"นฤมล" เล็งช่วยเหลือคนพิการ เพิ่มทักษะ สร้างอาชีพ เสริมเศรษฐกิจประเทศ

"นฤมล" เล็งช่วยเหลือคนพิการ เพิ่มทักษะ สร้างอาชีพ เสริมเศรษฐกิจประเทศ

รมช.แรงงาน เล็งพัฒนาทักษะฝีมือให้คนพิการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง-มีคุณภาพชีวิตที่ดี เสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.63 ที่กระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมหารือกับ นายประหยัด ทรงคำ ผู้อำนวยการมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจังหวัดเชียงใหม่ นายณรงค์ศักดิ์ อัจฉรานุวัฒน์ อธิบดีศาลแรงงานภาค 1 สระบุรี และ นางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลเชียงใหม่ โดยมี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ

โดย ศาสตราจารย์นฤมล กล่าวว่า การพัฒนาทักษะฝีมือให้กับคนพิการ เป็นภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และตนมีนโยบายการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ ให้แก่กำลังแรงงานของประเทศทุกกลุ่มเป้าหมาย ตามแนวทาง สร้าง ยก ให้ ซึ่งการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับคนพิการจะอยู่ในส่วนของการให้ คือ การให้โอกาสแก่กลุ่มเปราะบาง ให้ได้รับความช่วยเหลือและเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง ทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานกลุ่มสตรี ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต และการทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญมาโดยตลอด จึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การเพิ่มทักษะ และส่งเสริมการจ้างงาน

คนพิการที่อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 15-60 ปี มีจำนวน 819,550 คน ประกอบอาชีพ จำนวน 271,916 คน คนพิการในวัยทำงานที่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ จำนวน 330,339 คน และมีคนพิการในวัยทำงานที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำนวน 217,295 คน นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า การประกอบอาชีพของคนพิการจะอยู่ในอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้างคิดเป็นร้อยละ 78 ซึ่งคนพิการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชนบท (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2560)

ด้าน นายประหยัด ทรงคำ ผอ.มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ระหว่างปี 2560-2561 มีครอบครัวคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมจากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนไปแล้ว 4 รุ่น จำนวน 547 ครอบครัว นำความรู้ไปประกอบอาชีพในเขตภาคเหนือและภาคกลาง หลักสูตรที่ดำเนินการจัดฝึกอบรม เช่น การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน การเลี้ยงจิ้งหรีด การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปการตลาด การบัญชีและการจัดการ เป็นต้น โดยในแต่ละหลักสูตรจะเป็นการฝึกในภาคทฤษฎี 93 ชั่วโมงและมีการฝึกปฏิบัติ 507 ชั่วโมง รวม 600 ชั่วโมง (100 วัน) หลักสูตรดังกล่าวได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

นายประหยัด กล่าวต่อว่า ในปี 2561 มีคนพิการและผู้ดูแลคนพิการมากกว่า 500 คน ยื่นขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ขอรับการอบรมอาชีพอิสระหรือได้รับการจ้างงาน การเข้าพบ รมช.แรงงานในวันนี้ เพื่อขอความช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงาน ผลักดันและประสานกับสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ความร่วมมือรับคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเข้าทำงาน โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในเชิงนโยบาย ขอให้กระทรวงแรงงานช่วยผลักดันและประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เงินกองทุนดังกล่าว เพื่อฝึกอบรมและจ้างงานให้มากขึ้น

"หากคนพิการได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพด้านต่างๆที่เหมาะสม จะช่วยให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคม โดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น ต้องส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำอย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป เพื่อจะสามารถเป็นพลังที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปได้ ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่" รมช.แรงงาน กล่าว

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/local/1932844

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 ก.ย.63
วันที่โพสต์: 21/09/2563 เวลา 11:26:10 ดูภาพสไลด์โชว์ "นฤมล" เล็งช่วยเหลือคนพิการ เพิ่มทักษะ สร้างอาชีพ เสริมเศรษฐกิจประเทศ