“สสช.”สำรวจปี 65 ไทยมีคนพิการ 4.19 ล้านคน อยากให้รัฐเพิ่มเบี้ย-หนุนเงินกู้ประกอบอาชีพ
ปี 65 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 4.19 ล้านคน กว่าครึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการ ขอรัฐช่วยเหลือสวัสดิการ เพิ่มเบี้ยความพิการ และเงินกู้ประกอบอาชีพ
น.ส.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สสช. ได้ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย เปิดผลสำรวจ “การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565” โดยสำรวจทุก 5 ปั พบว่า ปี 65 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 4.19 ล้านคน หรือ 6% ของประชากรทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 60 ที่ตัวเลขอยู่ที่ 3.69 ล้านคน ประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ผู้พิการอันเนื่องจากความลำบาก หรือปัญหาสุขภาพ เท่านั้น 1.37 ล้านคน หรือ 2% ผู้พิการอันเนื่องจากมีลักษณะ ความบกพร่องเท่านั้น 9.1 แสนคน หรือ 1.3% และ ผู้พิการที่มีทั้ง 2 ลักษณะ คือ ความลำบาก/ปัญหาสุขภาพ และลักษณะความบกพร่อง จำนวน 1.91 ล้านคน หรือ 2.7 %
เมื่อพิจารณาด้านเศรษฐกิจและสังคม มีผู้พิการได้ขึ้นทะเบียนคนพิการ 42.6% ซึ่งได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการเกือบทุกคน สำหรับผู้พิการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการมีมากกว่าครึ่ง หรือ 57.4 เนื่องจากไม่ต้องการขึ้นทะเบียน (รวมไม่คิดว่าตนเองพิการ) 26.4% ความพิการไม่อยู่ในระดับที่ขึ้นทะเบียนได้ 25.1% ในขณะที่ผู้พิการยังเข้าไม่ถึง การขึ้นทะเบียนมีเพียงเล็กน้อย คือ 5.9 เนื่องจากไม่มีคนพาไปหรือเดินทางไม่สะดวก ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับ การขึ้นทะเบียน เป็นต้น ขณะที่การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่าผู้พิการอายุ 5 ปีขึ้นไป เข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต 40.0% มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 54.8% แต่การใช้คอมพิวเตอร์ค่อนข้างน้อย 5.2%
น.ส.ปิยนุช กล่าวต่อว่า สำหรับสวัสดิการจากภาครัฐที่ผู้พิการต้องการแต่ยังไม่ได้รับ ได้แก่ การตรวจรักษาพยาบาล 4.1% และการฟื้นฟูสมรรถภาพ 9.2% เนื่องจากปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง ผู้พิการจำนวน 16.6% ที่ต้องการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม หรือเครื่องช่วยคนพิการแต่ยังไม่ได้รับ โดย 5 ลำดับแรก คือ เครื่องช่วยฟัง ไม้เท้า แว่นตาที่ตัดพิเศษ รถนั่งคนพิการและไม้เท้าแบบสามขา และผู้พิการยังมีความต้องการแต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือและสวัสดิการอื่น ๆ จากภาครัฐ เช่น ให้เพิ่มเบี้ยความพิการ ส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ สนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ และการให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น