บันทึกปั่นไปไม่ทิ้งกันปี2 – 14 วัน 15 จังหวัด 1,500 ก.ม.

บันทึกปั่นไปไม่ทิ้งกันปี2 – 14 วัน 15 จังหวัด 1,500 ก.ม.

บันทึกปั่นไปไม่ทิ้งกันปี2 – บันทึกผลงานโครงการ ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2 ภารกิจของคนตาบอดและคนตาดีกว่า 70 ชีวิต ที่ปั่นจักรยาน ปิดจ๊อบวันที่ 22 ก.พ. ด้วยการเดินทาง 14 วัน 15 จังหวัด รวมระยะทางกว่า 1,500 กิโลเมตร และระดมเงินทุนสร้าง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และอ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

ยอดเงินบริจาคในปีนี้ 6 ล้านบาท ถือว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ และห่างจากโครงการปีแรกได้ยอดบริจาคทั้งหมด 32 ล้านบาท ส่วนมากได้มาจากผู้บริจาครายใหญ่ เช่น บริษัทคิงเพาเวอร์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จากทุนก่อสร้างอยู่ที่ 150 ล้านบาท

ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มองมุมบวกว่า โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการปลุกกระแสสังคมให้เห็นถึงศักยภาพของผู้พิการ เปลี่ยนมุมมองทัศนคติที่มีต่อผู้พิการเสียใหม่ เหนือสิ่งอื่นใดคือ การได้สัมผัสถึงน้ำใจงดงามของพี่น้องชาวไทยที่หยิบยื่นให้แก่ผู้พิการ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน และทุกคนพึ่งพาตัวเองได้

ศ.วิริยะกล่าวว่า แม้ยอดบริจาคจะได้ไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าล้มเหลวแต่อย่างใด ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ ในแง่ของการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนแต่ละจังหวัดได้ตระหนักถึงสิทธิคนพิการ รวมทั้งรับรู้ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2

บันทึกปั่นไปไม่ทิ้งกันปี2 – 14 วัน 15 จังหวัด 1,500 ก.ม.

ในปีนี้โครงการทีมปั่นพุ่มผ้าป่า หรือ ‘กลุ่มสะพานบุญ’ ปั่นจักรยานลงพื้นที่ไปตามชุมชน ตลาด ย่านการค้าต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด เพื่อรณรงค์สิทธิคนพิการ และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้รับรู้ แม้ว่าจะได้เงินจำนวนน้อย เฉลี่ยคนละ 20 บาท 50 บาท หรือ 100 บาท แต่ถ้ามีคนบริจาคห้าร้อยคน พันคน หรือสองพันคน รวมแล้วก็จะถือว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว

“สำหรับผมนั้นจำนวนเงินอาจไม่สำคัญเท่ากับเรื่องหัวใจ การได้รับเงินบริจาครายย่อย ได้ประโยชน์ในหลายมิติ สิ่งที่เราเห็นคือ ผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ ผู้สูงอายุ เจ้าของร้านทอง พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนกวาดขยะ คนเข็นผัก คนพิการ แม้กระทั่งคนไร้บ้าน ก็ยังมาบริจาคเงินทำบุญกับเรา แม้บางคนยากจนและมีเงินไม่มาก ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ยังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่เต็มใจจะทำเพื่อส่วนรวม” ศ.วิริยะกล่าว

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 มีคนพิการทั่วประเทศที่จดทะเบียนจำนวน 2,022,481 คน (ร้อยละ 3.05 ของประชากรทั้งประเทศ) คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-60 ปี) จำนวน 877,853 คน ซึ่งมีคนพิการในวัยทำงานที่ประกอบอาชีพ จำนวน 218,490 คน (ร้อยละ 24.89)

โจทย์จากตัวเลขนี้คือยังไม่มีงานทำเป็นจำนวนมากกว่า 6 แสนคน ดังนั้นจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้มีอาชีพได้อย่างไร

ปัจจุบันพบว่าคนพิการส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรมในชนบทเป็นหลัก ส่งผลให้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขาดโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

การสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนพิการ ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน เลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ขึ้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และกำลังก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จอีกสองแห่งคือ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

“หลังจากนี้เราคงต้องวางแผนกันต่อไปว่า จะทำอย่างไรเพื่อระดมเงินทุนสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนให้แล้วเสร็จตามที่ตั้งใจไว้ ผมเชื่อว่ามนุษย์เรานั้น ถ้าตั้งใจทำสิ่งที่ดีงามให้แก่คนอื่น ธรรมะจะจัดสรรให้เอง ขอให้เราทุ่มเทเต็มที่ ทำหน้าที่ของเราเต็มที่ ความสำเร็จเป็นเรื่องของการจัดสรร มันเป็นไปไม่ได้ถ้าเราทำเรื่องที่ดีงามให้คนอื่นแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จ” ศ.วิริยะกล่าว

นายบัณฑิต โชคสงวน อายุ 63 ปี หัวหน้าผู้ฝึกสอนคณะนักปั่นตาบอดโครงการ ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2 เล่าว่า ปีนี้คนตาบอดทั้ง 20 คนได้ผ่านการฝึกซ้อมปั่นจักรยานสองตอนมานานกว่า 3 เดือน คนตาบอดบางคนแทบจะไม่เคยปั่นจักรยานมาก่อน เบื้องต้นจึงให้เขาทำความรู้จักกับจักรยานที่จะปั่นก่อน ให้เขาสัมผัส ลูบคลำให้รู้ทุกส่วนของจักรยานว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการปั่นครั้งนี้คือ คนพิการนั้นมีศักยภาพมาก ทั้งที่เขาตาบอดมองไม่เห็น แต่ใช้ชีวิต ช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนคนทั่วไป อาจจะมีบ้างที่จำเป็นต้องพึ่งพาขอความช่วยเหลือจากคนอื่น แต่พวกเขาก็พยายามทำด้วยตัวเองเท่าที่จะทำได้ ผมรู้สึกภูมิใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้” นายบัณฑิตกล่าว

ส่วน นายบดินทร์ เจริญดี อายุ 49 ปี ชาวขอนแก่น นักปั่นตาบอด กล่าวว่า การปั่นจักรยานครั้งนี้ถือเป็นการปั่นจักรยานทางไกลครั้งแรกในชีวิต ตื่นเต้นในช่วงแรก กลัวล้ม แต่ก็ได้นักปั่นจิตอาสาฝึกสอน ให้คำแนะนำ ในที่สุดก็ปั่นได้อย่างเข้าขา ช่วงแรกรู้สึกว่ายาก เพราะไม่เคยปั่นจักรยานสองตอนมาก่อน ยิ่งตามองไม่เห็น ยิ่งรู้สึกกังวล กลัวล้ม กลัวเจ็บ แต่พอได้ฝึกซ้อมไปในหลายๆ จังหวัดร่างกายก็เริ่มแข็งแรงอยู่ตัว จนกระทั่งพิชิตระยะทาง 1,500 กิโลเมตรและปั่นเข้าสู่เส้นชัยได้สำเร็จ

ด้าน ธิดารัตน์ สวนมะลิ ชาวกรุงเทพฯ อายุ 62 ปี กล่าวว่า เราเป็นคนตาบอด มองไม่เห็น ใช้ตาไม่ได้ก็ต้องใช้หูเป็นหลักเอาหูแทนตา พอมาปั่นจริง รู้สึกสนุกดีได้สัมผัสกับธรรมชาติ ท้องถนน ทุ่งนา ทะเล ป่าเขา สัมผัสกับบรรยากาศลมพัดเย็นสบาย แดดร้อน บางวันมีการไปเดินเรี่ยไรตามตลาด ชีวิตเราก็ไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ทึ่งเหมือนกันนะว่าคนพิการตาบอดก็สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ ซึ่งคนตาดีเองคงแปลกใจว่าเราทำได้อย่างไร ดีใจที่เอาชนะข้อจำกัดทางด้านร่างกายได้

สำหรับผู้ต้องการร่วมสมทบทุนเพื่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพให้คนพิการช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืนและภาคภูมิใจในศักดิ์ศรี บริจาคได้ที่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ (บัญชีกระแสรายวัน) ธนาคารกรุงเทพ 162-3-07772-2, ธนาคารกรุงไทย 196-6-00208-4, ธนาคารไทยพาณิชย์ 264-3-00153-0, ธนาคารกสิกรไทย 758-1-01398-6 และ ธนาคารกรุงศรี 494-0-00140-9

ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/travel/news_2301280

ที่มา: khaosod.co.th /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 13 มี.ค.62
วันที่โพสต์: 14/03/2562 เวลา 10:08:53 ดูภาพสไลด์โชว์ บันทึกปั่นไปไม่ทิ้งกันปี2 – 14 วัน 15 จังหวัด 1,500 ก.ม.