'ยืนหยุดทรราช' เชียงใหม่ สัปดาห์ที่ 59 : ตำรวจพัทลุง แจ้ง 112 ‘ธีรเมธ’ ผู้พิการทางสติปัญญาวัย 19 ปี
"ยืนหยุดทรราช" เชียงใหม่ เป็นสัปดาห์ที่ 59 ศูนย์ทนายความฯ รายงานตำรวจพัทลุง แจ้ง 112 ‘ธีรเมธ’ ผู้พิการทางสติปัญญาวัย 19 ปี ที่ จ.เลย จากกรณีพบคลิป TikTok มีภาพธีรเมธสวมเสื้อสีแดง สวมกางเกงยีนส์ขาสั้น ใส่ร้องเท้าแตะ นั่งคร่อมเหนือพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้
7 ส.ค. 2566 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา เวลา 17.00 - 18.12 น. กลุ่ม ‘We, The People’ จัดกิจกรรม "ยืนหยุดทรราช" เชียงใหม่ เป็นสัปดาห์ที่ 59 ที่บริเวณลานท่าแพ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 ธีรเมธ (สงวนนามสกุล) หรือ “นัท” ผู้บกพร่องด้านสติปัญญา (พิการประเภท 5) วัย 19 ปี เดินทางไปที่ สภ.ผาขาว จ.เลย เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 ซึ่ง ทรงชัย เนียมหอม ประชาชนชาว จ.พัทลุง เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง
ร.ต.อ.ธีรวุฒิ เหมือนพรรณราย และ ร.ต.อ.สมนึก บุญชู รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ทะเลน้อย ซึ่งเดินทางมาจาก จ.พัทลุง แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาให้นัททราบ โดยมีทนายความและญาติในฐานะผู้ไว้วางใจเข้าร่วมรับฟัง ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2566 ทรงชัย (ผู้กล่าวหา) ได้เปิดดูโซเชียลมีเดีย ผ่านแอปพลิเคชั่น TikTok ก่อนพบเห็น ผู้ใชับัญชี TikTok รายหนึ่ง โพสต์คลิปเป็นสาธารณะ ปรากฏภาพธีรเมธสวมเสื้อสีแดง สวมกางเกงยีนส์ขาสั้น ใส่ร้องเท้าแตะ นั่งคร่อมเหนือพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10
ผู้กล่าวหาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจกระทำเพื่อเผยแพร่ให้ออกสู่สาธารณชน หวังด้อยค่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมเสียพระเกียรติอย่างรุนแรง กระทบกระเทือนต่อจิตใจพสกนิกรผู้จงรักภักดีต่อสถาบันฯ เป็นการดูหมิ่นทั้งองค์พระประมุข ซ้ำยังเหยียบย่ำความรู้สึกของพสกนิกรผู้จงรักภักดีอย่างรุนแรง จึงแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจนกว่าจะถึงที่สุด
จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาธีรเมธใน 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเคอตร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
ธีรเมธให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะปรึกษากับทนายแล้วตัดสินใจไม่ขอตอบในทุกคำถามของพนักงานสอบสวนสอบ โดยขอให้การในชั้นศาล มีบางครั้งที่ธีรเมธไม่ได้ยินสิ่งที่พนักงานสอบสวนสอบถาม เนื่องจากตัวเขามีความบกพร่องทางการได้ยิน จึงต้องให้พนักงานสอบสวนถามซ้ำอีกครั้ง แต่ก็มีบางช่วงบางตอนที่ธีรเมธพอจะตอบคำถามไปบ้างว่า ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้แจ้งความร้องทุกข์มาก่อน พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า ไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองกับผู้ที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีในครั้งนี้แต่อย่างใด
หลังสอบปากคำเสร็จ ตำรวจให้ธีรเมธพิมพ์ลายนิ้วมือและสาบานตนว่าจะมาพบพนักงานสอบสวนตามกำหนดทุกครั้ง ก่อนปล่อยตัวกลับ
ก่อนการเดินทางจากพัทลุงมาแจ้งข้อกล่าวหาธีรเมธถึง อ.ผาขาว จ.เลย ซึ่งธีรเมธกลับมาอยู่บ้านกับพ่อได้ระยะหนึ่งแล้วนั้น เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ธีรเมธขณะยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้รับหมายเรียกครั้งที่ 2 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาไกลถึง สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 มาก่อน จึงติดต่อ อานนท์ นำภา ทนายความ
ต่อมา อานนท์ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจ ได้เดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. ระบุว่า ธีรเมธ เป็นผู้พิการทางสติปัญญา (พิการประเภท 5) ปรากฏตามสำเนาบัตรคนพิการ ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกดังกล่าว จึงขอให้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนในคดีนี้เดินทางมาสอบสวนนอกพื้นที่ คือเดินทางไปยังที่อยู่ปัจจุบันของผู้ต้องหา
โดยตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. 2551 ข้อบทที่ 13 บัญญัติถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของคนพิการซึ่งรัฐต้องอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
ก่อนที่ธีรเมธจะย้ายจากกรุงเทพฯ กลับไปอยู่กับพ่อและญาติที่ อ.ผาขาว จ.เลย และขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้งเป็นวันที่ 6 ส.ค. 2566
สำหรับชีวิตครอบครัวของธีรเมธ พ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เขายังอายุได้ไม่กี่ขวบ เขาจึงอาศัยอยู่กับญาติที่ อ.ผาขาว จ.เลย ธีรเมธเรียนถึงชั้น ม.3 ไม่กี่เดือนก่อนจบก็ออกจากโรงเรียนเพราะตัดสินใจไปตามหาพ่อที่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ หลังจากพ่อกลับมา ปัจจุบันธีรเมธอาศัยอยู่กับพ่อและญาติ ๆ ที่รับจ้างทำไร่อ้อย ในหมู่บ้านที่ห่างจากตัว อ.ผาขาว ออกไปราว 50 กิโลเมตร เดินทางจากบ้านมา สภ.ผาขาว ด้วยมอเตอร์ไซค์พร้อมกับญาติ แม้จะอยากมีงานทำและมีรายได้ แต่ด้วยอุปสรรคการใช้ชีวิต และงานแถวบ้านที่หายาก ธีรเมธจึงมีสถานะว่างงาน
ทุกวันนี้ธีรเมธยังต้องเดินเข้าอำเภอไปกลับร่วม 100 กิโลเมตร เพื่อรับเบี้ยผู้พิการจากรัฐเดือนละ 800 บาท ก่อนหน้านี้ธีรเมธเคยไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ด้วยความสนใจส่วนตัวอยากช่วยเหลือสังคมและคาดหวังจะชนะรัฐเผด็จการ ทำให้ธีรเมธเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอยู่หลายครั้ง กระทั่งถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมอย่างน้อย 21 คดี และยังต้องเดินทางไป-กลับ จ.เลย และ กรุงเทพฯ อยู่บ่อยครั้ง เพราะต้องไปขึ้นศาล “ไม่อยากให้คนรุ่นหลัง ๆ โตมาลำบากเหมือนเรา ให้มันจบที่รุ่นเรา รุ่นหลังมาเขาจะได้มีการศึกษาที่ดี มีชีวิตที่ดี” ธีรเมธ กล่าวสะท้อนไว้ตอนหนึ่ง
ขณะที่ ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ผู้กล่าวหาในคดี ก่อนหน้านี้เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีประชาชนในข้อหามาตรา 112 หลายคดี ใช้วิธีแจ้งความกระจายกันไปในสถานีตำรวจต่าง ๆ หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ใช่เพียงภูมิลำเนาที่ผู้แจ้งความอาศัยอยู่เท่านั้น