แหล่งเงินทุนสำหรับผู้พิการ กู้ยืมเงิน 5 ปี ไม่มีดอกเบี้ย 100%

"กกท." มอบกระเช้าให้กำลังใจนักปิงปองคนพิการ หลังบุตรสาวต้องผ่าตัดหัวใจ

ไหน ๆ ก็เคยเขียนบทความเรื่อง “วิกฤติไวรัสโควิด-19 กับการช่วยเหลือผู้พิการ (ทั้งก่อนและหลังการระบาด)” มาแล้ว ในบทความดังกล่าวเสนอเรื่องราวแบบภาพรวมในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงสิทธิเรื่องการลดหย่อนภาษีด้วย แต่มีภาคต่อในเรื่องของการกู้ยืมเงินจาก “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”

ที่จำเป็นต้องมีภาคต่อ เพราะเราเอาเรื่องนี้ไปคุยกับแม่ แล้วก็มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย จึงอยากนำรายละเอียดมาแชร์ เผื่อว่าจะมีประโยชน์กับผู้พิการ ที่สำคัญก็คือ “ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ” ก่อนเป็นอันดับแรกเลย

ต้องนำเงินกู้ยืมไปประกอบอาชีพ :

ผู้พิการและผู้ดูแลผู้พิการที่มีชื่ออยู่หลังบัตร สามารถขอกู้ยืมเงินได้ในวงเงิน 60,000 บาท ต่อผู้พิการ 1 คน แต่หากต้องการวงเงินมากกว่านี้ ก็จะสามารถขยายวงเงินออกไปได้ที่ 120,000 บาท ในส่วนที่เป็นรายกลุ่ม จะพิจารณาอนุมัติวงเงินได้ถึง 1,000,000 บาท (สมาชิก 2 คนขึ้นไป)

มีเงื่อนไขว่า ต้องนำเงินกู้ยืมนี้ไปประกอบอาชีพด้วย ย้ำ! ต้องนำไปประกอบอาชีพจริง ๆ เพราะก่อนที่จะอนุมัติสินเชื่อส่วนนี้ จะมีเจ้าหน้าที่กองทุนลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างละเอียด และเราต้องไม่ใจร้อน เพราะใช้เวลาในการเข้าคิวตรวจสอบนานกว่า 3 เดือน

เป็นเงินกู้ยืมที่ไม่มีดอกเบี้ย :

เงื่อนไขหนึ่งข้อที่ผู้พิการได้รับเป็นพิเศษก็คือ เป็นการกู้เงินที่ไม่เสียดอกเบี้ยเลย ตลอดเวลา 5 ปี ดังนั้นหากคำนวณที่เงินกู้ 60,000 บาท ก็เท่ากับว่า จะต้องจ่ายคืนปีละ 12,000 บาท หรือเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน จะเห็นว่าหากนำเงินก้อนนี้ไปประกอบอาชีพ ก็ย่อมมีรายได้เข้ามา และการจ่ายคืนเดือนละ 1,000 บาท จะเป็นตัวเลขที่ผ่อนชำระได้ไม่ยากเลย นับได้ว่าทางรัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการให้ผู้พิการได้พัฒนาคุณภาพชีวิตโดยแท้

ในเบื้องต้นหากครบ 5 ปี หรือชำระคืนก่อน 5 ปีได้ และต้องการเงินทุนเพิ่มในการขยายกิจการ ก็จะสามารถกู้ยืมได้ต่ออีก และมีโอกาสได้ทุนมากกว่า 60,000 บาทอีกด้วย

ต้องมีผู้ค้ำประกัน :

เรื่องนี้หลายครอบครัวอาจหนักใจอยู่บ้าง เพราะจะหาคนค้ำประกันไม่ค่อยได้ แต่จริง ๆ แล้วสามารถให้คนในครอบครัวค้ำประกันได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีเงินเดือนแน่นอน เพราะทางกองทุนจะต้องให้ทางบริษัทช่วยออกหนังสือรับรองเงินเดือนประกอบด้วย ซึ่งเรื่องนี้ในครั้งแรกอาจมีการพูดต่อ ๆ กันมาว่า ผู้ค้ำประกันต้องไม่ใช่คนในครอบครัว แต่จากประสบการณ์ของผู้กู้จริง ๆ ได้บอกเราว่า สามารถให้คนในครอบครัวค้ำประกันได้ ดังรายละเอียดที่กล่าวไปแล้ว

จะมีคำถามเพิ่มเติมว่าติดเครดิตบูโร จะสามารถยื่นกู้ได้หรือไม่ ส่วนนี้ในรายละเอียดบอกไว้เพียงว่า ผู้ค้ำประกันต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนอื่น ๆ อาจต้องมีการพิจารณากันเป็นราย ๆ ไป แต่ผู้ดูแลคนพิการต้องมีชื่อหลังบัตรไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ดังนั้นในมุมมองของเรา หากครอบครัวไหนมีผู้พิการ และต้องการเงินทุนในการประกอบอาชีพ เรามองว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีช่องทางในการหารายได้ แต่ต้องบอก (แกมเตือน) เอาไว้ด้วยเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่จะมาตรวจโดยการสุ่ม หรือไม่บอกล่วงหน้า หากเราสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา ก็จะไม่อนุมัติให้ หากเป็นโครงการที่จะทำหลังจากได้รับเงินมาแล้ว ก็อาจจะตรวจสอบกันที่แผนงาน และติดตามผลกันอีกที

“ผู้พิการ” ที่กำลังมองหาอาชีพอิสระ เราคิดว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจอย่างมากเลยทีเดียว และทั้งหมดนี้ คือข้อมูลที่เราไปหามาเพื่อตอบคำถามแม่ เพื่อไม่ให้หายไปกับสายลม จึงขอนำมาส่งต่อในรูปแบบของบทความนะคะ ส่วนเอกสารต่าง ๆ สามารถดูเพิ่มได้ที่ http://dep.go.th/Content/View/1338/2

ขอบคุณ... https://bit.ly/2WArVLE (ขนาดไฟล์: 304)

ที่มา: cities.trueid.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 15 พ.ค.63
วันที่โพสต์: 15/05/2563 เวลา 10:00:38 ดูภาพสไลด์โชว์ แหล่งเงินทุนสำหรับผู้พิการ กู้ยืมเงิน 5 ปี ไม่มีดอกเบี้ย 100%