“ช่างเก้า”แม้ไร้ขา ฟันฝ่าทุกขีดจำกัดหาเลี้ยงครอบครัว ประดิษฐ์รถสามล้อต้นแบบสำหรับผู้พิการสำเร็จ!

“ช่างเก้า”แม้ไร้ขา ฟันฝ่าทุกขีดจำกัดหาเลี้ยงครอบครัว ประดิษฐ์รถสามล้อต้นแบบสำหรับผู้พิการสำเร็จ!

รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ช่างเก้า” ผู้ไร้ขา แต่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคจากความพิการ มุมานะทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ด้วยการเป็น “ช่างซ่อมรถ” ความเป็นยอดนักสู้ของช่างเก้า ไม่เพียงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป แต่ยังได้รับพระราชกระแสชมเชยจากในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกด้วย

นพเก้า นาแป้น หรือช่างเก้า แม้เกิดมาอาภัพพิการไร้ขา แถมมีนิ้วมือแค่ 9 นิ้ว แต่เขาไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา มุมานะทำงาน นอกจากไม่เป็นภาระสังคม ยังหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้อีกด้วย ทั้งยังเป็นคนที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณอย่างสูง

พิการแต่กำเนิด แม้พ่อเสียใจที่ลูกพิการ แต่สุดท้ายก็รัก!

“เห็นลูกไม่มีขา หมอตำแยบอก อ้าว! ลูกแกไม่มีขา พ่อเขาก็เสียใจ เดินออกไปเลย ไม่เอา พออยู่มา แกก็รักของแก อยากได้ของเล่นอะไร พ่อก็ซื้อให้ทุกอย่าง ซื้อให้เป็นกระสอบๆ เลย ต้องอุ้มไปนะ อุ้มไปตลาด ไปเลือกเอาเอง ไปโพธาราม (จ.ราชบุรี) อุ้มไป ใครเห็น เขาก็สงสาร จะให้สตางค์ ไม่เอา ไม่ได้มาขอทาน” คุณยายสำเนียง นาแป้น แม่ของช่างเก้ากับวัย 91 ย้อนความหลังของลูกชายให้ฟัง

“ช่างเก้า”แม้ไร้ขา ฟันฝ่าทุกขีดจำกัดหาเลี้ยงครอบครัว ประดิษฐ์รถสามล้อต้นแบบสำหรับผู้พิการสำเร็จ!

ใครจะคิดว่า คนไร้ขา สามารถเป็นช่างซ่อมรถได้

“(ถาม-วัยเด็กใช้ชีวิตอย่างไร?) ก็เลี้ยงกุ้งเลี้ยงแพะ เลี้ยงวัวควายไปเรื่อยเปื่อย อยู่กับพ่อแม่ (ถาม-แล้วมาเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ได้อย่างไร?) แม่มาฝากไว้ที่ร้านนี้ ก็ปะรถปะยาง ล้างเครื่องไปเรื่อย เริ่มด้วยการเป็นลูกมือช่างตั้งแต่อายุ 12-13 (ถาม-ทำไมสนใจอยากเป็นช่าง?) มีรถสามล้ออยู่คันหนึ่ง มันเสียบ่อย ทำทุกวันๆ ก็โมโห เลยมาขอฝึกกับเขา (ถาม-วัยเด็กได้เรียนหนังสือไหม?) เรียนจบ ป.3 ครึ่ง เพราะไม่ชอบเรียน”

แม้ไร้ขา ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต!

“(ถาม-นอกจากซ่อมรถ ทำอะไรได้อีกบ้าง?) ตัดกระถิน ทำกับข้าว ล้างจาน ซักเสื้อผ้า ทำได้หมดทุกอย่าง”

ทุกวันนี้ ช่างเก้า ภรรยา และลูกสาว พักอาศัยอยู่ในที่ดินของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองข่อย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี บางครั้งหลังคาบ้านต้องซ่อมแซม ช่างเก้า ซึ่งไร้ขา ก็สามารถปีนหลังคาเพื่อซ่อมเองได้ นอกจากทำงานหาเลี้ยงครอบครัวแล้ว ช่างเก้ายังแวะเวียนดูแลแม่ก่อนไปทำงานทุกวัน

“ช่างเก้า”แม้ไร้ขา ฟันฝ่าทุกขีดจำกัดหาเลี้ยงครอบครัว ประดิษฐ์รถสามล้อต้นแบบสำหรับผู้พิการสำเร็จ!

ลูกค้าชม ช่างเก้า แม้ไร้ขา แต่ซ่อมรถเก่งกว่าคนมีขา!

“เขาขยันนะ ทำเป็นทุกอย่าง กระโดดขึ้นกระโดดลง เก่ง ทำได้ ทำดีกว่าคนปกติทั่วไป” ลูกค้าที่เคยมาซ่อมรถการันตีฝีมือช่างเก้า

“(ถาม-เวลาลูกค้าใหม่มา เห็นสภาพเราอย่างนี้ มีคนคิดไหมว่า อย่างนี้จะไหวไหม?) มี เขายังบอกว่า เก่งนะ เขามาซ่อมแล้ว บางครั้งเขาต้องกลับมาซ่อมใหม่ เขาบอกว่าซ่อมดี ไม่ใช่ว่าเราคุยว่าตัวเราดีหรอกนะ ผมไม่ได้มา 2-3 วัน เขาก็ต้องรอผมซ่อม”

แม้ช่างเก้าจะซ่อมรถเก่ง ฝีมือดี และมีอู่อื่นชวนไปอยู่ด้วย แต่ช่างเก้า ที่สำนึกเปี่ยมด้วยความกตัญญู ยืนยันจะไม่ทิ้งอู่นี้

“(ถาม-ทำงานที่นี่ 30-40 ปี เก่งๆ อย่างนี้ มีอู่ใหญ่ๆ ชวนไปอยู่ด้วยไหม?) มี (ถาม-แล้วทำอย่างไร?) ผมไม่ไป เราซ่อมรถเป็นจากตรงนี้ ผูกพันกับที่นี่ ให้เขาเลิกก่อนดีกว่า ไม่อย่างนั้นก็รอให้ตายกันไปข้างหนึ่ง แล้วค่อยว่ากัน เราได้วิชาความรู้ ได้มีกินมีใช้จากตรงนี้ แม้เถ้าแก่ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ใหญ่สอนเราจะไม่อยู่แล้ว แต่จะดูแลอาจารย์หญิงสืบต่อไป”

ช่างเก้า ไม่ใช่ซ่อมได้แค่รถมอเตอร์ไซค์ แต่รวมถึงเครื่องตัดหญ้าเครื่องตัดไม้ ซ่อมได้หมด ไม่เท่านั้นด้วยความมานะพยายาม ช่างเก้ายังสามารถประดิษฐ์ดัดแปลงรถมอเตอร์ไซค์ของตนเอง จนเป็นรถสามล้อต้นแบบสำหรับผู้พิการอีกด้วย

“เห็นคนอื่นขี่รถไปเที่ยวได้ เราไม่มีรถ ผมก็คิดค้นว่า เราจะทำยังไงถึงจะขี่รถจักรยานยนต์แบบคนอื่นได้ ผมก็นั่งนอนคิดตั้งแต่มาอยู่ที่ร้านนี้แล้วนะ บังเอิญไปเห็นรถสมัยก่อน จะเป็นสามล้อจักรยาน ข้างหลังเป็นสองล้อ เหมือนสามล้อปั่น ผมก็นึกไอเดียปิ๊งขึ้นมาได้ ถ้าเกิดเราทำเพลากลางอย่างนี้ เป็นตุ๊กตาวิ่งตรงกลาง 2 อัน ให้โรงกลึงเขากลึงสเตอร์ใส่ เราเอามาเทียบใส่ดู เจาะน็อต ลองดู ก็ได้นี่ (ถาม-แสดงว่ารถที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นความคิดสร้างสรรค์?) ของผม คนแรกเลยนะสำหรับรถคนพิการ ที่หน่วยสงวนลิขสิทธิ์ เขายังมาหาผมเลย บอกว่าสงวนลิขสิทธิ์ไหม ผมบอกไม่สงวน เอาไว้ให้คนพิการทำขี่กันเอา ใครจะทำก็ทำไป ให้มาดูตัวอย่างได้ ให้พ่อขายวัวตัวหนึ่ง ซื้อรถเครื่องคันหนึ่ง ผมทำงานอยู่นี่ ผมก็ขอตังค์เถ้าแก่ ซื้อตุ๊กตา ซื้อเหล็ก และซื้อวงล้อขึ้นเอง ให้โรงกลึงข้างในเนี่ย เขากลึงเพลาให้ และมาแปลงทำเอาเอง”

“(ถาม-ทำนานไหมกว่าจะสำเร็จ?) ทีแรกก็อาทิตย์หนึ่ง แปลงผิดแปลงถูก ทีนี้เราเข้าไปปุ๊บ รู้แล้ว อันนี้ผิด เราก็เก็บ จำไว้เป็นครู แปลงใหม่ ทำใหม่ให้ได้มาตรฐาน”

“ช่างเก้า” ภูมิใจกับอาชีพช่างซ่อมรถ แต่ไม่กล้าวางเป้าหมายอนาคต ขอแค่ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน!

“(ถาม-สิ่งที่ได้รับกลับมา เวลาเราทำงานสำเร็จ?) ช่วยแก้ปัญหาให้เขา เขาใช้งานได้ปกติ เราก็ภูมิใจตรงนี้ เขามาใช้บริการเรา เราก็ตอบสนองเขา (ถาม-มองเป้าหมายในอนาคตอย่างไร?) ไม่แน่ จะอยู่ถึงวันพรุ่งหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน ชีวิตคนเราไม่แน่นอน รู้วันเกิด แต่ไม่รู้วันตายนะ เราจะตายวันไหนก็ยังไม่รู้ แต่ตราบใดยังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องทำให้ดี มีหน้าที่อะไร เราก็ต้องรับผิดชอบไป ทำให้ดีกว่าเมื่อวาน”

และสิ่งที่ยิ่งกว่าความภูมิใจ เพราะทำให้ช่างเก้าและครอบครัวรู้สึกปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ ก็คือ การได้รับพระราชกระแสชมเชยจากในหลวง รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 ในฐานะยอดนักสู้ ผู้ฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เป็นตัวอย่างในการต่อสู้อย่างมีศักดิ์ศรี และเป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั่วไป

ช่างเก้ายังฝากให้กำลังใจทุกคนที่วันนี้อาจจะกำลังท้อหรือไม่อยากไปต่อกับสิ่งที่เผชิญอยู่ว่า “ต้องสู้ ท้อได้ แต่อย่าถอย ต้องสู้ ต้องลองทำดู ถ้าไม่ลองทำดู ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ คนทุกคนมีพรสวรรค์กันทุกคน เพียงแต่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง ถ้าเราคิดดีทำดี สิ่งที่ดีๆ ก็จะเข้ามาในชีวิตเรา”

หากท่านใดต้องการช่วยเหลือหรือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของช่างเก้าและครอบครัว สามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี นายนพเก้า นาแป้น เลขบัญชี 708-0-62417-7

ขอบคุณ... https://mgronline.com/news1/detail/9630000088004

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 27 ส.ค.63
วันที่โพสต์: 28/08/2563 เวลา 09:56:11 ดูภาพสไลด์โชว์ “ช่างเก้า”แม้ไร้ขา ฟันฝ่าทุกขีดจำกัดหาเลี้ยงครอบครัว ประดิษฐ์รถสามล้อต้นแบบสำหรับผู้พิการสำเร็จ!