สมองพิการป้องกันอย่างไร ถึงจะไม่เกิดขึ้นกับลูกตัวเอง

สมองพิการป้องกันอย่างไร ถึงจะไม่เกิดขึ้นกับลูกตัวเอง

สัปดาห์นี้แพทย์เผยสมองพิการ (ซี.พี.) เป็นโรคความผิดปกติทางระบบประสาทในเด็กเล็ก ส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อการทรงตัว ซ้ำยังทำลายพัฒนาการเด็กช้ากว่าปกติ

ครั้งที่แล้วมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณหมอ พร้อมกับนำข้อมูลของสถานการณ์ “โรคปอมเปย์” ที่เกิดขึ้นกับเด็กทารกจะแสดงอาการหัวใจโต ตัวอ่อนปวกเปียก และเป็นหนึ่งในโรคหายาก ที่สำคัญขอเตือนคุณแม่ที่ตั้งท้องลูกคนที่สอง สามารถเป็นซ้ำได้ 25% แต่ถ้ารู้และรักษาเร็วก็เพิ่มโอกาสให้เด็กรอดตายสูงตามไปด้วย

ในสัปดาห์นี้ขอต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ ท่านไปรู้จักกับ ภาวะสมองพิการ (ซี.พี.) เป็นโรคหนึ่งที่เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทในทารกหรือเด็กเล็ก ทำให้มีพัฒนาการช้ากว่าปกติ

เราไปดูสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะสมองพิการ (ซี.พี.) ???

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า โรคสมองพิการเป็นกลุ่มอาการในผู้ป่วยเด็กที่มีความพิการของสมอง โดยเกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบต่อสมองในช่วงเจริญเติบโตในช่วงวัยเด็ก และส่งผลให้การเคลื่อนไหวและการทรงตัวของร่างกายผิดปกติ ซึ่งอาจมีความผิดปกติของสมองด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การมองเห็น ได้ยิน การเรียนรู้ สติปัญญา และโรคลมชัก เป็นต้น

ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่มักพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ปี โดยสังเกตจากพัฒนาการ “นั่ง-คลาน-เกาะยืน-จ้องมอง” ที่ล่าช้ากว่าอายุ มีการเกร็งแขนขาทั้งสองข้าง หรือซีกใดซีกหนึ่ง เดินไม่ตรง เดินเซ ทั้งนี้เมื่อสังเกตพบความผิดปกติจำเป็นต้องเข้ารับคำปรึกษาโดยตรงจากกุมารแพทย์ทางระบบประสาท เพื่อให้ตรวจเพิ่มเติมอย่างถูกต้อง

แล้วปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะสมองพิการ (ซี.พี.) คืออะไร???

พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา ให้ความรู้ว่า สมองพิการ (ซี.พี.) ในเด็ก มีปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อของแม่ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เอดส์ แม่ได้รับสารพิษ ตะกั่ว ปรอท ความผิดปกติของสมองโดยกำเนิด คลอดก่อนกำหนด หรือภาวะสมองเด็กขาดออกซิเจน การติดเชื้อในสมอง เป็นต้น

การรักษาภาวะสมองพิการ (ซี.พี.) ทำอย่างไร ???

หลังได้รับการวินิจฉัยโรคสมองพิการ (ซี.พี.) การรักษาจะทำเป็นระบบครอบคลุมองค์รวมทุกด้าน เช่น กายภาพบำบัด เพื่อปรับความตึงตัวของกล้ามเนื้อป้องกันการผิดรูปของข้อ พร้อมทั้งรักษาด้วยกิจกรรมบำบัด เพื่อฝึกทักษะการใช้มือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ยากิน หรือยาฉีดเฉพาะที่ เพื่อลดความเกร็งของกล้ามเนื้อ และรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีกระดูกผิดรูป ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้เด็กได้ฝึกช่วยเหลือตัวเองขยับ แขน ขา มือ กระตุ้นให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งการเล่น การเคลื่อนไหว การออกเสียง

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญ คือ “ป้องกันสาเหตุ-ลดปัจจัยเสี่ยง” ที่จะทำให้เกิดภาวะสมองพิการในเด็ก (ซี.พี.) ที่คุณหมอได้บอกไว้ข้างต้น แต่หากลูกหลานหรือเด็กในบ้านมีภาวะเสี่ยงสงสัยภาวะสมองพิการ ควรรีบพามาตรวจคัดกรองกับกุมารแพทย์ เพราะการได้รับความรักและเอาใจใส่บวกกับดูแลที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก จะทำให้เด็กสมองพิการ (ซี.พี.) มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ เมื่อเทียบกับการรักษาเมื่ออายุมาก แต่ทั้งนี้ก็จะขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรคด้วย

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/720540

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 20 ก.ค.62
วันที่โพสต์: 22/07/2562 เวลา 11:11:40 ดูภาพสไลด์โชว์ สมองพิการป้องกันอย่างไร ถึงจะไม่เกิดขึ้นกับลูกตัวเอง