ไมโครซอฟท์หนุน AI ระดับโลกเข้าไทย มอบทุน-ขับเคลื่อน 3 โปรเจกต์ยักษ์

ไมโครซอฟท์หนุน AI ระดับโลกเข้าไทย มอบทุน-ขับเคลื่อน 3 โปรเจกต์ยักษ์

ไมโครซอฟท์ปูทาง 3 โครงการ AI ระดับโลกเข้าไทยจริงจัง สนับสนุนทรัพยากรคลาวด์ให้ “วัลแคน โคอะลิชั่น” (Vulcan Coalition) เปิดโลก AI สร้างโอกาสให้ผู้พิการเดินหน้าสู่ความเท่าเทียม พร้อมมอบทุนสนับสนุนจากโครงการ AI for Earth ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนุนการสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ ผ่านนวัตกรรม AI คู่ขนานไปกับการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มข้อมูลและ AI เพื่อการสาธารณสุข ให้กระทรวงสาธารณสุขและสตาร์ทอัปไทย Feedback180 ร่วมต้านภัยโควิด-19

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว เส้นทางการพัฒนานวัตกรรม AI เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น และยังมีโอกาสอีกมากให้ทุกฝ่ายได้ค้นหาและสร้างสรรค์ต่อไป ในภาคธุรกิจ AI ได้พิสูจน์ตัวเองไปแล้วในฐานะเทคโนโลยีที่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจให้พลิกรูปแบบและเติบโตต่อไปได้ แต่บริษัทเชื่อว่า AI สามารถยังมีศักยภาพอีกมากในการทำให้โลกเติบโตอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

“AI สร้างโอกาสให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ทุกคน เรากำลังเปลี่ยนความเชื่อนี้ให้กลายเป็นความจริงผ่านโครงการ AI for Good ซึ่งพร้อมสนับสนุนให้นักคิดในประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีมาสานฝันของพวกเขาให้เป็นจริง”

ไมโครซอฟท์เลือกสานต่อพันธกิจในการเสริมศักยภาพ AI ด้วยการนำโครงการระดับโลก “AI for Good” มาสู่ประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม AI สรรค์สร้างแนวคิดและแนวปฏิบัติใหม่ที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่คนไทยในทุกระดับและทุกภูมิภาค บนพื้นฐานของความปลอดภัยและไว้ใจได้ สร้างความอุ่นใจให้แก่ทุกคน โดยโครงการนี้จะเปิดโอกาสให้นักคิด นักสร้างสรรค์ในไทยได้ใช้ศักยภาพทางเทคโนโลยีเต็มรูปแบบจากคลาวด์และ AI ของไมโครซอฟท์ เพื่อจุดประกายการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน เปิดกว้าง และเท่าเทียมยิ่งขึ้น

ไมโครซอฟท์หนุน AI ระดับโลกเข้าไทย มอบทุน-ขับเคลื่อน 3 โปรเจกต์ยักษ์

สำหรับโครงการ AI for Good ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 โดยปัจจุบันครอบคลุมการพัฒนาใน 5 ด้าน ได้แก่ AI for Earth - การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก AI for Health - การสร้างเสริมสุขภาพทั้งในระดับตัวบุคคลและชุมชน AI for Accessibility - การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้มีความบกพร่อง AI for Humanitarian Action - การยกระดับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้อพยพและไร้ถิ่นฐาน พร้อมปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงความต้องการพื้นฐานของผู้หญิงและเยาวชน และ AI for Cultural Heritage - การรักษามรดกและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่า

ในส่วน AI เพื่อความเท่าเทียม “วัลแคน โคอะลิชั่น” อาสเป็นเปิดประตูสู่โอกาสจาก AI ให้แก่ผู้ที่มีความบกพร่อง โดยบริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งพัฒนา AI ด้วยทรัพยากรข้อมูลจากฝีมือของผู้พิการ ถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่าคนทุกคนมีความสามารถพิเศษเฉพาะของตัวเอง ซึ่งแนวคิดนี้ได้จุดประกายโครงการล่าสุดของทางบริษัท นั่นคือการสร้างสรรค์โซลูชันฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อาการป่วย และเช็กอินเมื่อเข้าสู่สถานที่หรืออาคารต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถใช้กล้องตรวจสอบว่าแต่ละคนใส่หน้ากากอยู่หรือไม่ ด้วยระบบ AI ที่ทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Azure ทีมงานของวัลแคนตระหนักดีว่าการฝึกสอน AI ที่สามารถแยกแยะภาพใบหน้าคนใส่หน้ากากได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลภาพถ่ายจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ทางทีมงานจึงตัดสินใจนำกลุ่มผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินให้เข้ามามีบทบาท ใช้ความไวในการสังเกตการณ์ด้วยสายตามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบการฝึก AI ในระบบ Vulcan Data Labeling Platform เพื่อสร้างความสามารถที่เหนือขึ้นไปอีกให้แก่ระบบ

น.ส.เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น กล่าวว่าในประเทศไทย การพัฒนา AI ยังมีขีดจำกัดจากปริมาณข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการรับรองความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของ AI ในการใช้งานจริง การชักชวนให้ผู้พิการเข้ามาสวมบทบาทผู้ฝึก AI ในโครงการ AI Trainers by Disabilities จะช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดนี้และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการจ้างงานไปพร้อมๆ กัน

“ในท้ายที่สุดแล้ว จะช่วยให้สังคมสนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่นี้ เราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ ควบคู่กับความร่วมมือกับพันธมิตรที่เหมาะสม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้แน่ใจว่าโอกาสที่เรามอบให้จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีความต้องการโอกาสนั้นมากที่สุดได้”

เพื่อเป็นการสานต่อศักยภาพของระบบนี้ วัลแคน โคอะลิชั่น ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency หรือ DEPA) และบริษัทเอกชนจากหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมผู้พิการด้วยทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็น และช่วยให้พวกเขาก้าวต่อไปได้ในยุคดิจิทัล ในฐานะผู้ฝึก AI

นอกจากนี้ ทีมวัลแคน โคอะลิชั่น ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะในการแข่งขัน AI for Accessibility Virtual Hackathon ในประเทศไทย โดยการแข่งขันดังกล่าวเปิดให้พันธมิตรของไมโครซอฟท์ นักพัฒนาอิสระ สตาร์ทอัป และมหาวิทยาลัยใน 9 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ได้เข้าชิงชัยด้วยการคิดหาวิธียกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการและผู้ที่มีความบกพร่องใน 3 ด้าน คือ ความปลอดภัยและสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน การสื่อสารและสานสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการทำงาน

คณะกรรมการจากไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิคนตาบอดไทย มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาผู้พิการ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ตัดสินให้ทีมวัลแคน โคอะลิชั่น ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยได้รับเงินรางวัลพร้อมด้วยสิทธิพิเศษเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลงานต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและการสนับสนุนอื่นๆ ในกรณีที่ยื่นขอรับทุนจากโครงการ AI for Good การลิสต์รายชื่อบนเว็บไซต์ Microsoft Azure Marketplace และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับ AI เพื่อสิ่งแวดล้อม โครงการ “Sensor for All” โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอหนทางสร้างความตระหนักรู้เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านมลพิษทางอากาศของประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล โดยเมื่อฤดูหนาวมาเยือน หมอกควันสีน้ำตาล-เทาที่คุ้นเคยก็จะลอยปกคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร จนทำให้การใส่หน้ากากอนามัยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนเมือง นับตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ภายใต้จุดมุ่งหมายที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งโครงการ Sensor for All เพื่อรวบรวมความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากหลากหลายอุตสาหกรรมและภาคส่วนมาเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นี้ร่วมกัน ซึ่งในปี 2561 โครงการดังกล่าวได้ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ AI for Earth ของไมโครซอฟท์ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทีมงาน Sensor for All ได้รับทรัพยากรบนระบบคลาวด์ของไมโครซอฟท์รวมเป็นมูลค่า 30,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของโครงการ รวมถึงการสร้างแดชบอร์ดข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ที่ทำงานบนแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Azure ด้วย

โครงการ Sensor for All ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 อย่างเต็มตัวแล้ว โดยยังคงได้รับการสนับสนุนจากโครงการ AI for Earth อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนงานเพื่อขยายเครือข่ายเซ็นเซอร์ไปยัง 500 จุดทั่วประเทศ นอกจากจำนวนเซ็นเซอร์ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว อุปกรณ์แต่ละชิ้นยังจะได้รับการตั้งค่าและทดสอบโดยละเอียดเพื่อให้สามารถแยกแยะอนุภาคฝุ่นออกจากอนุภาคอื่นๆ ในอากาศ เช่น ละอองน้ำได้แม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังจะมีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน Sensor for All อย่างเป็นทางการสำหรับสมาร์ทโฟนเร็วๆ นี้

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า ตลอดปีหน้านี้ระบบคลาวด์ของไมโครซอฟท์จะเข้ามาช่วยขยายความสามารถของโครงการ Sensor for All ในหลายๆ ด้าน นอกเหนือจากการรายงานการวัดค่า AQI PM 2.5 และ PM 10 แบบเรียลไทม์แล้ว ทีมกำลังคิดค้นวิธีที่แม่นยำมากขึ้นในการประเมินระดับมลพิษทางอากาศที่ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันแต่ละรายได้สัมผัสจริง และจะใช้ความสามารถของ AI ในการคาดการณ์ระดับมลพิษทางอากาศล่วงหน้า เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเตรียมตัวและป้องกันตนเองได้ดีขึ้น

“เป้าหมายของ AI for Earth คือการนำคลาวด์และ AI มาเติมเต็มศักยภาพการทำงานให้ทีมวิจัยและผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อปกป้องโลกของเรา โดย Sensor for All เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของงานวิจัยและพัฒนาที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงกับทั้งสิ่งแวดล้อมและชีวิตประจำวันของเรา” นายธนวัฒน์ กล่าวเสริม “การขยายขอบเขตของโครงการในปีนี้จะช่วยให้เราได้เข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศเชิงลึกจากแต่ละท้องที่อย่างรวดเร็วฉับไวยิ่งขึ้น ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับการนำมาวิเคราะห์ต่อยอดด้วย AI ก่อนจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุของมลพิษนี้ พร้อมเพิ่มโอกาสในการนำอากาศที่สะอาดสดชื่นกลับสู่ปอดของคนไทย”

ในขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ได้วางเป้าหมายระดับโลกด้านความยั่งยืนในระยะยาว เพื่อมุ่งสู่สถานะคาร์บอนเป็นลบ (Carbon Negative) และคืนน้ำสะอาดสู่สภาพแวดล้อมให้มากกว่าปริมาณน้ำที่ใช้จริง (Water Positive) ภายในปี 2573 ขณะที่ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลมากมายจะถูกนำไปพัฒนาให้เกิดเป็น “คอมพิวเตอร์เพื่อโลก” (Planetary Computer) ที่รองรับการจำลองและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพแวดล้อมทั่วโลก เปิดประตูสู่การค้นพบใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบนิเวศรอบตัวเรา พร้อมสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย

ด้าน AI เพื่อการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจะดึงพลังจากข้อมูลเพื่อต้านภัยโควิด-19 ด้วยความคล่องตัวในการจัดการทรัพยากร

เมื่อไม่นานมานี้ ไมโครซอฟท์ได้ให้การสนับสนุนกับ Feedback180 สตาร์ทอัปไทยผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ ในการร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพัฒนาแดชบอร์ด (dashboard) กลางสำหรับติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์และทรัพยากรทางการแพทย์ทั่วประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงเตียง เวชภัณฑ์ ยา หรือแม้แต่บุคลากร เพื่อรับมือกับการระบาดได้อย่างทันท่วงที พร้อมให้หน่วยงานกลางสามารถสั่งการได้จากข้อมูลที่มีความแม่นยำเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 และยังเสริมประสิทธิภาพให้โรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดได้คล่องตัวและฉับไวยิ่งขึ้น

ระบบแดชบอร์ดนี้พัฒนาขึ้นโดยใช้ Power BI เครื่องมือวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงลึกจากไมโครซอฟท์ ซึ่งทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Azure เพื่อสมรรถนะและความยืดหยุ่นสูงสุดในการใช้งานจริง โดยนอกจากการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบความแม่นยำแล้ว ระบบนี้ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยเพื่อประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ให้โรงพยาบาลในแต่ละท้องที่สามารถเตรียมการรับมือและช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที

ขอบคุณ... https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9630000121206

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 25 พ.ย.63
วันที่โพสต์: 25/11/2563 เวลา 13:07:52 ดูภาพสไลด์โชว์ ไมโครซอฟท์หนุน AI ระดับโลกเข้าไทย มอบทุน-ขับเคลื่อน 3 โปรเจกต์ยักษ์