จะดี จะร้าย "เฟซบุ๊ก" ก็ยิ่งใหญ่มา 10 ปีแล้ว

โลโก้เฟสบุ๊ค

เมื่อวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นวันที่ "เฟซบุ๊ก" มีอายุครบ 10 ปีเต็ม เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ว่านี้ เราได้เห็นเด็กหนุ่มอย่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก สร้างและผลักดันด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาจนเว็บไซต์เล็กๆ ที่เขียนขึ้นภายในห้องหอพักนักศึกษา กลายเป็นยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งในประดายักษ์ทั้งหลายจากซิลิคอนวัลเลย์ได้ อย่างไม่น่าเชื่อ

ความสำเร็จ ความร่ำรวย ของซัคเคอร์เบิร์ก เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความยิ่งใหญ่ของเฟซบุ๊กที่แทรกเข้ามาอยู่ในทุกอณูของทุกสังคมยุคใหม่ต่างหาก ที่ชวนให้คิดอย่างยิ่ง จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เฟซบุ๊กของซัคเคอร์เบิร์ก กลายเป็น "เครื่องมือแรกสุด" ในการเข้าสังคมของผู้คนเป็นจำนวนมากมายมหาศาล หลายชาติหลายภาษา หลากหลายช่วงอายุ เพศ และรสนิยม บางคนถึงกับยอมรับว่า "เฟซบุ๊ก" เปรียบได้เสมือนลมหายใจหรือเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงสังคมยุคใหม่ เป็นเครื่องมือที่หลายต่อหลายคนใช้ในการแลกเปลี่ยนสารพัดอย่าง ตั้งแต่ภาพถ่าย ข่าวสาร เรื่อยไปจนถึงความคิดเห็นส่วนตัว และเรื่องราวอีกมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ตั้งแต่ กิน ดื่ม เที่ยว หมั้นหมาย ได้งานใหม่ ฯลฯ ตลอดหนึ่งทศวรรษของเฟซบุ๊ก มีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นมากมาย และมีเรื่องราวร้ายๆ เกิดขึ้นไม่น้อยเช่นเดียวกันบนหน้าแฟนเพจ ความรู้สึกของแต่ละคนที่มีต่อเฟซบุ๊กแตกต่างกันออกไปตามแต่ประสบการณ์ที่บุคคล นั้นๆ พานพบผ่านเว็บไซต์แห่งนี้ บางคนได้เจอะเจอ "ลูกพี่ลูกน้อง" ที่ไม่น่าจะมีโอกาสเจอหากปราศจากสื่อกลางอย่างเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับที่เฟซบุ๊กนำพาคู่รักเก่าในวัยเยาว์แบบ "ปัปปี้เลิฟ" ให้หวนกลับมาปฏิสัมพันธ์กันอีกครั้งแล้วลงเอยด้วยการแต่งงานแต่งการกันจริงๆ ก็มี

เฟซบุ๊กทำให้คนที่อยู่ห่างไกลด้วยความจำเป็น มีความรู้สึกชิดใกล้ ได้รับรู้ได้ให้กำลังใจซึ่งกันและกันได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เฟซบุ๊กสร้างสังคมและเครือข่ายของคนที่สนใจในเรื่องราวเดียวกันขึ้นมามากมาย ตั้งแต่พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานอยู่ในสถานศึกษาเดียวกัน เรื่อยไปจนถึงผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเดียวกัน สังคมของผู้ป่วยออทิสติกผ่านเฟซบุ๊ก ไม่เพียงมีสมาชิกมากมายมหาศาล แต่ยังสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความเห็นทางการแพทย์ ทางวิชาการ แบ่งปันกันได้ไม่รู้จบ เฟซบุ๊กเคยและยังคงเป็นเครื่องมือสื่อสารในการต่อสู้ทางการเมือง ในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับรัฏฐาธิปัตย์ที่เป็นเผด็จการและเครื่องมือสื่อ สารกระแสหลักถูกครอบงำบิดเบือน

กระนั้น มีไม่น้อยเช่นกันที่ "ลองแล้วเลิก" ใช้เฟซบุ๊ก ด้วยเหตุผลที่ว่า เฟซบุ๊ก ทำให้ตัวเองเหมือนถูกผลักดันกลับไปในกาลเวลาเก่าก่อนในยุคที่ยังเป็นเด็กประถม แล้วตกอยู่ในท่ามกลางวังวนของเรื่องซุบซิบที่ไม่มีวันรู้ได้ว่าจริงหรือเท็จ มากน้อยเพียงใด, เรื่องล้อเลียน กระแนะกระแหน ข่มขู่ คุกคาม ที่ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจเลิกใช้เฟซบุ๊กแล้วรู้สึกว่าได้มีเวลาเพิ่มสาระให้ กับชีวิตขึ้นมาได้อีกไม่น้อยเลยทีเดียว

ประสบการณ์ผ่านเฟซบุ๊กของ หลายต่อหลายคน ไม่ได้งดงามอย่างที่ ซัคเคอร์เบิร์กวาดหวังไว้ แต่ขมขื่น ปวดร้าว ผิดหวัง คู่รักบางรายบอกเลิกกันผ่านเว็บไซต์นี้ อีกบางคนพบว่าคู่ของตัวเองกำลังหลอกลวงตัวเองผ่านทางหน้าเฟซบุ๊ก มีไม่น้อยที่กลายเป็นคดีโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อเจ้าของเฟซบุ๊กบางรายตัดสินใจ ฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทานรับกระแสลบที่หลั่งไหลทะลักเข้ามาทางหน้าแฟนเพ จได้

จะดีหรือร้าย เฟซบุ๊กสามารถยิ่งใหญ่มาได้จนถึง 10 ปีและยังไม่มีวี่แววว่าจะสร่างซา แสดงให้เห็นถึง "พลวัต" ที่เว็บไซต์แห่งนี้มีอยู่ในตัวและเพิ่มเติมให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลาอย่าง ที่หลายคนคาดคิดไม่ถึงตัวอย่างชัดๆ อย่างเช่น คลิปวิดีโอ "ลุค แบค" ที่เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กแต่ละรายจะได้รับโดยอัตโนมัติ ด้วยการนำเอาภาพเก่าๆ ที่เราใส่ไว้ในอัลบั้มภาพ ขึ้นมาเรียงรายกลับมาให้ดูกันใหม่ โดยอาศัยการคัดเลือกรูปจากวันเวลาที่โพสต์และจำนวนการกดไลค์ เป็นหลัก ที่ทางเฟซบุ๊กทำให้เป็นของขวัญสาวกในวาระครบรอบ 10 ปี แล้วก็ทำให้แฟนๆ กรี๊ดกันสนั่น แชร์กันระเบิดอยู่ในเวลานี้ เป็นเรื่องง่ายๆ ทำง่ายๆ แต่กินใจ ได้ใจ คิดได้ยังไงก็ไม่รู้...นี่ต่างหากที่เป็นอหังการของเฟซบุ๊กครับ

ขอบคุณ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1391760050

( มติชนออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 6 ก.พ.57 )

ที่มา: มติชนออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 6 ก.พ.57
วันที่โพสต์: 8/02/2557 เวลา 04:59:35 ดูภาพสไลด์โชว์ จะดี จะร้าย "เฟซบุ๊ก" ก็ยิ่งใหญ่มา 10 ปีแล้ว