OPPY สร้างสูงวัยไฮเทค สู่สังคมอายุยืน

OPPY สร้างสูงวัยไฮเทค สู่สังคมอายุยืน

เส้นทาง OPPY เริ่มต้นจากการสอนคอมพิวเตอร์ให้ผู้สูงวัย จนมีพัฒนาการตามยุคตามสมัยของเทคโนโลยี ทำให้ผู้สูงวัยไม่ตกยุค ณ วันนี้ OPPY กำลังขยายโอกาสนี้สู่สังคมสูงวัยด้อยโอกาส ตลอดจนคนพิการและเด็กภายใต้พันธกิจใหม่แห่งการเป็น วิสาหกิจเพื่อสังคม

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ และค่าเฉลี่ยของอายุจะยาวนานขึ้นอาจถึง 90-100 ปี ทว่าเทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สมาร์ท ซิตี้ สมาร์ท โฮม ตลอดจนการใช้งานแอปพลิเคชัน ต่างๆ เราจะทำอย่างไรให้อีกช่วงชีวิต 10 ปีข้างหน้า ผู้สูงวัยทั้งในปัจจุบันและอนาคตสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้แบบไม่ตกยุค แม้จะต้องอยู่กับลูกหลาน หรือตัวคนเดียว

เริ่มสอนคอมพิวเตอร์ยุคแรกอินเทอร์เน็ต

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว OPPY CLUB คลับแห่งความสุขของผู้สูงวัย (Old People Playing Young Club) หรือที่รู้จักกันในนามของ ชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย นับเป็นชมรมผู้สูงวัยยุคแรกที่เปิดขึ้นเพื่อให้ความรู้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปได้เรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นยุคแรกที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิต เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน OPPY CLUB มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เน้นการเรียนการสอนเทคโนโลยีให้สูงวัยทันยุคทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

จนกระทั่งได้จดทะเบียนเป็น วิสาหกิจเพื่อสังคม เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2565 โดยหวังขยายโอกาสองค์ความรู้เหล่านี้แก่ผู้สูงวัย คนพิการ และเด็กที่ด้อยโอกาส เพิ่มขึ้น

สุธีรา จำลองศุภลักษณ์ หรือ ครูเจี๊ยบ ครูใหญ่ของ OPPY เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ OPPY ว่า ตนเองทำงานอยู่ในบริษัทล็อกซอินโฟ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ในเครือบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในยุคนั้นอินเทอร์เน็ตเพิ่งเข้ามาในประเทศไทยและมีบทบาทต่อชีวิตและการทำงานของผู้คนจำนวนมาก บริษัทจึงมีการเปิดอบรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้กับลูกค้าด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ครูจึงรับผิดชอบในการจัดทำหลักสูตรให้กับกลุ่มลูกค้า ใช้เวลาสอนเพียง 1 วัน ลูกค้าก็สามารถเข้าใจได้ เพราะต่างมีความรู้พื้นฐานเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์มาก่อนอยู่แล้ว

ทว่า อินเทอร์เน็ตกลับได้รับความสนใจจากคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช (ประธานชมรม) เช่นกัน จึงได้พากลุ่มเพื่อนๆประมาณ 12 คน เข้ามาเรียนด้วย แต่เมื่อเรียนรวมกันกับกลุ่มคนวัยทำงานในเวลาอัดแน่นทั้งวัน ตั้งแต่ 09.00-16.00 น. ทำให้ผู้สูงอายุเรียนตามไม่ทัน ไม่เข้าใจ และไม่กล้ายกมือถาม เพราะเกรงใจคนวัยทำงานที่เขาสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่า ดังนั้นเมื่อทดลองเข้ามาเรียนกลับพบว่า เขาไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้เลย แม้กระทั่งการเปิด-ปิด คอมพิวเตอร์

ดังนั้นคุณหญิงชัชนี ต้องการให้ครูออกแบบหลักสูตรสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ และต้องแบ่งการเรียนออกเป็น 30 ชั่วโมง เพราะการเรียน 6 ชั่วโมงใน 1 วัน เขาไม่สามารถจดจำรายละเอียดได้หมด ครูจึงปรับหลักสูตรใหม่ เน้นเรื่องการเปิด-ปิด เครื่อง การใช้เมาส์ก่อน ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ตลอดจนการเข้าอินเทอร์เน็ต การค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต การใช้อีเมล์ และการพิมพ์งานในไมโครซอฟต์เวิร์ด เพราะคนสูงวัยชอบการจดบันทึก

ในระหว่างการสอน ครูเองก็ต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้สูงวัยและปรับหลักสูตรการเรียนการสอน หรือ กิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับเขามากที่สุด สำหรับการทดลองเรียนรุ่นที่ 1 เริ่มต้นเมื่อพ.ย. 2542 มีผู้สูงวัยเรียนเริ่มแรก 33 คน แบ่งเป็นรอบละ 8 คน เรียนรอบละ 3 ชั่วโมง จำนวน 10 ครั้ง เพื่อมีการเรียนการสอนแบบใกล้ชิด ตัวต่อตัวมากที่สุด

เมื่อทดลองเรียนแล้วได้ผล จากนั้นจึงได้เปิดตัวชมรมอย่างเป็นทางการเมื่อ 25 ม.ค. 2543 โดยวัตถุประสงค์ของคุณหญิงชัชนี คือ ประการแรก ต้องการปิดช่องว่างระหว่างวัยของผู้สูงอายุและลูกหลาน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยเพิ่มขึ้น คนสูงวัย และ คนรุ่นใหม่ คุยคนละภาษากัน หากไม่นำผู้สูงอายุเข้ามาในถนนเส้นนี้ จะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในครอบครัวได้

ประการที่สองคือ ไม่ต้องการเห็นคนสูงอายุตกยุค เพราะเมื่อเข้าสามารถเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตได้ เขาก็จะสามารถค้นหาข้อมูล ได้เปิดโลกกว้าง และมีชีวิตที่มีคุณค่าและมีคุณภาพ

ประการสุดท้ายคือ ไม่อยากให้มีสังคมหลังวัยเกษียณ ไม่เช่นนั้นจะมีแต่ความเฉา เงียบเหงา เมื่อเขาออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน เขาจะมีสังคม เพราะผู้สูงวัยไม่ได้ต้องการเรียนเพราะคาดหวังแต่ความรู้เท่านั้น แต่เขาต้องการสังคม

คิดหลักสูตรตามความต้องการผู้สูงวัย

ครูเจี๊ยบ เล่าต่อว่า ปีนี้เราได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 24 แล้ว หลักสูตรการเรียนการสอนของเรามีการปรับให้ทันยุคทันสมัยมาอย่างต่อเนื่อง จากเริ่มแรกที่เน้นการสอนเรื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องยอมรับว่า มีผู้สูงอายุสนใจเป็นจำนวนมาก ต้องรอคิวนานถึง 3-4 เดือน เพราะเราถือเป็นชมรมแรกที่สอนผู้สูงวัย ไม่มีใครเปิดสอน เราเปิดสอนตั้งแต่อายุเริ่มแรก 45 ปี ไปจนถึง 90 ปี ก็มาเรียนกับเรา ในขณะที่ตอนนั้นครูอายุเพียง 30 กว่า

แน่นอนว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง ต่อจากยุคคอมพิวเตอร์ ก็เป็นยุคของกล้องดิจิทัล เมื่อลูกหลานนำกล้องดิจิทัลมาให้คุณพ่อ คุณแม่ ใช้งาน หน้าที่ของชมรมคือที่พึ่งของเขา ซึ่งกล้องดิจิทัลมีหลายแบรนด์ หลายฟังก์ชัน เมื่อเราไม่รู้ เราก็ไปจับมือกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเปิดเป็นหลักสูตรนักถ่ายภาพดิจิทัลสมัครเล่น ขึ้นมา

โดยสมาคมมีหน้าที่สอนเทคนิคการใช้งานและถ่ายรูป ขณะที่ OPPY ทำหน้าที่สอนนำรูปลงคอมพิวเตอร์ และสอนทำเป็นคลิปอัดลงซีดีเพื่อให้เขานำไปให้ลูกหลานดู เขาก็จะภูมิใจในผลงานตัวเอง ลูกหลานก็ภูมิใจถึงขั้นมอบหมายหน้าที่ถ่ายรูปและทำคลิปลูกหลานของบ้านให้กับครอบครัว เทคโนโลยีจึงช่วยให้ผู้สูงวัยมีคุณค่า

ต่อจากกล้องดิจิทัล ก็มาถึงยุคไอแพด ที่ลูกๆเริ่มนำรุ่นเก่าหรือใหม่ให้พ่อแม่ใช้ จนกระทั่งมาถึงยุคของไลน์เข้ามาในชีวิตประจำวัน เมื่อเขามั่นใจในการใช้งานเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ ไอแพด การถ่ายรูป แต่งรูป "ตำนาน สวัสดีวันจันทร์" จึงเกิดขึ้น เพราะเขาสามารถผลิตรูปภาพและข้อความได้เอง ซึ่งปัจจุบัน สวัสดีวันจันทร์ มีเป็นคลิปวิดีโอ แล้ว

ดังนั้นการคิดหลักสูตร การแตกไลน์ ตลอดจนการขยายหลักสูตร ไม่ได้มาจากที่เราคิด แต่เป็นเพราะผู้สูงวัยต้องการเรียนรู้เอง เราไม่สามารถยัดเยียดหลักสูตรที่เราคิดให้ได้ เพราะผู้สูงวัยไม่ชอบจำ ถ้าบังคับให้จำ เขาจะจำไม่ได้ และไม่มีความสุขกับการเรียน เขาต้องการเรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการรู้ และต้องการให้สอนแบบซ้ำๆ

ผู้สูงวัย มีข้อจำกัดเรื่องความจำ ลืมง่าย เขาอยากถามลูกหลาน แต่ถามไม่ได้ อาจเพราะลูกหลานไม่มีเวลา หรือ ความอดทนในการอธิบายมากพอ แต่ OPPY เปิดโอกาสให้เขาถามเสมอ บางคนก็โทรมาถาม ไลน์มาถาม หรือ นั่งรถมาถามถึงที่ก็มี เพราะเขาจำไม่ได้ แม้จะเคยเรียนแล้วหลายรอบก็ตาม

พัฒนาการเรียนรู้เทคโนโลยีคู่กิจกรรม

เมื่อการเรียนการสอนของ OPPY เน้นความเป็นเทคโนโลยีอย่างเดียว เมื่อไปถึงจุดหนึ่งกลับทำให้คนสูงวัยติดการเล่นมือถือ เล่นโซเชียล เล่นเกม จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ไม่สนใจลูกหลานและอยู่กับอุปกรณ์ไอทีมากเกินไป

ดังนั้นจึงถึงยุคที่ OPPY ต้องทำหน้าที่ต้องดึงเขาออกจากเทคโนโลยี ด้วยการสร้างแนวคิด “สมดุลแห่งชีวิตยุคดิจิทัล” นอกจากการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เขาอยากรู้แล้ว ต้องมีกิจกรรมอื่นเข้ามาสร้างสมดุลด้วย ในขณะที่เทคโนโลยีก็ทิ้งไมได้ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็ว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

กิจกรรมของ OPPY จึงเริ่มมีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อพาไปถ่ายภาพและกลับมาทำคลิป หรือสร้างคอนเทนต์เพื่อลงโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการวาดภาพสีน้ำ เพื่อฝึกข้อมือ ฝึกการใช้สมาธิ ให้ห่างจากหน้าจอ เป็นการฝึกสมองซีกขวามากขึ้น เพราะการไถหน้าจอเพียงอย่างเดียว พัฒนาเฉพาะสมองซีกซ้าย ผู้สูงวัยที่เรียนศิลปะ เมื่อเรียนแล้วเขาค้นพบว่าชีวิตดีขึ้น ทำให้สงบ ไม่เครียดและช่วยลดอารมณ์ฉุนเฉียวที่เกิดช่วงวัยทองได้ การวาดภาพยังสามารถรับรู้อารมณ์ของผู้วาดได้ และผู้สอนก็จะมีวิธีในการปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ด้วยศิลปะ ทำให้สภาพจิตใจของผู้สูงวัยดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเต้น เพื่อการออกกำลังกาย การร้องเพลง เรียนทำเบเกอรี่ และเร็วๆนี้จะมีการเปิดสอนเขียนพู่กันจีนด้วย เพื่อเป็นการฝึกสมาธิ รวมถึงหลักสูตรการวางแผนมรดก การนำเงินเกษียณทำงานแทนบนความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนดีพอสมควร

การเรียนการสอนของ OPPY จะทำให้ครบวงจรมากขึ้น เช่น ก่อนจะไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ครูจะมีการสอนคิดคอนเทนต์ก่อนลงพื้นที่ สอนการโพสต์ท่า สอนมุมกล้อง ทำอย่างไรให้ถ่ายภาพพระนอนได้เต็มองค์ จากนั้นก็จะให้กลับมาทำคลิปลง TikTok เป็นการท่องเที่ยวผสมผสานกับเทคโนโลยี

ที่สำคัญคือการเรียนรู้ภัยไซเบอร์ที่จะมาในรูปแบบต่างๆด้วย กฎหมายการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ การโพสต์ หรือ คอมเม้นท์ ลงโซเชียลมีเดีย และกฎหมายพีดีพีเอ เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ทำอย่างไรไม่ให้ละเมิดคนอื่น และเมื่อถูกละเมิดต้องทำอย่างไร

ช่วยผู้สูงวัยอายุยืนแบบมีคุณภาพ

ครูเจี๊ยบ เล่าว่า สถานะของผู้สูงวัยมีการแบ่งเป็นระดับสี ตั้งแต่ดีคือ สีเขียว สามารถเดินทางเองได้ แต่เมื่อเริ่มป่วยนิดหน่อยก็จะกลายเป็นสีเหลือง หากเริ่มนั่งวิลแชร์จะเป็นสีส้ม และสีแดง คือผู้ป่วยติดเตียง OPPY จะทำให้ผู้สูงอายุทุกคนอยู่ในโซนสีเขียวให้นานที่สุด หากเป็นเหลืองก็จะพยายามทำให้กลับขึ้นมาเป็นเหลืองอ่อน ไม่ให้เป็นสีส้ม

ที่ผ่านมา เราเคยมีเคสผู้สูงวัย อายุ 95 ปี นั่งวิลแชร์มาเรียน พอช่วงโควิดไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ พบว่าเขาเหงาและพูดไม่ได้ แต่เมื่อเริ่มกลับมาเรียนใหม่หลังโควิด เขาก็เริ่มฟื้นฟูร่างกายตัวเองจนสามารถพูดได้ จับปากกาไอแพดได้ เพราะพัฒนาการที่กลับมานั้นมาจากการเห็นเพื่อน เห็นสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งหากอยู่เฉยๆที่บ้านจะทำให้พัฒนาการลดลง

อีกเคสที่น่าสนใจคือ สมาชิกสูงวัยอายุ 60 ปี ทำงานหนักจนโรคฮีทสโตรก ไม่สามารถมาเรียนได้ หายไป 2 ปี ไปรักษาตัว แต่เมื่อเขาเริ่มฟื้นตัวและกลับมาเรียนเพียงแค่ 3 เดือน เขาสามารถเซ็นชื่อได้ ล้างหน้าได้ และเดินไปดูแลกิจการของตัวเองได้

ก้าวสู่พันธกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม

จากประสบการณ์ที่ OPPY เปิดรับสมาชิกที่มีอยู่ในฐานข้อมูลกว่า 4,000 คน และหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงวัยมายาวนานกว่า 23 ปี ทำให้ OPPY ต้องการสร้างโอกาสให้กับสังคมด้อยโอกาสด้วย หลังจากที่ได้จดเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม OPPY ต้องการให้โอกาสกับกลุ่มคนด้อยโอกาสทั้งผู้สูงวัย คนพิการ และเด็ก ให้มีความรู้และสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้ เช่น เรื่องภัยไซเบอร์ที่ต้องระวัง เทคนิคการนำสินค้าขายบนออนไลน์ เป็นต้น โดย OPPY จะเริ่มจากชุมชนคลองเตยก่อน เพราะใกล้ศูนย์ OPPY ที่กลุ่มคนดังกล่าวจะสามารถมาเรียนได้

เพราะ OPPY ต้องการสร้างสมดุล สร้างสังคมอายุยืน เพื่อไม่ให้คนสูงวัยตกยุค เมื่อต้องเข้าสู่สังคมสูงวัย เขาต้องสามารถใช้แอปพลิเคชันเองได้ สั่งอาหาร หรือ เรียกรถ ผ่านมือถือได้ เมื่อต้องอยู่คนเดียวและแนวโน้มคนโสดเพิ่มขึ้น เขาจะสามารถใช้ชีวิตเองได้อย่างมีความสุขใน 10-20 ปี ข้างหน้าหลังเกษียณ

ขอบคุณ... https://www.posttoday.com/business/696626

ที่มา: posttoday.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 3 ก.ค.66
วันที่โพสต์: 3/07/2566 เวลา 15:01:45 ดูภาพสไลด์โชว์ OPPY สร้างสูงวัยไฮเทค สู่สังคมอายุยืน