ชวนทำความรู้จัก Ableist Language เมื่อ ‘แสนดี’ ถูกใช้ความพิการโจมตี หลังวิจารณ์คนโหวตก้าวไกล
หลังจากกรณีที่ แสนดี—แสนปิติ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทยออกมาเรียกผู้สนับสนุนของพรรคด้วยคำว่า ‘bratty teenagers’ (วัยรุ่นที่มีแต่ตัวเองเป็นศูนย์กลาง) และ ‘disobedient children’ (เด็กไม่เชื่อฟังพ่อแม่) ที่หลายคนมองว่าเป็นคำที่ไม่เหมาะสม ก็มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบางคนหยิบยกความพิการของเขามาเป็นเครื่องมือในการโจมตีกลับ หรือที่เรียกว่า ‘Ableist Language’
ในวันนี้ (18 กรกฎาคม) The MATTER จึงอยากจะชวนทุกคนไปรู้จักกับ ‘Ableist Language’ ว่าคืออะไรกัน?
ก่อนอื่น ขอเกริ่นถึง ‘Ableism’ กันก่อน ว่าคือการเลือกปฏิบัติและอคติทางสังคมต่อคนพิการ ทั้งคนพิการทางร่างกาย สติปัญญาและทางจิตเวช ภายใต้ทัศนคติที่เชื่อว่าคนไม่พิการมีความสามารถเหนือกว่า และภายใต้ทัศนคติที่เชื่อว่าคนพิการต้องการได้รับการแก้ไข
โดย Ableism มีหลากหลายรูปแบบและวิธีการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ยังหมายความรวมไปถึงการใช้ ‘Ableist Language’ ที่ก็คือการนำความพิการ รวมทั้งชื่อโรคทางจิตเวชมาใช้ในเชิงลบหรือเอาไว้ต่อว่าผู้อื่น เช่นคำว่าเอ๋อ ปัญญาอ่อน การเรียกคนอื่นด้วยความพิการแทนชื่อ การล้อเลียน การเหมารวม การสงสาร และการใช้ความรุนแรงต่อคนพิการ ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากการเหยียดเชื้อชาติ หรือการกีดกันทางเพศ
นั่นยังหมายความรวมไปถึงในสถานการณ์อย่างการถามว่า ‘หูหนวกเหรอ?’ เมื่อคนนั้นไม่ได้ยินสิ่งที่พูด, บอกว่าเป็น OCD เพื่อนิยามว่าตัวเองเป็นคนมีระเบียบ ซึ่งยังอาจหมายความรวมถึงการชม และใช้คำสละสลวยเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกคนพิการว่าคนพิการ เช่น เรียกว่าผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ชมว่าเก่งเหมือนไม่ได้พิการ
แล้วเราไม่สามารถพูดถึงความพิการได้เลยหรือเปล่า? การนิยามคนใดคนหนึ่งว่าเป็นอะไร อาจต้องมองในเรื่องของการให้เกียรติกัน หากเป็นไปได้ก็ควรจะถามบุคคลนั้นว่าอยากให้อธิบายตัวตนเขาว่าอย่างไร ซึ่งควรจะอ้างถึงความพิการเฉพาะเมื่อมีส่วนที่เกี่ยวข้อง และควรจะให้ความสำคัญไปที่ตัวบุคคล ไม่ใช่ความพิการของเขา
ในส่วนของผลกระทบจากการใช้ Ableist Language โรซ่า ลี ทิมม์ (Rosa Lee Timm) จากองค์กรบริการสื่อสารสำหรับพิการทางการได้ยิน (Communication Service for the Deaf) ระบุว่า “การใช้ Ableist Language ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการกีดกัน มันเป็นการนิยาม แบ่งแยก และทำให้พวกเขาเป็นคนชายขอบ”
นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Fraser Valley ในแคนาดายังระบุถึงประเด็นดังกล่าวอีกว่า “แม้ว่ามันอาจจะเป็นแค่คำพูดสำหรับคุณ แต่คุณก็ไม่สามารถรู้ได้ว่ามีใครอยู่รอบตัวคุณและ [มีคนที่] เจ็บปวดกับคำพูดเหล่านั้นแค่ไหน”
ขอบคุณ... https://thematter.co/brief/208617/208617