คนพิการ : เมื่อ ‘สมาร์ทโฟน’ กลายเป็น ‘ดวงตา’ สำหรับคนตาบอด

คนพิการ : เมื่อ ‘สมาร์ทโฟน’ กลายเป็น ‘ดวงตา’ สำหรับคนตาบอด

หลังจาก 'ทราย' สาวน้อยผู้พิการทางสายตา และ 'ลูเตอร์' สุนัขนำทางของเธอ กลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียล โดยมีเฟซบุ๊กเพจ 'ผมชื่อลูเต้อร์' บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของทั้งคู่ และฉายภาพการใช้ชีวิตของคนตาบอดในประเทศไทย

หลายคนเกิดคำถามว่า 'ทราย' เป็นคนตาบอดแล้วใช้โทรศัพท์มือถือในการเล่นเฟซบุ๊กได้อย่างไร จนเธอตัดสินใจทำคลิปวิดีโออธิบาย

จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพียงแค่ 'ทราย' แต่คนพิการทางการมองเห็นหลายคนในประเทศไทย ก็ใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วชนิดที่คุณอาจจะนึกไม่ถึง

"ใครบ้างที่จะรู้ว่าคนตาบอดใช้คอมพิวเตอร์ ใช้มือถือได้เป็นปกติ ใช้ตั้งแต่ตื่นนอนยังไม่ทันแปรงฟันเลย เล่นเฟซบุ๊ก ตั้งนาฬิกาปลุก เช็กดูปฏิทินว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง...ตอบแชท เล่นไลน์ จีบสาว อะไรก็ว่าไป" นายเอกลักษณ์ พรมชาติ คนพิการทางการมองเห็น กล่าวกับบีบีซีไทยพร้อมรอยยิ้ม

บีบีซีไทยพูดคุยกับคนพิการทางการมองเห็น 3 คน ในห้องเล็ก ๆ บนอาคารสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เหนือประตูห้องมีป้ายติดไว้ว่า 'ฝ่ายไอซีที'

คนพิการ : เมื่อ ‘สมาร์ทโฟน’ กลายเป็น ‘ดวงตา’ สำหรับคนตาบอด

คนพิการ : เมื่อ ‘สมาร์ทโฟน’ กลายเป็น ‘ดวงตา’ สำหรับคนตาบอด

ทั้ง 3 คนกำลังยุ่งอยู่กับการเตรียมตัวจัดเฟซบุ๊กไลฟ์ เอกลักษณ์ใช้มือคลำเครื่องขยายเสียงสี่เหลี่ยม ก่อนจะเสียบสายไมโครโฟนเข้าไปอย่างคล่องแคล่ว

ระหว่างนั้น นายจตุพล หนูท่าทอง หัวหน้างานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งมีสายตาเลือนรางมาตั้งแต่กำเนิด เอาหน้าชิดจอคอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมวิดีโอประกอบการไลฟ์ โดยมีเสียงผู้หญิงจากโปรแกรมอ่านหน้าจอ (screen reader) คอยบอกว่าเขากำลังเลื่อนเมาส์ไปอยู่จุดไหน

ในขณะที่นายสิทธิโชค วรอิทธินันท์ คนพิการทางสายตาซึ่งนั่งอยู่ตรงมุมห้อง ทดสอบเสียงซาวด์เอฟเฟกต์ต่าง ๆ และเปิดข้อมูลเนื้อหาเตรียมไว้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมกับให้โปรแกรมอ่านหน้าจอทดลองอ่าน

'โชว์โนอาย' ไม่มีตา แต่ก็ไม่อาย

ไม่นานทั้ง 3 และผู้ดูแลแฟนเพจ ซึ่งเป็นคนพิการทางสายตาเช่นกัน ก็เริ่มถ่ายทอดสด รายการ 'โชว์โนอาย' เผยแพร่ทั้งภาพและเสียงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ 1414 Plus - บริการข้อมูลข่าวสารสำหรับคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างที่ทำเป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี เวลาประมาณ 13.30 น. ถึง 15.00 น.

นายจตุพล เล่าว่า ปกติฝ่ายไอซีทีของสถาบันคนตาบอดฯ จะรับปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว โดยผ่านทางสายด่วน 1414 เรียกว่าบริการ 'หมอคอม' ส่วนรายการ 'โชว์โนอาย' เป็นอีกบริการหนึ่งที่นำความรู้เรื่องเทคโนโลยีมาเล่าให้คนตาบอดและคนตาดีฟัง ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แม้ว่าจะมียอดผู้ชมจำนวนไม่มาก แต่มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น สอบถามปัญหาเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นประจำ

"เขา (คนตาดี) อาจจะไม่ได้คิดเลยว่าคนตาบอด จะสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ตรงนี้เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกันอีกเยอะเลย ว่าคนตาบอดสามารถใช้เทคโนโลยีได้ อีกส่วนหนึ่งที่เราจะต้องคิดก็คือ เราจะทำอย่างไรให้คนตาบอดใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับคนตาดีได้ อันนี้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกเรา" หัวหน้าฝ่ายไอซีที สถาบันคนตาบอดฯ กล่าวกับบีบีซีไทย

กว่าจะมาเป็น 'หมอคอม'

กลายเป็นคำเรียกติดปากของคนตาบอดไทยจำนวนไม่น้อย ยามมีปัญหาด้านคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ก็จะนึกถึงบริการ 'หมอคอม' ของสถาบันคนตาบอดฯ

'หมอคอม' รับหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และแก้ไขปัญหาผ่านทางสายด่วนข่าวสารความรู้ 1414 รวมไปถึงการซ่อมแซมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชำรุดในขั้นพื้นฐาน โดยผู้ที่เริ่มสวมบทบาท 'หมอคอม' คนแรก คือนายสิทธิโชค วรอิทธินันท์ คนตาบอดตาใส เจ้าหน้าที่บริการไอที อายุ 41 ปี

แม้ไม่ได้เรียนจบด้านคอมพิวเตอร์มาโดยตรง แต่สิทธิโชคมีความสนใจและชื่นชอบเรื่องไอทีมาตั้งแต่ยังมองเห็นเลือนราง เขาชื่นชอบการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ในตอนนั้น เมื่อคอมพิวเตอร์มีปัญหาเขาก็เรียนรู้วิธีซ่อมด้วยตัวเอง จนได้เข้าทำงานดูแลคอมพิวเตอร์ของบริษัทแห่งหนึ่ง

เขาบอกกับบีบีซีไทยว่า เพราะเกมคอมพิวเตอร์นี้เอง ทำให้อาการจอประสาทตาเสียของเขาแย่ลง และมองไม่เห็นในที่สุด เมื่ออายุเข้าวัย 30 จนต้องเริ่มหัดเรียนการใช้ไม้เท้าขาวสำหรับนำทาง

"วิทยาลัยก็บอกว่าคุณเริ่มเป็นคนตาบอดแล้วนะ คุณต้องยอมรับ ผมบอกเลยนะครับว่า รับไม่ได้....คือคนที่เป็นคนตาบอดภายหลัง มันก็เกิดปัญหาในเรื่องของความกลัว ความอาย วันหนึ่งเราเคยเดินออกจากบ้านด้วยสองขาตัวเอง ตอนนี้ต้องมีไม้เท้า" 'หมอคอม' กล่าว

หลังจากที่เขาพยายามเรียนรู้การใช้ไม้เท้าขาว และออกเดินทางได้ปกติ เขาจึงเริ่มทำกิจกรรมอื่น ๆ ของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย โดยเรื่องที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือการพยายามเข้าถึงเทคโนโลยี

"มันเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้เราได้รู้ว่า ไอ้คอมฯ ที่อยู่ที่บ้านเราเนี่ย พอเรามองไม่เห็น มันกลายเป็นขยะอยู่ที่บ้าน แต่มันเข้าอินเทอร์เน็ตได้ เล่นเอ็มเอสเอ็น (โปรแกรมสนทนา) ได้ มันเปิดโลกทัศน์ใหม่ ทำให้เรารู้ว่า นี่แหละมันคือทางที่จะพลิกชีวิตจากที่เรานึกว่าเราทำอะไรไม่ได้แล้ว มันมีส่วนที่จะฟื้นคืนสมรรถภาพของเรา...ให้เรากลับมาทำในสิ่งที่เราเคยชอบ ทำในสิ่งที่เราเคยรักได้อีกครั้งหนึ่ง" สิทธิโชคกล่าว

สิทธิโชคเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีสำหรับคนตาบอดอยู่หลายครั้ง ก่อนเริ่มทำงานกับสถาบันคนตาบอดฯ ในฐานะบรรณารักษ์ห้องสมุดเสียง จนกระทั่งผู้อำนวยการ และหัวหน้าฝ่ายไอซีทีของสถาบันคนตาบอดฯ เห็นพ้องต้องกันให้เขาเป็น 'หมอคอม' คนแรก เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่คนตาบอดสอบถามเข้ามาทางสถาบันฯ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยสิทธิโชคและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอซีทีจะอธิบายปัญหาของผู้ที่สอบถามเข้ามาทีละขั้นตอน ซึ่งปัญหาที่สอบถามเข้ามานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของโปรแกรมเฉพาะทางสำหรับคนตาบอด เช่น โปรแกรมอ่านหน้าจอ

นอกจากนั้น เขายังมีงานอดิเรกคือการรีวิวอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเขาลงทุนไปหาซื้ออุปกรณ์นั้นมาจริง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นต่าง ๆ หรือโหลดแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟน เพื่อทดลองลูกเล่นต่าง ๆ ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของคนตาบอดอย่างไรบ้าง

"ที่เพื่อน ๆ (คนตาบอด) ติดตามบริการหมอคอม หรือส่วนงานของคนตาบอดต่าง ๆ มากกว่าที่จะติดตามสื่อที่เขาสามารถที่จะศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะว่าคนตาบอดมีข้อจำกัดอยู่อย่าง คือเราขาดประสาทสัมผัสก็คือดวงตาไป ทำให้เวลาที่คุณบอกว่า เอ้า คลิกที่นี่ หรือกดที่ปุ่มด้านบนนี้ หรือว่าเบอร์โทรติดต่อขึ้นในวิดีโอนี้ เราไม่สามารถที่จะอ่านเห็น หรือไม่สามารถที่จะดู" สิทธิโชคอธิบายถึงสาเหตุที่บริการ 'หมอคอม' แตกต่างจากนักรีวิวคนอื่น

บางแอปพลิเคชัน "ไม่ได้คำนึงถึงคนตาบอดเลย"

"(เทคโนโลยี) มันดีขึ้น มันช่วยทำให้ชีวิตของเรา ไม่ถูกทอดทิ้งไปไกลกว่านั้น...ปัจจุบันเทคโนโลยีมันเข้ามาช่วย เราสามารถสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน เราสามารถเรียกรถแท็กซี่ เราสามารถชอปปิ้งได้...แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวล มันเข้าถึงไม่ได้ทั้งหมด" สิทธิโชคกล่าว

ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนพิการทางการมองเห็นจำนวน 198,407 คน จากข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยสิทธิโชคประเมินว่าคนตาบอดที่เข้าถึงเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์ได้มีน้อยกว่า 10%

เขาหวังให้คนตาบอดมีโอกาสได้ใช้และเรียนรู้เทคโนโลยีได้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา และการประกอบอาชีพ รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันคำนึงถึงการใช้งานของคนตาบอดด้วย

ขณะที่หัวหน้างานฝ่ายไอซีทีของสถาบันคนตาบอดฯ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เทคโนโลยีทำให้คนตาบอดสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น

"จริง ๆ เนี่ยคนตาบอดไม่อยากจะพึ่งพาคนอื่น หรือว่าใครก็ตามเยอะอยู่แล้ว ทุกคนอยากจะมีความอิสระในการดำรงชีวิตของแต่ละคน เราก็อยากจะทำแบบนั้นเหมือนกัน...ถามว่าแล้วอุปกรณ์ที่คำนึงถึงการใช้งานของคนตาบอดมันเยอะหรือยัง ก็ยังน้อยครับ..." นายจตุพล กล่าว

เช่นเดียวกับ นายเอกลักษณ์ พรมชาติ หนึ่งใน 'หมอคอม' ที่ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีโดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ช่วยให้การดำเนินชีวิตของคนตาบอดในประเทศไทยสะดวกขึ้น แต่บางแอปพลิเคชัน "ไม่ได้คำนึงถึงคนตาบอดเลย"

"เราอยากได้สิ่งที่เป็น universal design คือทำมาแล้วใช้ได้เหมือนกันทุกคน...ให้คนตาบอดใช้ได้ ร่วมกับคนตาดี โดยที่ไม่ต้องปรับอะไร ที่มันใช้งานได้โดยที่คำนึงถึงทุกคน ก็จะดีมาก...มันจะมีสักกี่เจ้าไหม ที่บอกว่าเราทำให้คนแก่กับคนตาบอดใช้ได้ด้วยนะ แล้วคนหูหนวกด้วย แล้วคนสายตาสั้นด้วย แล้วคนพิการแขนขาด้วย" เอกลักษณ์ตั้งคำถามทิ้งท้าย

ขอบคุณ... https://www.bbc.com/thai/thailand-49343152

ที่มา: bbc.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 ส.ค.62
วันที่โพสต์: 19/08/2562 เวลา 13:15:19 ดูภาพสไลด์โชว์ คนพิการ : เมื่อ ‘สมาร์ทโฟน’ กลายเป็น ‘ดวงตา’ สำหรับคนตาบอด