สสส. เดินหน้ากิจกรรมสร้างสรรค์ ตอกย้ำความเสมอภาค ส่งเสริม ‘คนพิการ’ สู่พลังสังคม
ความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา อันเกิดจากโชคชะตา หรือ อุบัติเหตุ ไม่ได้ลดทอนสิทธิหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ลดน้อยลงเพียงเพราะเขาเหล่านั้นคือ “คนพิการ” เพราะทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่อยู่บนความเท่าเทียม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนพิการจำนวนไม่น้อย ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายและการเข้าถึงโอกาสในการศึกษา การพัฒนาทักษะ และทรัพยากรต่างๆ ในสังคม
ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาต้องการจากสังคม “ไม่ใช่ความสงสาร” หรือการสร้างเงื่อนไขในการพิจารณาความสามารถ ที่ดูจากปัจจัยความแตกต่างทางกายภาพเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องการคือ “ความเท่าเทียมและการยอมรับ” ว่าพวกเขาก็มีความสามารถและคุณค่าเช่นเดียวกับผู้อื่น การให้ความสำคัญ และการตอบสนองต่อความต้องการของคนพิการในทุกมิติ สร้างกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับสังคม ย่อมจะช่วยให้เขาเหล่านั้นมีความเท่าเทียมและมีโอกาสสร้างอนาคตที่ดี มีครอบครัวที่อบอุ่น มีสุขภาวะ เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศไทยได้ไม่ต่างจากผู้อื่นในสังคม
เรียนรู้-สร้างสรรค์ พัฒนาทักษะชีวิตคนพิการ
ด้วยเหตุนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการเร่งสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกมิติให้กับคนพิการ พร้อมเดินหน้าเปลี่ยนความเชื่อเดิม ๆ ว่าคนพิการคือภาระหรือเป็นกลุ่มคนที่ต้องการความสงสารจากสังคม เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.ภายใต้แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ มีความเข้าใจถึงความต้องการของกลุ่มคนพิการเป็นอย่างดี จึงได้เดินหน้าสนับสนุนและส่งเสริมคนพิการอย่างต่อเนื่อง ทั้งทักษะการทำงาน สุขภาพ การบริหารจัดการเงิน ทั้งยังมีโครงการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับคนพิการ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี 2565 ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ปัจจุบันจัดมาแล้วทั้งสิ้นรวม 20 ครั้ง ทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite เน้นกิจกรรมที่กลุ่มเป้าหมายสามารถร่วมเรียนรู้ ปฏิบัติ ต่อยอดได้ โดยมีคนพิการและครอบครัวเข้าร่วมด้วยถึง 697 คน
และเมื่อไม่นานมานี้ทางสสส.ได้กิจกรรมล่าสุดภายใต้ชื่อ “Let’s Exercise มาออกกำลังกายกันเถอะ : ตอน เฮฮากีฬาไทย” ณ อาคารจันทนยิ่งยง สนามกีฬาแห่งชาติ กิจกรรมกีฬาสีเพื่อสร้างสุขภาวะของคนพิการ มีการเดินขบวนพาเหรด ตัวแทนนักกีฬานำกล่าวปฏิญาณ “รวมพลังสุขภาพดี” กีฬาไทย เช่น ปิดตาตีปิ๊บ วิ่งกระสอบ ชักเย่อ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนพิการไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดให้อยู่บ้าน จำกัดความสามารถในการทำกิจกรรม หรือจำกัดการเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม โดยกิจกรรมดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วมถึง 100 คน แบ่งเป็น คนหูหนวก 25 คน คนตาบอด 20 คน คนพิการทางการเคลื่อนไหว 22 คน บุคคลออทิสติก 25 คน และผู้ดูแล 8 คน
“นอกจากนี้ สสส. ยังเดินหน้าจัดกิจกรรมรองรับประชาชนทุกเพศทุกวัย ในกิจกรรมวิ่งด้วยกันที่เป็นการวิ่งระหว่าง คนพิการกับคนทั่วไป มีการจัดงานใหญ่ปีละครั้งถึงสองครั้ง มีซ้อมทุกเช้าวันเสาร์ที่สวนลุมพินี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 และขยายจัดเพิ่มในอีก 5 จังหวัดส่วนกิจกรรมทางออนไลน์ได้เริ่มตั้งแต่ช่วงโควิด ภายใต้ชื่อ “70 วันมหัศจรรย์ของฉัน” เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันดื่มน้ำ กินผัก นอนให้เพียงพอ แบ่งเป็นรอบละ 500 คน โดยโพสต์ภาพกิจกรรมที่ตัวเองทำ เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้กับเพื่อน ๆ สร้างความเชื่อมต่อกันทางสังคมและสร้างสุขภาวะที่ดี โดยตอนนี้มีการเข้าร่วมผ่านทางออนไลน์รวมทั้งสิ้นแล้วกว่า 3,500 คน”
สำหรับกิจกรรมที่เหลือของโครงการจะเดินสายกับโรงเรียน และจัดกิจกรรม Road show ที่ เชียงใหม่ และ อุบลราชธานี เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ ขยายแนวคิด สร้างการเข้าถึง ส่งเสริมสุขภาพอย่างทุกพื้นที่ สำหรับผู้สนใจกิจกรรมต่าง ๆ ยังสามารถติดตามข้อมูลด้านสุขภาพประชากรกลุ่มเฉพาะได้ที่ Facebook : นับเราด้วยกัน
สุขภาวะที่ดี 4 มิติ
นางภรณี กล่าวย้ำถึงเจตนารมณ์สสส. ที่มีต่อคนพิการว่า เป้าหมายของ สสส. คือ ต้องการให้คนพิการมีสุขภาวะที่ดีครบ 4 มิติ ได้แก่
มิติทางกาย ฟื้นฟูศักยภาพคนพิการ ให้ร่างกายแข็งแรง ทำกิจกรรมต่างๆ ได้
มิติทางใจ มีความสุข มีความภูมิใจในตนเอง ได้รับการยอมรับ
มิติทางปัญญา พัฒนาศักยภาพ มีรายได้
มิติทางสังคม พึ่งพาตนเองได้ โดยร่วมงานกับเครือข่ายคนพิการ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญของการยกสถานะทางสังคมของคนพิการและครอบครัว ทำให้สังคมปรับเจตคติ เปลี่ยนความเชื่อจากคนพิการเป็นภาระสู่การเป็นพลัง
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดโดยภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านคนพิการอีกจำนวนมาก ซึ่งจะมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายและจัดกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
“หลักๆเลยกิจกรรมเหล่านี้ทำให้พวกเขาสามารถได้ออกจากบ้านมามีเพื่อน มีสังคม ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้ ที่เราสนับสนุนและได้ทางกรมพลศึกษามาช่วยถ่ายทอด ที่ทำให้คนพิการทางสติปัญญาได้ฟื้นฟูร่างกายหรือพัฒนาบุคลิกภาพ เช่น เรื่องของการเขียนที่จะทำให้เขารู้สึกดีและเข้าใจง่ายขึ้น เข้าสังคมได้เวลาเจอผู้คนอื่นๆ และจะเป็นแรงผลักดัน ทำให้เขามีแรงจูงใจในการกล้าเข้าสังคมมากขึ้นด้วย”
เพราะ “ทุกคน” เสมอภาคและเท่าเทียม
สำหรับคนพิการแล้วการได้รับการยอมรับและการได้รับโอกาสจากทุก ๆ คนในสังคม คือสิ่งที่เขาต้องการจากสังคมมากที่สุด นั่นหมายความว่า..เราต้องเชื่อมั่นและเห็นประสิทธิภาพของเขาจริง ๆ “ไม่ใช่การสงสาร” หรือ “การสงเคราะห์” ให้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น การช่วยเหลือ บางครั้งบางคราวทำได้ แต่หากยังไม่เชื่อมั่นในตัวเขาเรื่องพวกนี้อาจจะกระทบจิตใจได้ จึงต้องให้โอกาสกับเขาในการได้ลองทำกิจกรรมหลายหลายอย่างร่วมกับคนอื่น ไม่กีดกันหรือว่าไปเพิ่มอุปสรรคต่าง ๆ ให้ ต้องคิดว่าทำอย่างไร ให้คนพิการชื่นใจและมีความสุขในการอยู่ร่วมกับคนอื่นมากขึ้น
“การให้เกียรติการยอมรับ ในฐานะเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง การเปิดโอกาสการอยู่ร่วมกัน รอยยิ้มหรือสัมพันธภาพที่ดี ไม่ได้มองว่าเค้าแตกต่างหรือด้อยไปกว่าคนอื่น มุมมองเหล่านี้จะช่วยเป็นกำลังใจให้กับคนพิการ ในขณะเดียวกันคนพิการทำได้ดีแล้ว เราก็เปิดโอกาสเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ย่อมจะทำให้เรามีสังคมที่น่าอยู่ร่วมกัน” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าว
คน (พิการ) แตกต่างแต่ไม่ใช่ภาระ
นางสาวชาลินี โตเอี่ยม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายฯ กล่าวว่า กิจกรรม เฮฮากีฬาไทย สำหรับคนพิการที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่ได้กลับมาเล่นกีฬาสีอีกครั้ง หลังประสบอุบัติเหตุ ล้มหมดสติ เมื่อ 10 ปีที่ก่อน จากภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ จนป่วยติดเตียง ไม่สามารถเดินได้ แม้ปัจจุบันอาการดีขึ้น แต่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงการเดิน และเมื่อต้องกลายเป็นผู้บกพร่องทางร่างกาย จึงเคยรู้สึกด้อยค่าตัวเอง ไม่อยากออกไปไหน เพราะจะถูกมองด้วยสายตาที่เห็นเราเป็นภาระสังคม โครงการนี้ช่วยเติมเต็มให้รู้สึกว่าคนพิการ สามารถใช้ชีวิตร่วมกิจกรรมได้ เจอสังคม มิตรภาพใหม่ๆ ที่เป็นกำลังใจให้กัน มีโอกาสร่วมโครงการนี้หลายครั้ง เช่น การปลูกผักออร์แกนิก การเรียนรู้สัตว์ใต้น้ำ เก็บขยะ จิตอาสา “ปันแรง ปันสุข” ทุกครั้งที่ได้ทำกิจกรรม ยังเห็นพัฒนาการของเพื่อนคนพิการด้วยกัน ทำให้มีกำลังใจใช้ชีวิตในแบบของเรา
นางอรทัย ด่านดอน ผู้ปกครองผู้บกพร่องทางสติปัญญา และการเรียนรู้ กล่าวว่า เมื่อก่อนไม่กล้าพาลูกออกนอกบ้าน เพราะเขาเป็นออทิสติก บกพร่องพัฒนาการด้านสังคม ภาษา และการสื่อสาร รวมถึงพฤติกรรมด้านอารมณ์ หากอยู่ในที่ไม่คุ้นเคย หรือทำกิจกรรมที่ต่างจากตารางปกติ จะเสียงดัง มีพฤติกรรมกระทืบเท้า ทำให้คนรอบข้างกลัว แต่เพราะไม่สามารถอยู่กับเขาไปอีก 100 ปี จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการหลายครั้ง เช่น คัดแยกกระดาษ ทำขนม เพราะคิดว่าเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ลูกอยู่ในสังคมได้ โดยทางครอบครัวมีกระบวนการฝึกพูดให้เตรียมตัว สอนทักษะการใช้ชีวิต การเดินทาง ทั้งเจ้าหน้าที่ดูแลดี พบปะผู้ปกครองให้คำปรึกษา จนปัจจุบัน เขารู้จักการยืดหยุ่น นั่งรอได้ กล้าเดินทางด้วยรถสาธารณะ นั่งรถตู้ร่วมกับคนอื่นได้ และสนุกไปกับกิจกรรมที่ทำ เป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ปัจจุบัน คนพิการในประเทศไทยมีผู้ที่จดทะเบียนแล้ว 2,000,000 กว่าคน 2.18 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงประมาณ 47% ประเภทความพิการ ใน 7 ประเภท จะเป็นกลุ่มคนพิการทางการเคลื่อนไหวมากที่สุด คือกลุ่มที่ใช้วีลแชร์ พิการทางร่างกาย อันดับสองจะเป็นคนพิการทางการได้ยิน อันดับสามคือกลุ่มพิการทางการมองเห็น เป็นสามลำดับของความพิการ ส่วนสถานการณ์ทั่วไปเกินครึ่งจะเป็นผู้สูงอายุนั่นหมายความว่าถ้าเราอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็จะมีแนวโน้ม มีสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงจนไปถึงขั้นที่เรียกว่าคนพิการได้ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะอยู่ที่ 1.25 ล้านคน โดยจะเป็นทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ
ขอบคุณ... https://workpointtoday.com/thaihealth-4/