นำร่องดึงครูสังกัดกทม.ผ่านอบรมภาษามือ ‘ทำหน้าที่ล่ามงานแถลงข่าว’ เสริมการสื่อสารถึงผู้พิการทางการได้ยิน
กทม. ดึงครูสังกัด กทม. ที่ผ่านการฝึกอบรมภาษามือไทยระดับ 1 ทำหน้าที่ล่ามภาษา นำร่องงานแถลงข่าวโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม เสริมการสื่อสารถึงผู้พิการทางการได้ยิน พร้อมพัฒนาศักยภาพครูดูแลเด็กกลุ่มเฉพาะ
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. เปิดเผยว่า ในการแถลงข่าวโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียมนับถอยหลัง 80 วัน จัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะใหม่นั้น กทม. ได้จัดให้มีล่ามภาษามือในการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข่าวสารของ กทม. โดยมีล่ามภาษามือผ่านทาง Live Streaming Facebook : กรุงเทพมหานคร ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารแก่ผู้พิการทางการได้ยิน ให้สามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของ กทม. ได้อย่างทั่วถึง
การดำเนินการในครั้งนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม สร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ตามแนวทางของ กทม. ในการเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความเสมอภาค ซึ่งผู้ทำหน้าที่ล่ามภาษามือ คือ นายชณนบ ภูมิเหมหิรัญ ผอ.สถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ รร.ประชาภิบาล เขตบางเขน
ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายด้านผู้พิการมาอย่างต่อเนื่องหลายด้าน ภายใต้แนวคิด Bangkok for All และหนึ่งในนั้นคือ การพัฒนากลไกการเข้าถึงสื่อประชาสัมพันธ์ของ กทม. สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ที่ผ่านมาสำนักพัฒนาสังคม ร่วมกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ฝึกอบรมภาษามือไทยระดับ 1 ให้แก่ข้าราชการและบุคลากร กทม. สำนักงานเขต 50 เขต และอาสาสมัครชุมชนช่วยเหลือคนหูหนวกในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้สามารถใช้ภาษามือไทยในการสื่อสารกับคนหูหนวกระดับพื้นฐานได้ เพื่อลดปัญหาการสื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยิน ตลอดจนประชาชนผู้มาขอรับบริการกับหน่วยงานของ กทม.
นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางในการพัฒนาอาสาสมัครช่วยเหลือคนหูหนวกในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงพัฒนาศักยภาพข้าราชการครูกรุงเทพมหานครและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้สามารถเข้าถึงและดูแลเด็กกลุ่มเฉพาะได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้เฉพาะทาง สื่อสารด้านการเรียนการสอนที่เหมาะสม ส่งเสริมพัฒนาการตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน โดยมุ่งหวังให้โรงเรียนในสังกัด กทม. สามารถเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของเด็กกลุ่มเฉพาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบการศึกษาที่ครอบคลุมและเท่าเทียม เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสพัฒนา เติบโต และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นคง
“กทม. เป็นเมืองใหญ่ เป็นมหานครแห่งความหลากหลายของผู้คน ความหลากหลายนี้คือ พลังของเมืองในการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ด้วยหลักการของสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกัน โดยมุ่งมั่นที่จะให้ประชาชนทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงโอกาสในการใช้ชีวิต การเรียนรู้ การประกอบอาชีพ และการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเสมอภาค พร้อมยืนหยัดในเป้าหมายของการสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยส่งเสริมการออกแบบเมืองที่เป็นมิตรต่อทุกคน และพัฒนาช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงได้สำหรับทุกกลุ่มประชากร รวมถึงผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกชีวิตอย่างแท้จริง” โฆษก กทม. ระบุ