พัฒนากลไก การสวมใส่ติดแขนเทียมได้ง่ายดาย

พัฒนากลไก การสวมใส่ติดแขนเทียมได้ง่ายดาย

การคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์แขนขาเทียมที่ทรงประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีต่อผู้พิการแขน ขา ที่จะทำให้เขาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมประจำวันได้อย่างคล่องตัว เช่น นายเอ็ดมันด์ รัธ หนุ่มใหญ่ชาวออสเตรียวัย 53 ปี ผู้พิการแขนหลังจากประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเมื่อปีก่อนและได้รับการรักษาจากศัลยแพทย์ในกรุงเวียนนา ได้แสดงการทำงานของมือเทียม ที่ใช้วิธีการสอดใส่แท่งโลหะเข้าไปในกระดูกแขนหรือขาที่เหลืออยู่ โดยมีก้านอุปกรณ์ยื่นออกมาภายนอกเพื่อใช้ยึดติดกับแขนขาเทียม ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า osseointegration-OI

จริงๆแล้วเทคโนโลยี OI ไม่ใช่ของใหม่ เพราะถูกค้นพบครั้งแรกในทศวรรษที่ 1950 โดยนักวิจัยชาวสวีเดนใช้สำหรับการปลูกรากฟันเทียม แต่เมื่อนำมาพัฒนาหลอมรวมการทำงานระหว่างแขนขาเทียมกับร่างกายมนุษย์ ก็จะก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้พิการ เช่น สามารถขยับมือ กล้ามเนื้อ คอ หรือไหล่ได้ โดยขั้วไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในแขนขาเทียมจะช่วยให้ผู้พิการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในแบบที่เรียบง่าย สามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่สำคัญจะสร้างความเข้มแข็งให้กับพวกเขา เพราะคุณสมบัติหนึ่งของ OI นั่นคือผู้ใช้บางคนสามารถรู้สึกได้จากแรงสั่นสะเทือนในโครงกระดูกของตน

นักพัฒนาอุปกรณ์เทียมของบริษัทแห่งหนึ่งในอังกฤษ เผยว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างอุปกรณ์ฝังกระดูกสำหรับผู้พิการ โดยใช้ระบบของอุปกรณ์อย่าง ยูเอสบี (USB) เป็นช่องทางเชื่อมต่อ การทำงานแบบอัตโนมัติระหว่างร่างกายกับแขนขาเทียม ทำให้ปราศจากความเจ็บปวด และช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมแขน ขา พร้อมกับตอบรับทางประสาทสัมผัสด้วยการใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/content/1413550

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 7 พ.ย.61
วันที่โพสต์: 7/11/2561 เวลา 10:58:53 ดูภาพสไลด์โชว์ พัฒนากลไก การสวมใส่ติดแขนเทียมได้ง่ายดาย