่ในโรงเรียน กักตัวได้ไม่ถึงอาทิตย์ก็ไม่ไหว คำว่าไม่ไหวคือคุณครูที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางมีปัญหาเรื่องสุขภาพ มีลูกเล็ก ท้อง ดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วยอยู่บ้าน นี่เป็นที่มาว่าเราอยู่ไม่ได้ก็เลยต้องประสานกับศูนย์สุขภาพจิต หรือกรมสุขภาพจิต มาคุยว่าทำอย่างไรให้เราเรียนและอยู่ได้ ครูมีความสุข ปลอดภัย เราจึงคิดโมเดลขึ้นมา เรียกว่าโมเดลไข่ 4 สี" ผอ.รร.ศรีสังวาลย์เชียงใหม่ กล่าว

นางพวงทอง อธิบายโมเดลไข่ 4 สี ได้แก่ 1.เปลือกไข่ เป็นโซนคุณครู เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย และการรับส่งพัสดุ อาหารการกินที่จะส่งเข้ามาข้างใน และเป็นคุณครูกลุ่มเดินทางไปกลับ

2.คุณครูกลุ่มไข่ขาว โดยกลุ่มไข่ขาวกับกลุ่มเปลือกไข่ สามารถเกินทางไปกลับได้ แต่แบ่งเป็น 2 ทีม ซึ่งทีมหนึ่งหากว่าเราควบคุมเต็มที่แล้ว ห้ามคุณครูไปตลาด ห้ามไปห้างสรรพสินค้า มากว่า 6 เดือนแล้ว แต่โรคนี้เราไม่รู้ว่ามันจะอยู่ถึงวันไหน เราควบคุมไม่ได้ ถ้ามีทีมใดทีมหนึ่งติดก็ยังมีอีกทีมหนึ่งคอยทำงาน

3.หลังจากนั้นก็ให้คุณครูอีกกลุ่มมากักตัว 14 วันเป็นไข่้เหลือง เพราะก่อนจะเข้าไปอยู่กับเด็ก 14 วัน เราต้องมั่นใจว่าคุณครูปลอดภัยถึงจะเข้าไปอยู่กับเด็ก ในขณะที่คุณครูกักตัวเสร็จแล้วเข้าไปอยู่กับเด็ก 7 วัน ไป on site แบบเต็มๆ

กลุ่มไข่เหลืองกับไข่ขาวที่กำลังกักตัวอยู่ก็สามารถ ออนไลน์ on hand เข้ามาข้างใน แล้วเราก็วนลูปกันอย่างนี้

4.ไข่แดง คือเด็กนักเรียน เจ้าหน้าที่ คุณครู คนงาน พี่เลี้ยง กลุ่มนี้ไม่ได้ออกไปไหนเลย อยู่แต่ในโรงเรียน

ทั้งนี้ ปัญหาที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลอาหารการกินทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่ในโรงเรียนไม่สามารถมีเตาประกอบอาหาร ทำให้ทางโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ค่าน้ำค่าไฟ เพราะมาอยู่ด้วยกันเยอะ ค่าใช้จ่ายในภาพรวมก็จะเพิ่มขึ้น

"ทำมาได้ระยะหนึ่งก็มีโครงการ Safety Zone in School เป็นโครงการของรัฐ ที่เราทำมามันแบบลูกทุ่งของเรา ต่อมาก็เป็นโครงการของกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษาธิการจับมือกัน เพิ่มความเข้มข้นขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือเรื่อง ATK เราจะสุ่มตรวจทุก 7 วัน ถ้าเป็นที่อื่นเขาจะ ATK ทั้งโรงเรียน แต่เราถือว่าเรามีมาตรการเข้มข้นพอสมควรที่ไม่มีอาการติดเชื้อ ดังนั้นเราก็ประหยัด ATK ของเรา ส่วนของไข่ขาวสุ่ม ATK ทุกๆ 7 วัน และไข่เหลือง เมื่อกักตัวถึงวันที่ 14 แล้ว ก่อนไปหาเด็กเราจะตรวจ ATK ด้วย ส่วนไข่แดง 14 วันเราจะสุ่มตรวจ" นางพวงทอง ฉายภาพมาตรการแบ่งโซน 4สี เพื่อควบคุมป้องกันเชื้อไวรัสไม่ให้ผ่านเข้าไปยังพื้นที่โรงเรียน

ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาล์เชียงใหม่ กล่าวอีกว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่ของทางโรงเรียนเป็นผู้พิการ และมีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องปอด โรคประจำตัว

"ที่เรากังวลว่าถ้าเด็กติดแล้วมันอันตรายถึงชีวิต แล้วส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประจำมาอยู่รวมกันถ้าใครติดมันไม่ใช่แค่ 1 ชีวิต เราไปเยี่ยมบ้านเด็ก เราไปเห็นว่ามันอเนจอนาถเด็กอยู่แบบคุณภาพชีวิตต่ำมาก เรารู้สึกว่าหดหู่ ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยากลำบาก การลดความเหลื่อมล้ำ อยากจะให้มีในนักเรียนด้วย" นางพวงทอง กล่าว

ซึ่งในช่วงโควิด ทาง รร.ศรีสังวาลย์เชียงใหม่ มีปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยวันละ 300-400 ชิ้น นอกจากนี้ ATK ราคาต่อชุดประมาณ 100 กว่าบาท แต่จำเป็นต่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

"ส่วนอื่นๆที่เราต้องการมีอะไรบ้าง หากในสถานการณ์ปกติจะมีผู้ใหญ่ใจดีมาบริจาค มาดูแล มาให้กำลังใจ เนื่องจากส่วนหนึ่งเรามีเด็กที่สูญเสียความรู้สึกท่อนล่าง ต้องใช้แพมเพิร์ส 4 ชิ้นหนึ่งคนต่อวัน เรามีเด็กกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 60-70 คน เรื่องนี้รัฐเข้าไม่ถึงแล้ว ปกติที่ไม่มีไวรัสไม่มีโรค เราก็มีปัญหาของเราอย่างนี้อยู่แล้ว ปัญหาต่อมาคือสื่ออำนวยความสะดวก เช่น วีลแชร์ วอลค์เกอร์ช่วยเดิน หรือเครื่องช่วยอำนวยความพิการต่างๆ รัฐเข้าไม่ถึง ต้องขอนับบริจาค 100 % ณ ขณะนี้ การจัดการเรียนรู้ของเราเป็นปกติ เด็กๆได้เรียนรู้ สามารถแข่งขันทางออนไลน์ไปถึงระดับโลกแล้ว ตอนเย็นๆเราเปิดสวน Smart Farm ให้เด็กๆเดินเข็ญรถ ปลูกผัก เขาจะได้มีความสุข"

"ที่เด็กมาอยู่ที่นี่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนึ่งคือช่วยลดภาระคุณพ่อคุณแม่ สอง เด็กๆก็ยังได้รับการพัฒนาปกติ สาม คุณครูของเราแม้ลำบากก็ยังทำงานได้ สี่คือไข่ 4 สีของเรายังเป็นต้นแบบให้เชียงใหม่ทั้งโรงเรียนประจำ และโรงเรียนปกติ ไปบูรณาการ หรือโรงงานถ้ามีพนักงานเกิน100 คนก็สามารถนำรูปแบบของเราไปปรับใช้ตามบริบทของแต่ละโรงงานได้ สุดท้ายแล้ว สธ.กับศธ. ได้มาเห็นรูปแบบเราก็เอาไปเป็นต้นแบบทั่วประเทศแล้วนำไปนำเสนอ UN ด้วย" นางพวงทอง กล่าว

ขอบคุณ... https://www.hfocus.org/content/2021/11/23800

ที่มา: hfocus.org/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 29 พ.ย.64
วันที่โพสต์: 30/11/2564 เวลา 10:49:02 ดูภาพสไลด์โชว์ ต้นแบบคุมโควิดในโรงเรียนเด็กพิการ "ศรีสังวาลย์เชียงใหม่" โมเดลไข่ 4 สี