“ผู้นำที่เป็นธรรม” ThaiHealth Academy เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำ รุ่นที่ 2
“ผู้นำที่เป็นธรรม” ThaiHealth Academy เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำ รุ่นที่ 2 ส่งต่อแรงบันดาลใจ กระตุ้น มุ่งสร้างผู้นำ เพื่อสังคมสุขภาวะ ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ศ.ดร.นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “การดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำนายได้ยาก ไม่แน่นอน ThaiHealth Academy มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพบุคคล ออกแบบพัฒนาหลักสูตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้รับประโยชน์ เพื่อองค์กรจะประสบความสำเร็จ และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร้ขีดจำกัด ThaiHealth Academy จัดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Equity Leaders :EL) เน้นสร้างผู้นำ ที่มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติเพื่อสังคมสุขภาวะ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
แบ่ง module การเรียนรู้ 5 กลุ่ม 1.พัฒนาตนเอง 2.ทักษะการคิด 3.การสื่อสาร สร้างสัมพันธ์ การจัดการความขัดแย้ง 3.ออกแบบจัดการโครงการ 4.ความรู้ ความเข้าใจการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ 5.การทำงานท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย
“โครงการ EL เน้นกิจกรรมการเรียนร่วมหมู่ (Collaborative Leaning) พัฒนาความเป็นผู้นำผ่านหัวข้อการฝึกอบรมโดยวิทยากร เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสรรค์ทางออกใหม่ ใช้แนวคิดปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจปัญหา สะท้อนมุมมอง สร้างเครือข่ายการทำงาน ออกแบบโปรเจคเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม เป้าหมายของ ThaiHealth Academy คืออยากให้หลักสูตรยั่งยืน ซึ่งแปลว่าต้องตอบโจทย์ มีประโยชน์ในการช่วยพัฒนาความสามารถ ให้กับภาคี องค์กรต่าง ๆ นำไปยังสังคมสุขภาวะอย่างเท่าเทียม และยั่งยืน โดยดำเนินโครงการ EL รุ่นที่ 1 เรียบร้อย และปีนี้เปิดรับสมัครรุ่นที่ 2 จำนวน 25 คน สอบถามรายละเอียดได้ที่ www.thaihealthacademy.com โทร. 02 171 8656 “ ศ.ดร.นพ. นันทวัช กล่าว
นพ.ยุทธกรานต์ ชินโสตร ผู้อำนวยการ รพ.หลวงพ่อเปิ่น และผู้ร่วมโครงการ EL รุ่นที่ 1 กล่าวว่า “รพ.หลวงพ่อเปิ่น สนใจเรื่องการฟื้นฟูร่างกาย และจิตใจผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ จนต้องกลายเป็นคนพิการรายใหม่ จึงตัดสินเข้าร่วมโครงการ EL ทำให้เห็นโลกที่กว้างขึ้น เปิดมุมมอง จากเดิมที่มองแต่กรอบตัวเอง ได้เจอคนหลายภาคส่วน มีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ การศึกษา นำประสบการณ์มาเป็นข้อมูล ตั้งโจทย์แก้ไขร่วมกัน เพื่อให้สังคมลดความเหลื่อมล้ำ ได้มากที่สุด ความน่าสนใจของโครงการนี้ คือ การเชื่อมต่อเครือข่าย จนเกิดการสานพลัง การลงพื้นที่ เรียนรู้ดูงานกับ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล ทดลองนั่งวีลแชร์ ใช้ชีวิตในสังคม จนนำประสบการณ์ตรง ไปต่อยอดการทำงานฟื้นฟูผู้ป่วย ที่ต้องกลายเป็นคนพิการรายใหม่”
“แต่ก่อน รพ. ไม่มีศูนย์ให้ความรู้ หรือดูแลฟื้นฟู แนะนำผู้ป่วยทางจิตใจ การใช้ชีวิต ให้ก้าวข้ามรับความพิการได้ หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ ได้นำไปปรับแผน เกิดการร่วมทำงาน 3 กลุ่ม คือ คนพิการรายใหม่ ที่ปรึกษาจากศูนย์คนพิการฯ เจ้าหน้าที่ รพ. ใช้กระบวนการ Peer Counselor หรือ เพื่อนผู้ให้คำปรึกษา ฝึกทักษะเตรียมตัวรับมือกับร่างกาย และจิตใจที่เปลี่ยนไปจากเดิม กระตุ้นคนพิการรายใหม่ ให้กล้าออกไปใช้ชีวิต ไปจ่ายตลาด เข้าสังคมชุมชน ทั้งนี้ รพ. เปิดโอกาสจ้างงานคนพิการที่ได้รับการฟื้นฟู ให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมโดยที่ไม่อุปสรรค” นพ.ยุทธกรานต์ กล่าว
ขอบคุณ... https://shorturl.asia/k49QP