สสส.ส่งเสริมสุขภาพคนพิการ "เฮฮากีฬาไทย" เบิกบานทั้งกาย-ใจ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกาย และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์การมีส่วนร่วมทางสังคมสำหรับคนพิการ เพื่อยกระดับ และพัฒนาคุณภาพชีวิต "Let's Exercise มาออกกำลังกายกันเถอะ : ตอน เฮฮากีฬาไทย" ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับคนพิการผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย
ที่ผ่านมา สสส.ได้มีการส่งเสริมคนพิการอย่างต่อเนื่อง ทั้งทักษะการทำงาน สุขภาพ การบริหารจัดการเงิน ยังมีโครงการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับคนพิการ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี 2565 เกิดขึ้นทุกเดือน รวม 20 ครั้ง ในรูปแบบ Online และ Onsite เน้นกิจกรรมที่กลุ่มเป้าหมายสามารถ ร่วมเรียนรู้ ปฏิบัติ ต่อยอดได้
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนัก 9 สสส. กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค้นหารูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคนพิการแต่ละประเภท และประยุกต์ใช้ความรู้ จากคู่มือกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งร่วมกับกรมพลศึกษาจัดทำขึ้น ถือเป็นศาสตร์แห่งการฟื้นฟูให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพสังคมที่ดี โดยกิจกรรมจัดอย่างต่อเนื่องภายใต้แคมเปญ "นับเราด้วยคน" ในรูปแบบกิจกรรมรายเดือน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 700 คน และเปิดโอกาสให้ร่วมกิจกรรมผ่านออนไลน์ในโปรแกรม 70 วันมหัศจรรย์ของฉัน เพื่อส่งเสริมให้คนพิการดูแลสุขภาพอย่างสนุกสนาน
สสส. เป็นอีกองค์การพยายามส่งเสริมสัมพันธ์ภาพของครอบครัว การเปิดโอกาสให้เขาได้มีส่วนร่วม มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิต สดชื่น ออกจากบ้านเพื่อใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป เป็นการปรับตัวอยู่ร่วมในสังคม ท่ามกลางความหลากหลาย เปิดโอกาสให้ทุกคนมีความเท่าเทียม มีสิทธิเสรีภาพดูแลสุขภาพ มีกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะเห็นว่า คนพิการร่วมกิจกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนมุมมองที่เปลี่ยนไปของครอบครัวเมื่อก่อนอยากดูแลให้อยู่ที่บ้าน แต่จริงๆ คนพิการมีศักยภาพความสามารถในการปรับตัวและอยู่ร่วมกับคนทั่วไปและเป็นแรงบันดาลใจให้คนพิการคนอื่นๆ ได้ลองออกมาใช้ชีวิตภายนอก
"ไม่เพียงการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ ยังเปิดโอกาสการมีงานทำในสถานประกอบการ ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมามีคนพิการมีงานทำ 5 หมื่นอัตรา พิสูจน์ศักยภาพของคนพิการที่ได้โอกาสรับเข้าทำงาน รวมถึงพื้นที่สาธารณะที่ได้รับการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการมากขึ้น"
อรรถพล คู่กระสังข์ ผู้จัดการโครงการการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับคนพิการผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการนี้ มุ่งเน้นให้เกิดการเปิดพื้นที่ และเปิดโอกาสเพื่อให้คนพิการมีส่วนร่วมเข้าถึงกิจกรรมทางสังคม โดยจัดกิจกรรมผ่านมาทั้งสิ้น 10 เดือนแล้ว อาทิ การส่งเสริมภาวะสุขภาพจิต ผ่านกิจกรรมศิลปะบำบัด, การฟังธรรม, กิจกรรมจิตอาสาร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา การส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านรูปแบบ walk rally, การสอนเต้น Cover dance รวมถึงการ Workshop การทำขนมอย่างง่าย ซึ่งได้มีคนพิการได้มาเข้าร่วมและนำไปต่อยอดจนประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองได้
ทั้งนี้กิจกรรมภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนพิการทุกคนสามารถสมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ตามความสนใจในรูปแบบกิจกรรมที่ผลัดเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่คนพิการในกรุงเทพมหานคร จากที่ผ่านมา มีผู้ปกครองที่มีลูกออทิสติกจากจังหวัดสระบุรี และจังหวัดชลบุรี และมีครอบครัวคนพิการทางด้านสายตา จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เคยได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโครงการแล้วด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยังมีคนพิการอีกจำนวนมากที่มีความต้องการและขาดการส่งเสริมในการเข้าถึงการมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคม
ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ทางโครงการฯ ได้มีกำหนดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับคนพิการในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย โดยคัดเลือกพื้นที่นำร่องที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 3 สิงหาคม และจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 25 สิงหาคม เพื่อให้เกิดการขยายฐานผู้รับประโยชน์ในการเข้าถึงองค์ความรู้สุขภาวะ เกิดการเผยแพร่ขยายแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพสู่กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เพิ่มโอกาสให้คนพิการเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่
ด้าน สิริลักษณ์ ปักการาศัย อายุ 22 ปี พิการทางการมองเห็น เผยความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ได้ร่วมกิจกรรมปิดตาตีปิ๊บ และเชียร์เพื่อน ๆ รู้สึกสนุกมาก เดินทางมากับเพื่อน ๆ จากศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน จำนวน 12 คน เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกิจกรรมแบบนี้ ปกติจะออกกำลังกายแบบฟื้นฟูกล้ามเนื้อต่าง ๆ ซึ่งไม่สนุกเท่ากับการได้มาเจอเพื่อน ๆ แบบนี้
ศิวกร แสงทอง คุณแม่ลูกชายออทิสติกวัย 24 ปี ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ดีใจที่ได้พาลูกชายมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาได้ออกมาทำกิจกรรมแบบนี้ น้องพูดสื่อสารไม่ได้ ทำให้ปกติจะอยู่แต่ที่บ้านเท่านั้น การที่เขาได้ออกมาในพื้นที่สาธารณะจึงเป็นการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งเราก็มองว่าเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ เพราะคิดว่า เราควรจะหัดให้ลูกได้อยู่ร่วมกับคนในสังคม เพราะแม่ไม่สามารถดูแลลูกได้ไปตลอด กิจกรรมนี้ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง สนุกสนาน กระตุ้นสมองให้ความรับรู้ได้รับการพัฒนามากขึ้น
ขอบคุณ... https://siamrath.co.th/n/459134