ญี่ปุ่นถกเครียดเรื่องงานล่วงเวลา หลังสื่อใหญ่รับมีนักข่าวทำงานจนตาย

ประชาชนชาวญี่ปุ่นนั่งหลับ

ญี่ปุ่นพบอีกมีนักข่าวสาว "คะโรฉิ" ตายเพราะทำงานหนัก หรือวัฒนธรรมบ้างานไม่คิดชีวิตจะฝังรากลึกจนเกินแก้ไขเสียแล้ว ?

หลังจากที่บรรษัทแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งญี่ปุ่นหรือเอ็นเอชเค (NHK) ออกมายอมรับว่า การตายของผู้สื่อข่าวหญิงคือ น.ส.มิวะ ซะโดะ วัย 31 ปี เนื่องจากอาการหัวใจวายเมื่อปี 2013 นั้น แท้ที่จริงเกิดจากการทำงานหนักล่วงเวลานับร้อยชั่วโมงจนเสียชีวิต หรือที่เรียกว่า "คะโรฉิ" (Karoshi) กระแสข่าวที่แพร่ออกไปทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นอีกครั้ง ถึงวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นที่มักกดดันให้ลูกจ้างทุ่มเททำงานอย่างไม่คิดชีวิตว่า สังคมญี่ปุ่นจะยังสามารถแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกได้หรือไม่ ?

ประชาชนชาวญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ไม่นาน มีกรณีการทำงานหนักจนตายของ น.ส.มัตสึริ ทะคะฮะชิ พนักงานของบริษัทโฆษณาเดนท์สุ ซึ่งต้องทำงานล่วงเวลาถึง 100 ชั่วโมงในเดือนเดียว จนเป็นเหตุให้เกิดความเหนื่อยล้าและความเครียดสะสมรุนแรง จนก่อเหตุฆ่าตัวตายไปในปี 2015 แต่ศาลของกรุงโตเกียวเพิ่งมีคำตัดสินเมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) ให้บริษัทเดนท์สุจ่ายค่าปรับเพื่อเป็นการรับโทษในกรณีดังกล่าวเพียง 500,000 เยน (ราว 150,000 บาท) ฐานละเมิดกฎหมายแรงงานเท่านั้น

ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ รศ.สกอตต์ นอร์ธ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยโอซากาออกมาชี้ว่า ปรากฏการณ์ "คะโรฉิ" นั้นเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองที่ไม่จริงจังจากทางการและคำสั่งลงโทษแบบประนีประนอมจากศาลที่เพิ่งมีขึ้น คงไม่ช่วยให้บริษัทและองค์กรต่าง ๆ ปรับตัวเรื่องการปฏิบัติต่อพนักงานดีขึ้นสักเท่าไหร่

"การตายของพนักงานที่เกิดขึ้นแค่บางครั้งบางคราวนั้น ถือว่าเป็นต้นทุนที่เสียไปเพียงจำนวนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการประหยัดค่าจ้างแรงงานทั้งระบบ ที่ได้จากการกดดันให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน" รศ.นอร์ธกล่าว

ในกรณีของ น.ส.ซะโดะ ผู้สื่อข่าวการเมืองของเอ็นเอชเคที่เสียชีวิตไปเมื่อ 4 ปีก่อนนั้น มีการเปิดเผยว่าเธอทำงานล่วงเวลาถึง 159 ชั่วโมงในเดือนเดียว และมีวันหยุดเพียง 2 วันในเดือนก่อนที่เธอจะเสียชีวิต พ่อแม่ของเธอกล่าวว่า "แม้ในทุกวันนี้ เรายังยอมรับแทบไม่ได้ว่าการตายของลูกเป็นเรื่องจริง หวังว่าความเศร้าโศกของครอบครัวเราจะไม่สูญเปล่า"

มีบันทึกว่าพบกรณีการทำงานหนักจนตายครั้งแรกในญี่ปุ่น เมื่อช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศกำลังเฟื่องฟู ส่วนในปัจจุบันพบเหตุการณ์ตายที่เกี่ยวข้องกับ "คะโรฉิ" หลายร้อยกรณีในแต่ละปี ซึ่งรวมถึงผู้ที่ตายจากอาการหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก รวมทั้งผู้ที่ฆ่าตัวตายเพราะมีความเครียดจากงานอย่างหนักด้วย

สำรวจของรัฐบาลปีที่แล้วพบว่า 1 ใน 4 ของบริษัทญี่ปุ่น ปล่อยให้พนักงานทำงานล่วงเวลาถึง 80 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับค่าแรงเพิ่ม และมีกิจการจำนวน 12% ของทั้งประเทศที่บังคับให้พนักงานทำงานล่วงเวลาถึงกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน

รศ. นอร์ธระบุว่า มีผู้ที่ยื่นเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลกรณีมีญาติที่ทำงานหนักจนเสียชีวิตกว่า 2,000 รายในแต่ละปี โดยในจำนวนนี้รวมถึงผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ได้รับผลกระทบจากการทำงานหนัก เช่น ทุพพลภาพ เป็นอัมพาตเพราะสมองขาดเลือด หรือซึมเศร้ารุนแรงจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม มีคนเพียง 37% ในกลุ่มนี้ที่เรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลได้สำเร็จ

ประชาชนชาวญี่ปุ่น

แม้กระแสความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นในสังคมญี่ปุ่น จะทำให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ออกแผนการปฏิรูประบบการทำงานในบริษัทต่าง ๆ อย่างครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลาลง ให้พนักงานของรัฐลางานมากขึ้น และให้องค์กรเอกชนต่าง ๆ กำหนด "วันกลับบ้านเร็ว" สำหรับพนักงานในแต่ละเดือน ในส่วนของบริษัทเดนท์สุนั้นออกนโยบายใหม่ให้ปิดไฟในที่ทำงานเมื่อถึงเวลา 22.00 น.ของทุกวัน แต่นโยบายเหล่านี้ก็ยังไม่บังเกิดผลชัดเจนต่อสังคมแรงงานญี่ปุ่นโดยรวมมากนัก

รศ. นอร์ธระบุว่า สาเหตุที่นโยบายเหล่านี้ไม่ช่วยให้พนักงานชาวญี่ปุ่นทำงานน้อยลง เพราะแผนการต่าง ๆ รวมทั้งกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาคะโรฉิที่ออกมาในปี 2014 เน้นแต่เรื่องให้การศึกษาและกำหนดมาตรการรณรงค์ลดชั่วโมงทำงานตามบริษัทต่าง ๆ เท่านั้น แต่กฎหมายขาดบทบัญญัติที่เป็นการลงโทษบริษัทซึ่งไม่ทำตามแผนการนี้โดยตรง ทำให้นโยบายการสร้างสมดุลเวลาทำงานและพักผ่อนในชีวิตของคนญี่ปุ่น ยังคงเป็นเพียงความฝันเลื่อนลอยที่ไม่อาจประสบความสำเร็จอยู่ต่อไป

ขอบคุณ... http://www.bbc.com/thai/international-41535898 (ขนาดไฟล์: 0 )

ที่มา: bbc.comออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 7 ต.ค.60
วันที่โพสต์: 10/10/2560 เวลา 10:17:53 ดูภาพสไลด์โชว์ ญี่ปุ่นถกเครียดเรื่องงานล่วงเวลา หลังสื่อใหญ่รับมีนักข่าวทำงานจนตาย