เปิดโลกสู่ดินแดนแห่งการเลือกปฏิบัติ ฟังเสียงคนพิการ-ทำแท้ง-ไร้บ้าน-ค้าบริการทางเพศ ในเมืองกรุง
ไม่ถูกรับเข้าทำงานเพราะพิการ / โดนชี้หน้าด่าว่าบาปเพราะทำแท้ง / ถูกตีตราว่าไม่มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เพียงเพราะเป็นคนไร้บ้าน หรือเป็นผู้ค้าบริการทางเพศ
เหล่านี้คือภาพตัวอย่างของสิ่งที่คนบางกลุ่มเผชิญจนอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไปสังคมไทย ด้วยสาเหตุหลักคือทัศนคติของคนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เปิดกว้างต่อคนเหล่านี้มากนัก และนั่นก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหลายด้านได้อย่างทัดเทียมคนอื่นๆ ในสังคม ดังเช่น คนพิการที่ถูกกีดกันจากสิทธิทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ คนต้องการทำแท้งที่ไม่สามารถเข้ารับบริการทำแท้งอย่างปลอดภัยตามกฎหมายได้ง่าย คนไร้บ้านที่ไม่อาจเข้าถึงสวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ และกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศที่ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่ และขาดซึ่งการคุ้มครองสวัสดิภาพในชีวิต
101 ลงพื้นที่สำรวจซอกมุมต่างๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากทั้งผู้พิการ คนทำแท้ง คนไร้บ้าน และผู้ค้าบริการทางเพศ รวมถึงหน่วยงานภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ดูแลสิทธิสวัสดิภาพของคนทั้งสี่กลุ่มนี้ ว่าพวกเขากำลังประสบปัญหาใดบ้างจากการถูกเลือกปฏิบัติในสังคม และพวกเขากำลังคาดหวังอะไรในยามที่รัฐบาลใหม่กำลังเข้ามา ผ่านกิจกรรม ‘MovED x MuvMi : เปิดเส้นทางสู่ดินแดนแสนล้านการเลือกปฏิบัติ’ โดย เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED)
ร้านกาแฟที่เงียบที่สุด… หนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่พร้อมเปิดรับผู้พิการ
เมื่อมองภายนอก ร้าน ‘ยิ้มสู้คาเฟ่’ ณ ซอยอรุณอมรินทร์ 39 เป็นเหมือนร้านกาแฟทั่วไปที่ให้บรรยากาศเป็นกันเองและกลิ่นกาแฟที่ลอยมาแตะจมูกเป็นช่วงๆ แต่ความไม่เหมือนใครที่ซ่อนอยู่ คือพนักงานทุกคนในร้านเป็นคนหูหนวก การสื่อสารกับพวกเขาทั้งการสั่งกาแฟ และการบอกความต้องการอื่นๆ จึงต้องใช้ภาษามือหรือไม่ก็การเขียนเข้าช่วย แม้จะฟังดูยาก แต่การให้บริการของพนักงานเหล่านี้ก็เป็นไปอย่างราบรื่น โดยที่ใบหน้าของพวกเขาก็เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มตลอดทุกขั้นตอนของการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ภาพบรรยากาศแบบนี้สามารถพบเห็นได้ในพื้นที่เล็กๆ ไม่กี่พื้นที่ในเมืองใหญ่แห่งนี้เท่านั้น หากมองออกมานอกอาณาบริเวณของยิ้มสู้คาเฟ่ การใช้ชีวิตของคนหูหนวกกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิดและยังถูกกีดกันจากโอกาสต่างๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมทำความเข้าใจพวกเขา
วิภาวรรณ คันใจ คนหูหนวกซึ่งเป็นหนึ่งในบาริสต้าของยิ้มสู้คาเฟ่มาเป็นเวลารวม 3 ปี มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเราผ่านล่ามภาษามือ วิภาวรรณเล่าว่า ก่อนจะได้เข้าทำงานที่ยิ้มสู้คาเฟ่ การหางานของเธอเป็นไปอย่างยากลำบาก หากเธอไปสมัครงานในที่ที่ไม่ได้ระบุว่ามีโควตาพิเศษสำหรับคนพิการ ก็มักถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าที่นั่นต้องการคนหูดีที่สื่อสารได้ หรือต่อให้ถูกรับเข้าทำงาน เธอก็สื่อสารได้ช้ากว่าคนอื่นๆ เพราะต้องใช้ภาษามือ และยิ่งถ้าเพื่อนร่วมงานไม่รู้ภาษามือ ก็ต้องใช้การเขียน ซึ่งเธอก็เขียนได้ช้าและอาจเรียงประโยคได้ไม่ดีเหมือนคนหูดี เนื่องจากไวยากรณ์ของภาษามือกับภาษาไทยแตกต่างกัน เป็นเหตุให้เพื่อนร่วมงานไม่พอใจ เกิดการตัดสินในตัวเธอ และเกิดคำพูดบอกต่อกันในที่ทำงานว่า “อีนี่พูดยาก ไม่ต้องไปคุยกับมันหรอก”
และหากย้อนไปถึงช่วงชีวิตวัยเรียน คนหูหนวกรวมถึงคนพิการในด้านต่างๆ ล้วนต้องเผชิญกับการถูกตีตราจากวาทกรรมที่ว่า “คนพิการไม่ต้องเรียนสูงก็ได้” ด้วยมุมมองที่ว่าคนพิการมีความสามารถด้อยกว่าคนทั่วไป
นิลุบล จันทวิรา ผู้จัดการร้านยิ้มสู้คาเฟ่ ไม่เห็นด้วยกับวาทกรรมดังกล่าว โดยยกตัวอย่างพนักงานในร้านหลายคนที่ได้เรียนจนจบปริญญาตรี และมีความสามารถในการทำงานได้อย่างราบรื่น แม้จะมีอุปสรรคด้านการสื่อสารบ้าง แต่พวกเขาก็สามารถหาวิธีการให้เข้าใจตรงกันได้ อย่างการสั่งกาแฟ ภายในร้านมีวิดีโอแนะนำวิธีการใช้ภาษามือบอกความต้องการต่างๆ เช่น บอกระดับความหวาน หรืออาจใช้วิธีการชี้ในใบเมนูก็ได้เช่นกัน
ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา วิภาวรรณเองได้กลับไปใช้สิทธิ์ที่ภูมิลำเนา เธอมีความคาดหวังกับว่าที่รัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายที่ดูแลใส่ใจกลุ่มคนพิการมากขึ้น เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจนของคนพิการ รวมถึงการกระจายโอกาสให้เข้าถึงคนพิการอย่างทั่วถึง โดยวิภาวรรณให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะหากดูข่าวทางโทรทัศน์ช่องที่ไม่มีล่ามภาษามือก็จะไม่ทราบข่าวเลย ตนจึงอยากให้มีล่ามภาษามือ หรืออย่างน้อยให้มีคำบรรยายว่าเล่าถึงเหตุการณ์อะไรอยู่
ขณะที่ สุนทร สุขชา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ระบุถึงความคาดหวังของตนในฐานะที่เป็นคนตาบอดว่า “ผมอยากใช้ชีวิตได้ปกติทั่วไปเหมือนกับคนอื่นๆ” เขาเห็นว่า ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่นี้จะมีนโยบายในการส่งเสริมสังคมที่เท่าเทียม การผลักดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ รวมไปถึงอีกนโยบายที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง นั่นคือ เบี้ยความพิการ หรือการให้เงินสมทบแก่ผู้พิการในแต่ละเดือน อย่างไรก็ตาม สุนทรมองว่าเงินจำนวนนี้เป็นเพียงตัวเสริมแรงเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือการที่คนพิการจะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั้งสังคมจะต้องร่วมกันสร้างไปด้วยกัน
ฝ่าดงอคติทางศีลธรรม กว่าจะได้ทำแท้ง
ประเทศไทยได้กำหนดให้ ‘การทำแท้ง’ มีความผิดและมีโทษทางกฎหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 จนเมื่อปี พ.ศ. 2564 ‘กฎหมายทำแท้ง’ ฉบับแก้ไขใหม่ ได้ระบุให้การทำแท้งในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์สามารถทำได้โดยไม่มีความผิดใด และในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปสามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด แต่แม้การทำแท้งจะถูกกฎหมายแล้วก็ยังเข้าถึงได้ยาก เพราะยังมีอุปสรรคมากมายที่ยังไม่ถูกแก้ไข ทั้งในขั้นตอนการเข้ารับบริการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทัศนคติของคนในสังคม
เมื่อพูดถึงการทำแท้ง คนมักนึกภาพตามที่ถูกปลูกฝังจากคำสอนและจากสื่อต่างๆ อย่างภาพหญิงท้องแก่ ทารกตัวใหญ่มีเลือดกระจายจำนวนมาก และสถานบริการทำแท้งร้างที่หลอดไฟติดๆ ดับๆ เหมือนในหนังสยองขวัญ โดยประเด็นดังกล่าวก็เคยถูกสร้างเป็นหนังสยองขวัญจริงเมื่อปี 2553 อิงเหตุการณ์จริงจากข่าวพบศพเด็กทารก 2,002 ศพที่วัดไผ่เงิน แต่แทนที่เรื่องน่าสะเทือนใจดังกล่าวจะนำมาสู่การถกเถียงเพื่อแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมอย่างจริงจัง กลับกลายเป็นภาพจำสุดสยองของผีเด็กที่ตามหลอกหลอนจากการถูกทำแท้ง
โจทย์ของการผลักดันการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายจึงไม่ได้อยู่ที่การแก้ไขเชิงนโยบายมากเท่ากับการต่อสู้กับทัศนคติของคนในสังคมที่ยังตีตราว่าการทำแท้งเท่ากับบาป มองว่าคนทำแท้งเป็นผู้หญิงไม่ดีและน่ารังเกียจ ขณะที่ฝ่ายชายมักลอยตัวเสมอ และการต่อสู้กับอคติของคนในสังคมนี้เองก็คือศึกหนักของ ‘กลุ่มทำทาง’ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ผลักดันการทำแท้งถูกกฎหมาย การให้คำปรึกษา และสร้างความเข้าใจเรื่องทำแท้งปลอดภัย
แม้วันนี้การทำแท้งจะถูกกฎหมายแล้วในประเทศไทย แต่อคติและการตีตราที่ยังคงอยู่ในสังคมนี้ทำให้การทำแท้งอย่างถูกกฎหมายยังเข้าถึงได้ยาก โดยกลุ่มทำทางพาเราไปเผชิญความรู้สึกของคนทำแท้ง ผ่านการผจญเส้นทางอันน่าเจ็บใจในเกมบันไดงู ‘กว่าจะได้ทำแท้ง’ ทำให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนขึ้นว่า กว่าที่ผู้ต้องการทำแท้งจะได้รับบริการทำแท้ง ต้องผ่านอุปสรรคอะไรบ้าง
ท้องไม่พร้อม ไม่กล้าปรึกษาใคร; ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐหายาก จึงหลงเชื่อเพจขายยาเถื่อน
หลักสูตรเพศศึกษาและข้อมูลจากภาครัฐของไทยทุกวันนี้ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ตั้งครรภ์รู้ว่า หากต้องการทำแท้งปลอดภัยควรทำอย่างไร และเมื่อจะหันไปปรึกษาใคร ก็รู้ดีว่าจะต้องเผชิญอคติและการด่าทอ ทำให้พวกเขาอาจต้องพึ่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีแหล่งซื้อยาเถื่อนที่เข้าถึงได้อย่างง่ายดายอยู่จำนวนมาก และผู้ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลที่ถูกต้องก็อาจหลงเชื่อการทำแท้งแบบผิดกฎหมาย จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
หมอไม่เชื่อว่าตั้งใจคุมกำเนิดแล้ว พร้อมตำหนิว่าไม่มีความรับผิดชอบ; หมอไม่ทำแท้งให้ เพราะกลัวบาป
ในความเป็นจริงแล้วไม่มีการคุมกำเนิดใดที่ได้ผลแน่นอน 100% แต่ผู้เข้ารับบริการที่ได้พยายามคุมกำเนิดแล้วกลับถูกตีตราว่าไม่รับผิดชอบจนต้องมาทำแท้ง นอกจากนั้นยังต้องเผชิญปัญหาจากความเชื่อส่วนตัวของหมอในเรื่องบาปกรรมหรือความเชื่ออื่นทางศาสนาที่ทำให้หมอปฏิเสธการให้บริการ โดยกลุ่มทำทางให้ความเห็นว่าหากหมอไม่พร้อมให้บริการ ก็ควรส่งต่อผู้ตั้งครรภ์ไปสถานบริการปลายทางให้เร็วที่สุด โดยต้องไม่มีการตีตราหรือโน้มน้าวให้เปลี่ยนการตัดสินใจเป็นไม่ทำแท้ง
สถานพยาบาลไม่ทำแท้งให้; จังหวัดที่อยู่ไม่มีสถานบริการทำแท้ง
จากสถานพยาบาลทั่วประเทศ 1,300 แห่ง มีเพียง 108 แห่ง (8.3% ของทั้งหมด) ใน 45 จังหวัดเท่านั้นที่ให้บริการทำแท้ง โดยหลายแห่งไม่เปิดเผยว่ามีบริการเพราะกลัวว่าสถานพยาบาลจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ทำให้การเข้าถึงบริการนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก และในหลายสถานพยาบาลยังปฏิเสธการให้บริการโดยอ้างว่าต้องเป็นการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืนเท่านั้น หรืออ้างว่าอายุครรภ์เกินกำหนด ทั้งที่เงื่อนไขตามกฎหมายอาจไม่ได้ระบุเช่นนั้น
คนที่เห็นด้วยกับการทำแท้งถูกกฎหมายจำนวนหนึ่งมองว่า การทำแท้งคือความรักที่แท้จริงที่มีต่อเด็กที่อาจเกิดมาในอนาคต เพื่อไม่ให้ต้องมีคนต้องเกิดมาในสภาวะที่ผู้เลี้ยงไม่มีความพร้อม และเป็นสิทธิเหนือร่างกายที่ผู้ตั้งครรภ์พึงมีและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ภาพที่กลุ่มทำทางหวังว่าจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้ของประเทศไทย จึงเป็นการ ‘ลดอคติ’ และ ‘ขยายบริการ’ เพื่อให้ผู้ที่ไม่ประสงค์ตั้งครรภ์ต่อสามารถรับบริการทำแท้งได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องถูกตีตราจากใครก็ตามตลอดกระบวนการ
สิทธิการใช้ชีวิตในที่สาธารณะของคนไร้ ‘บ้าน’
บ่ายแก่วันอาทิตย์ ณ ตรอกสาเก ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะกำลังต่อแถวยาวหน้าเต็นท์ใหญ่ที่กำลังจะมีการแจกข้าวกล่อง อันเป็นกิจกรรมพิเศษที่ไม่ได้มีเป็นประจำทุกวัน จึงเป็นโอกาสดีที่สักหนึ่งมื้อในสัปดาห์นั้นๆ พวกเขาจะได้ทานอาหารดีๆ ที่ไม่ใช่เศษอาหารเหลือทิ้งจากในถังขยะบ้าง
แต่การแจกข้าวช่วยแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ เพราะเมื่อข้าวในกล่องหมดลง เขาก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนโดยไร้ซึ่งสวัสดิการที่ดี และไม่มีโอกาสให้ได้กลับไปใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ทัดเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคมเลย
ด้วยการเล็งเห็นถึงปัญหาที่ลึกลงไปนี้ ‘มูลนิธิอิสรชน’ จึงมุ่งทำงานเชิงนโยบาย และลงไปเป็นเพื่อนกับคนไร้บ้าน เพื่อค้นหาถึงต้นตอปัญหา และทำให้คนไร้บ้านสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้
เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิอิสรชนพาพวกเราไปจำลองการลงพื้นที่พูดคุยกับคนไร้บ้านที่อาศัยในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นวิธีการทำงานโดยทั่วไปของมูลนิธิ ที่ไม่เพียงแต่นำของไปแจกเท่านั้น แต่ยังใช้เวลาในการพูดคุย สัมผัสถึงใจของคนไร้บ้านแต่ละคนว่าพวกเขาเผชิญปัญหาอะไรอยู่ และความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละคนนั้นมีอะไรบ้าง
ระหว่างทางเราได้เห็นภาพคนไร้บ้านที่ล้วนเป็นผู้สูงอายุ ร่างกายกรำแดด และมีของใช้ติดตัวเพียงไม่กี่ชิ้น บางคนเล่าให้เราฟังว่าจากบ้านมากว่าสิบปีแล้ว บ้างก็ดูไม่ค่อยอยากพูดถึงบ้านเท่าไรนัก แต่ที่น่าสะเทือนใจคือชายสูงวัยคนหนึ่งซึ่งไม่สามารถขยับตัวได้มากนัก โดยระบุว่าตนเจ็บขามากว่าครึ่งเดือนแล้ว และได้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปยัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แต่ยังไม่ได้รับการรักษา
อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนให้ข้อมูลว่า คนไร้บ้านถือเป็นกลุ่มที่หลุดออกมาจากสังคมด้วยเหตุแห่งสวัสดิการที่ไม่สามารถดูแลชีวิตของคนที่มีเงื่อนไขชีวิตแตกต่างกันออกไปได้ ขณะที่ภาพลักษณ์ของคนไร้บ้านเอง รวมถึงการปลูกฝังในสังคม ก็ทำให้คนไร้บ้านถูกมองในเชิงรังเกียจ และไม่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นปัญหาทางทัศนคติที่ยิ่งตอกย้ำปัญหาคนไร้บ้านให้ฝังลึก
อัจฉราเล่าถึงความพยายามที่จะหาที่อยู่อย่างเหมาะสมให้กลุ่มคนไร้บ้าน แต่ต้องเผชิญการตีตราจากเจ้าของสถานที่ต่างๆ เช่น เมื่อติดต่อไปทางวัดที่มีศาลาวัดว่าง เจ้าอาวาสก็ปฏิเสธและพูดถึงคนไร้บ้านว่า “ผู้คนเหล่านี้เป็นเดนมนุษย์ ไม่ควรไปช่วยเหลือ” หรือเมื่อติดต่อขอสถานที่ในตึกร้าง ภาคเอกชนก็ไม่อยากเข้าร่วม
อย่างไรก็ดี แม้การหาที่อยู่ให้คนไร้บ้านนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้น แต่ก็ยังถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถึงต้นตออยู่ดี เช่นเดียวกับที่รัฐมักจะตีโจทย์ปัญหาจากแค่คำว่า ‘ไร้บ้าน’ และแก้โดยการสร้างบ้านให้ แต่จากการทำงานของมูลนิธิอิสรชนจึงพบว่าสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการมิใช่บ้าน หากแต่เป็นการยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และการให้โอกาสได้ใช้ชีวิต มีงานทำ ทัดเทียมกับคนอื่นๆ
“การต่อสู้เพื่อสิทธิคนไร้บ้าน จึงเป็นการต่อสู้ในเชิงทัศนคติ” และนี่ก็เป็นภารกิจที่มูลนิธิอิสรชนต้องการบรรลุ เพื่อไม่ให้การช่วยเหลือคนไร้บ้านจบลงเพียงที่ความสงสารและการมองว่าการช่วยเหลือคนไร้บ้านเป็นเพียงการสงเคราะห์ลงไปสู่เขา แต่อิสรชนมองว่าต้องไปถึงจุดที่มีสวัสดิการที่สามารถดูแลชีวิตของคนคนหนึ่งได้ แม้เขาจะตัดสินใจเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก็ควรได้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เฉกเช่นคนอื่นๆ ในสังคม
Sex Worker พื้นที่สีเทาที่ต้องไม่ถูกกฎหมาย แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย
‘เซ็กซ์เป็นเรื่องธรรมดา’ แต่ถ้ามีเซ็กซ์แลกเงิน กลับกลายเป็นถูกตราหน้าว่าไม่มีศักดิ์ศรีเสียอย่างนั้น
แม้ทุกวันนี้จะมีการพูดถึงอาชีพพนักงานบริการ หรือ sex worker อย่างกว้างขวางกว่าในอดีต แต่ผู้ให้บริการทางเพศยังต้องเผชิญกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยยังบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งมีเนื้อความเป็นการเอาผิดกับผู้ให้บริการทางเพศ พวกเขาจึงต้องติดอยู่ในพื้นที่สีเทาที่คนไทยรับรู้ร่วมกันว่าอาชีพนี้มีอยู่จริง แต่กลับไม่สามารถเรียกร้องสิทธิหรือการคุ้มครองที่ควรจะได้รับได้เลย
สุรศักดิ์ เนียมถนอม จากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เล่าว่า ตำรวจเองก็ทราบดีว่าในพื้นที่มีผู้ให้บริการทางเพศ โดยมักนำข้อกล่าวหาว่า “ผิดกฎหมาย” มาใช้ในการยัดข้อหาต่างๆ ต่อพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการประกอบอาชีพเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ก็ทำให้โดนข้อหา “…ยามวิกาล อยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีข้อหาที่ฟังดูแปร่งหูอยู่บ้าง เช่น “ยืนบดบังทัศนียภาพอันงดงามของพัทยา” ทำให้ผู้ให้บริการทางเพศต้องเสียค่าปรับให้กับข้อหาเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ หรือแม้กระทั่งการโดนตำรวจค้นตัวและนำเงินที่ติดตัวอยู่ไปทั้งหมดอย่างไม่มีเหตุผลก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดคำเตือนในกลุ่มคนอาชีพเดียวกันด้วยกันว่าไม่ควรพกเงินติดตัวไว้เยอะเวลาไปทำงาน
ขณะเดียวกัน ความผิดในการให้บริการทางเพศโดยตรงกลับมักไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการจับกุม แต่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเก็บ ‘ส่วย’ สุรศักดิ์เล่าว่าส่วยที่ต้องจ่ายนั้นมีราคาแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อย่างที่สวนลุมพินี ผู้ให้บริการจะต้องจ่ายครั้งละ 2,000 บาท และมีการประทับตราไว้ว่าจ่ายแล้ว โดยการประทับตรา 1 ครั้ง จะอยู่ได้ 2 วัน หลังจากนั้นจะมีคนมาเก็บส่วยใหม่อีกครั้ง ส่วนถ้าเป็นสถานบันเทิงต้องจ่ายเป็นรายเดือน ในราคาถึง 70,000-80,000 บาท หรือแล้วแต่สถานที่ เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องเดือดร้อนที่อาจตามมาภายหลัง
นอกจากการต้องใช้เงินแลกอาชีพแล้ว ผู้ให้บริการทางเพศยังไร้ซึ่งสวัสดิภาพในการทำงาน หากโดนแขกทำร้ายหรือละเมิดข้อตกลงในการว่าจ้างก็ไม่สามารถไปแจ้งความได้ เนื่องจากจะโดนซักไซ้จนต้องบอกว่าตนเป็นผู้ให้บริการทางเพศซึ่งเป็นอาชีพผิดกฎหมาย ทำให้โดนข้อหาไปด้วยทั้งที่ตนเป็นผู้เสียหายในขณะนั้น
สุรศักดิ์คาดหวังว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่จะสามารถยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นต้นตอของทุกปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้ให้บริการได้สำเร็จ โดยย้ำว่ากลุ่มพนักงานบริการไม่ต้องการให้อาชีพผู้ให้บริการทางเพศเป็นอาชีพที่ ‘ถูกกฎหมาย’ อันหมายถึงจะต้องมีการขึ้นทะเบียน ซึ่งจะยิ่งส่งเสริมให้ผู้ที่ทำงานด้านนี้ถูกตีตราจากการมีประวัติติดตัวไป ขณะที่ประเด็นในรายละเอียด เช่น การจัดการเก็บภาษี ควรนำมาถกเถียงกันอีกครั้ง
แม้จะไม่ได้ต้องการให้การค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย แต่สุรศักดิ์ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า “การขายบริการทางเพศต้องไม่ผิดกฎหมายเช่นกัน โดยคนที่จะเลือกเข้ามาประกอบอาชีพนี้ต้องทำได้ และมีคนเข้ามาคุ้มครองอย่างเหมาะสมโดยไม่ต้องขึ้นทะเบียน’
สุรศักดิ์ยังส่งเสียงไปถึงสังคมว่าเรื่องการขายบริการทางเพศและเรื่องเซ็กซ์ ถือเป็นประเด็นสุขภาวะของทุกคน จึงอยากให้มีทัศนคติว่าอาชีพนี้ถือเป็นอาชีพทั่วไปอาชีพหนึ่ง พนักงานบริการทุกคนมีศักดิ์ศรี แต่ยังมีปัญหาในรากเหง้าที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ หากคนในสังคมรับรู้ถึงปัญหาและมีทัศนคติทางด้านบวกต่อผู้ประกอบอาชีพนี้ เรื่องสิทธิของผู้ให้บริการทางเพศก็จะยิ่งก้าวหน้าขึ้นไปได้