‘คนยากจน-พิการ-อยู่ห่างไกล’ เจ็บป่วยเท่าไหร่ก็ไม่ได้รักษา TDRI เปิดงานวิจัยการเข้าถึงบริการ แนะรัฐพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลช่วย
ขณะที่คนไทยกว่า 99% จาก 67 ล้านคนมี ‘สิทธิ’ ในการ ‘เข้าถึง’ การดูแลรักษาความป่วยไข้ แต่ในจำนวนนี้อาจมีคนอีกนับล้านคนที่ยังไม่สามารถไปใช้สิทธิของตนเองได้ ซึ่งเกิดจากทั้งอุปสรรคของตัวบุคคลเอง เช่น ความพิการ เป็นคนชายขอบ ไปจนถึงสาเหตุจากตัวระบบ อย่างงบประมาณสนับสนุนที่ไม่เพียงพอ การกระจุกตัวของเครื่องมือทางการแพทย์ และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
ดังนั้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) หรือ ทีดีอาร์ไอ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดประชุมสัมมนาสาธารณะ ในวันที่ 10 ก.ค. 2566
เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัล” โดย ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู รองประธานสถาบันและผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาทั่งยืน ทีดีอาร์ไอ ซึ่งพยายามหาลู่ทางในการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจน ผู้พิการ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
ดร.เสาวรัจ อธิบายถึงสถานการณ์ปัญหาว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนคนยากจนประมาณ 4.4 ล้านคน หรือ 6% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ โดยจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่าสาเหตุหลักมาจากการเดินทางไม่สะดวก ไม่มีเวลา ไม่มีผู้พาไปรับการรักษาและไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษา แม้จะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ก็ตาม
“ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพสะท้อนชัดเจนว่าคนยากจจนมีมากกว่ากลุ่มคนรายได้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้รับการตรวจรักษาเมื่อมีความจำเป็นในคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน หรือกลุ่มคนยากจนที่มีโรคเรื้อรังเยอะอย่างเบาหวาน ไขมันจะมีมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ยิ่งถ้าอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเป็นคนพิการก็จะยิ่งมีปัญหาหนักขึ้นไปอีก” ดร.เสาวรัจ ขยายความเสริม
ในส่วนผู้พิการมีราว 3.7 ล้านคน ส่วนใหญ่จะมีความบกพร่องทางสายตา การเคลื่อนไหว และการได้ยิน ซึ่งแม้เกือบทั้งหมดจะได้รับการตรวจรักษาเมื่อมีความจำเป็น แต่ยังมีอีก 4% ที่ไม่ได้รับบริการ โดยมีเหตุผลเดียวกับกลุ่มคนยากจนดังที่กล่าวไปแล้ว อีกทั้งผู้พิการจำนวนมากมีความจำเป็นต้องได้รับเครื่องช่วยผู้พิการ เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยฟัง ฯลฯ แต่ที่น่าเสียใจคือมีเพียง 15% เท่านั้นที่ได้รับ นอกจากนี้ผู้ที่พิการและมีสถานะยากจนด้วยมีสัดส่วนเป็น 22% ของจำนวนผู้พิการทั้งหมด และมักมีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่ากลุ่มผู้พิการที่ไม่ยากจนด้วย
ดร.เสาวรัจ บอกต่อไปว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากที่อาจจะทั้งยากจน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย คือ กลุ่มคนที่อยู่ในหมู่บ้านทางชายแดนของภาคเหนือใน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ใกล้สุดหากพิจารณาจากระยะทาง ขณะที่เกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 22 กม. หรือใช้เวลาเดินทางมากกว่า 30 นาที
นอกจากความยากจน หรือสรีระทางร่ายที่เป็นอุปสรรคใหญ่ในการเข้าถึงบริการได้ยากแล้ว การขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ก็เป็นหนึ่งความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหา โดยหากเทียบกับต่างประเทศ พบว่า อัตราส่วนต่อเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญในการรักษาประชากร เช่น เครื่อง CT Scan จะอยู่ในระดับปานกลางจนถึงต่ำ และหากดูรายจังหวัดจะเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับมีสัดส่วนสูงที่สุด แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนต่ำที่สุด
มากไปกว่านั้น ปัญหาการกระจายตัวของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์เฉพาะทางยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในระบบ โดยมักมีความกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่อย่าง เชียงใหม่ ขอนแก่น สงชลา และ กทม. ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะจังหวัดเหล่านี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนแพทย์ระดับภูมิภาค แตกต่างจากทางภาคอีสานที่จังหวัดส่วนใหญ่มีแพทย์เฉพาะทางค่อนข้างน้อย
ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า ด้วยปัญหาเหล่านี้ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม สร้างกลไกในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัลมี 8 กรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่น กลไกที่ช่วยในการเข้าถึงเครื่องช่วยสำหรับผู้พิการทางการ เช่น มูลนิธิขาเทียม องค์กรไทยฤทธิ์ ที่ผลิตมือเทียมนิ้วเทียม บริษัท ซีเมด เมดิคอล จำกัด ซึ่งทำรถเข็นแบบปรับยืนได้
กลไกการใช้การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาในพื้นที่ห่างไกล อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทำระบบวิดีโอคอลสำหรับเชื่อระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กับ โรงพยาบาลแม่ข่าย รวมถึงร่วมมือกับ สวทช. และภาคธุรกิจเอกชนในการจัดทำแอปพลิเคชันสุขภาพออนไลน์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเมื่อไม่นานมานี้
ทั้งนี้ กลไกเสริมบางส่วนสามารถดำเนินการสำเร็จได้อย่างดี เนื่องจากสามารถดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่ครบวงจร การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด การลดอุปสรรคที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ประสานงานติดตาม สนับสนุนค่าใช้จ่าย ฯลฯ และมีการพัฒนาเครื่องมือที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการดำเนินการของกลไกเสริมเหล่านี้มี 5 ข้อ ก็คือ 1. แหล่งที่มาของงบประมาณ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบริจาค 2. ขอบเขตการดำเนินงานจำกัดไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากพอ 3. สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ครอบคลุมการใช้เครื่องมือ หรือกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ 4. มีการพัฒนาที่ล่าช้า และโมเดลทางธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์ตลาดและมาตรฐานสินค้า สุดท้าย 5. ขาดการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการ
“เราจะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ เป็นความท้าทายที่ซับซ้อน โดย 4 ผู้เล่นที่สำคัญคือ ผู้ผลิต ผู้จ่ายเงิน บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากในเคสของเราคือกลุ่มผู้พิการ กลุ่มคนยากจน กลุ่มคนที่อยู่ที่ในพื้นที่ห่างไกล เขาไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นต้องมีคนที่จ่ายเงินเป็นตัวกลาง” ดร.เสาวรัจ ระบุ
ดร.เสาวรัจ กล่าวต่อไปว่า โดยการจะแก้ไขปัญหานี้ได้สามารถทำได้ใน 5 แนวทาง ได้แก่ 1. เพิ่มจำนวนเครื่องมือแพทย์ 2. ใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3. พัฒนาเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์มากขึ้น 4. ลดอุปสรรคในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ 5. ทำให้คนตระหนักถึงสิทธิสุขภาพของตนเองมากขึ้น
สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐ คือ 1. ควรมีการสนับสนุนให้ทุนอย่างต่อเนื่องให้แก่หน่วยงานที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อให้การพัฒนาวางแผนในระยะยาวได้ 2. สธ. ควรลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย โดยเพิ่มช่องทางการให้บริการ ทั้งในเรื่องของการรับถ่ายทอดโครงการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ หรือเพิ่มการเข้าถึงในพื้นที่ห่างไกล และขณะเดียวกันก็ต้องจัดสรรบุคลากรแพทย์ให้เหมาะสม เพื่อให้การใช้เครื่องมือเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขยายระบบเทเลเมดิซีนให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล
รวมถึง สปสช. ควรเพิ่มสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น เช่น การคัดกรองไม้ใบตับด้วยชุดตรวจปัสสาวะ รวมถึงควรสนับสนุนค่าเดินทางและค่าที่พักให้กับผู้ป่วยที่ยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีความพิการ เพราะคนกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 3. สธ. ควรสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าถึงบริการให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบติดตาม การรักษา และฐานข้อมูลกลางสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคในระดับประเทศ
4. สธ. ควรจัดทำฐานข้อมูลกลางในการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ 5. หน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุนผู้พัฒนาและผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลตลอดห่วงโซ่คุณค่า เช่น กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ 6. สธ. ควรส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงสิทธิด้านสุขภาพ และให้ความสำคัญในการเข้ารับบริการสุขภาพผ่านการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้มากขึ้น เช่น ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
ดร.เสาวรัจ บอกอีกว่า ส่วนข้อเสนอต่อกลไกเสริม คือ 1. เพิ่มแหล่งรายได้ขอมูลนิธิ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น หาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ กระจายแหล่งเงินบริจาค 2. ขยายเครือข่ายดำเนินการ โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนื้พื้นที่ เช่น อสม. รพ.สต. และ 3. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อปรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างการเข้าถึงและการรับข้อมูลการดำเนินงานให้มากขี้น