ลูกคือแก้วตาดวงใจ! “พ่อหนึ่ง-แม่นุช” ยอมออกจากงานประจำ มาค้าขายอยู่บ้าน เพื่อดูแลลูกพิการทั้งสอง หวังให้ลูกอยู่ได้ ในวันที่ไม่มีพ่อแม่แล้ว
รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปที่ จ.ราชบุรี เพื่อรู้จัก “พ่อหนึ่งและแม่นุช” ซึ่งหัวใจสุดยอดมาก สู้ทุกทางเพื่อลูกพิการทั้ง 2 คนอยู่ได้ ถึงขั้นลาออกจากงาน มาทำอาชีพที่ดูแลลูกไปด้วยได้ เป็นพ่อแม่ที่ไม่เคยอายที่มีลูกพิการ และไม่เคยคิดว่าลูกเป็นภาระ แต่ลูกคือแก้วตาและดวงใจ เวลาไปไหน ก็ไปด้วยกันทั้งหมด
"เคยมีคนถามผมว่า ลูกเป็นแบบนี้ แบกภาระไว้ทำไม ผมบอกเขาว่า เด็กสองคนนี้ไม่ใช่ภาระผม ผมไม่เคยคิดว่าเขาเป็นภาระ นี่คือแก้วตาและดวงใจ ไม่ใช่ภาระ...”
คำยืนยันหนักแน่นถึงความรักที่มีต่อลูกทั้งสองของ "วชิระ พลาจิณ" หรือพ่อหนึ่ง อดีตหัวหน้าช่างศูนย์รถยนต์แห่งหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทำอาชีพอิสระ เริ่มด้วยการขับแท็กซี่ เพื่อมีเวลาช่วยภรรยาดูแลลูก หลังพบว่า "น้องต้นหลิว" ลูกคนที่สองมีปัญหาซ้ำรอยกับ "น้องริว" ลูกคนแรกที่เกิดมาพร้อมกับความพิการจากโรคโพรงสมองคั่งน้ำ ขณะที่ "แม่นุช" ชมภูนุช ภรรยา ลาออกจากงานประจำเพื่อมาดูแลลูกคนแรกก่อนแล้ว
ย้อนกลับไป เมื่อ 18 ปีก่อน ขณะตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน แม่นุชเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติของลูกในท้อง จึงให้หมอตรวจ ก่อนที่หมอจะแนะนำให้รีบผ่าออก"หมอบอกว่า ถ้าอยู่ครบ 9 เดือน น้องน่าจะเสียชีวิตแน่ เลยต้องผ่าคลอดตอน 8 เดือน พอลูกออกมา ศีรษะโตกว่าเด็กปกติ เป็นโรคโพรงสมองคั่งน้ำ...เนื้อสมองถูกกดทับ ถูกทำลาย ส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย การพูด การฟัง การได้ยิน กระทบหมด"
หลังคลอดได้เพียงวันเดียว น้องริวต้องถูกผ่าตัดสมอง ซ้ำร้าย ผ่าครั้งเดียวก็ไม่จบ"ผ่าตัดครั้งแรกเสร็จ หลังจากนั้น 10 วัน ตัดไหม หมอบอกแผลติดเชื้อ ต้องรื้อของเก่าออกเลย ...หลังผ่ารอบสองออกมา แผลก็ยังติดเชื้ออยู่ แล้วหมอจะทำใหม่รอบสาม ผมเลยบอกว่า ผมขอย้าย รพ.ดีกว่า"
โชคดีเมื่อย้าย รพ. และได้รับการรักษาจากอาจารย์แพทย์ ปรากฏว่า การผ่าตัดสมองของน้องริวเรียบร้อยดี ไม่มีแผลติดเชื้อ แถมทีมแพทย์อีกชุดยังแนะนำว่า พ่อกับแม่สามารถมีลูกคนต่อไปได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีภาวะซ้ำรอยลูกคนแรก"หมอบอกว่า โอกาสที่ลูกคนที่สองจะเกิดเหมือนคนแรกมันยาก ยากมาก คุณหมอยังพูดติดตลกว่า คนเราไม่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 สองรอบหรอก"
แม้หมอจะให้ความมั่นใจ แต่พ่อหนึ่งและแม่นุชก็ยังไม่กล้ามีลูกคนที่สอง อยากทุ่มเทดูแลลูกคนแรกก่อนมากกว่า"ตอนนั้น หมอบอกว่า พี่ริวต้องเป็นสภาพผักแล้วนะแม่ น้องจะอยู่ได้แค่ประมาณ 2 ปี นุชทุ่มเทให้เขาทุกอย่าง พาน้องไปฝึกกระตุ้นทุกอย่าง เสิร์ชดูทุกอย่าง ทำยังไงให้น้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้น จากที่ลูกต้องใช้เครื่องดูดเสมหะ เวลากินอาหารต้องกินทางสาย ก็ฝึกจนลูกไม่ต้องใช้เครื่องดูดเสมหะ และกินอาหารทางปากได้"
ปัจจุบัน น้องริวอายุ 18 ปีแล้ว แม้จะพูดไม่ได้ แต่ก็รับรู้ในสิ่งที่พ่อแม่สื่อสาร และแม้ว่าน้องจะมีภาวะแขนขาลีบเล็ก แต่น้องก็มีความแข็งแรงถึงขนาดสามารถใช้มือหมุนวงล้อรถวีลแชร์ที่ตัวเองนั่งให้เคลื่อนไปข้างหน้าได้ในระยะใกล้ๆ โดยไม่ต้องมีใครช่วย
หลังน้องริวมีพัฒนาการดีขึ้นมาก พ่อกับแม่จึงตัดสินใจมีน้องต้นหลิว เพื่อให้เป็นเพื่อนกับพี่ชาย เพราะหมอเคยให้ความมั่นใจแล้วว่า โอกาสที่ลูกคนที่สองจะซ้ำรอยลูกคนแรก ยากมากๆ
"ต้นหลิวก็คลอดมาปกติทุกอย่าง ไม่มีปัญหาอะไร แต่หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ทางหมอเด็กก็ทักว่า น้องเหมือนจะศีรษะโตมากผิดปกตินะ ...พอหมอให้ไปทำซีทีสแกน แล้วผลออกมาว่า น้องเป็นเหมือนพี่ริว ผมก็โลกทั้งใบมันมืดไปหมด น้ำตงน้ำตามันไหลออกมาตอนไหนไม่รู้"
แม้น้องต้นหลิวจะเป็นโรคเดียวกับพี่ชาย แต่โชคดีที่น้องถูกพบความผิดปกติเร็วกว่า การผ่าตัดรักษาจึงทำได้ทันท่วงทีกว่า แต่ถึงกระนั้นน้องก็มีพัฒนาการที่ช้ามาก
"ต้นหลิวพูดคำแรกได้ น่าจะอายุ 4-5 ขวบ กว่าจะเดินประมาณ 6 ขวบ ตอนนี้น้องอายุ 14 ขาข้างซ้ายเขาเดินไม่ค่อยสมบูรณ์ พยายามนวดให้เขา ...ทุกวันนี้ ก็ฝึกให้เขาเข้าห้องน้ำเองได้ แต่ก่อนนี้เขาก็ทำเรี่ยราด ต้นหลิวใส่แพมเพิสมาตลอด เพิ่งจะให้เขาหยุดใส่เมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง"
หลังพ่อหนึ่งออกจากงานประจำมายึดอาชีพขับแท็กซี่ เพื่อมีเวลาดูแลลูกไปด้วย เมื่อขับจนรถปลดระวางที่ 9 ปี ประกอบกับน้องต้นหลิว ไม่สามารถไปโรงเรียนได้แล้ว เพราะพัฒนาการช้าและน้องเริ่มโต พ่อหนึ่งจึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพอีกครั้งเพื่อลูก
"ตอนนั้นทางโรงเรียนเขาแจ้งว่า น้องเริ่มโต ใกล้จะมีรอบเดือนแล้ว เขาก็กลัวว่า เดี๋ยวเขาจะเป็นภาระของครูด้วย เราก็นั่งคุยกับแฟน ถ้าพี่ยังทำงานแบบนี้ จะทำยังไงกันดี ลูกคงเรียนต่อไม่ได้แล้ว ลองมาทำค้าขายดูไหม ...ต้นหลิวชอบกินบะหมี่ ผมเองก็ชอบเหมือนกัน เลยศึกษาการทำบะหมี่ ถ้าเราทำเส้นบะหมี่เองได้ ก็จะเป็นจุดขาย"
ในที่สุด พ่อกับแม่ก็เปิดร้านขายบะหมี่ โดยใช้ชื่อว่า "ต้นหลิวบะหมี่สดเกี๊ยวไส้ล้น" จุดเด่นของบะหมี่ที่นี่คือ"สดใหม่ทุกวัน ทำวันต่อวัน และจะไม่ใส่สารกันบูดสารกันราเลย เพราะลูกสาวเองก็กินเกือบทุกวันเหมือนกัน"
ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อน้องต้นหลิวเป็นชื่อร้าน เนื่องจากพ่อและแม่อยากทำตรงนี้ไว้ให้ลูกได้มีอาชีพในอนาคต"นุชไม่อยากให้ต้นหลิวหรือพี่ริวเป็นภาระของสังคม นุชมองว่าอันไหนที่เราทำให้ลูกได้ เราต้องทำ อยากให้เขาดำรงชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ได้ ในวันที่ไม่มีเรา"
แม้ก่อนมีโควิดจะขายดี แต่หลังสถานการณ์โควิดบวกภาวะเศรษฐกิจทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ค่อยนิยมนั่งทานในร้าน หันมาสั่งผ่านออนไลน์กันมากขึ้น ส่งผลให้พ่อหนึ่งและแม่นุชตัดสินใจเลิกเช่าร้าน เพราะแบกค่าเช่าไม่ไหว หันมาทำบะหมี่ขายที่บ้านแทน (จ.ชลบุรี) ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มอาหารอีก 1 เมนูคือ ข้าวหมูแดง เมื่อมีลูกค้าสั่ง ก็พร้อมทำไปส่ง
"บางทีก็ลูกค้าโทรมา ติดต่อมาตามเพจของน้อง ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ผมมีรับงานข้างนอกตามบริษัทที่เขาอบรมพนักงาน เขาจะสั่งให้ทำไปส่ง ที่ประคองร้านมาได้ เพราะได้งานนอกนี่แหละครับ บางทีลูกค้าโทรมาจะทำบุญวันเกิด เขาให้ช่วยทำไปให้บ้านพักคนพิการบางปะกง 100 ห่อบ้าง 80 ห่อบ้าง"
“(ถาม-เป็นยังไงบ้าง สถานการณ์ขายออนไลน์ มันพอใช้จ่าย หรือดูแลสมาชิกในครอบครัวไหม?) ถามว่า พอไหม ก็พอได้อยู่ แต่ต้องประหยัดเอา ถ้าไม่ประหยัดก็แย่เหมือนกัน เพราะเราเองก็ยังมีภาระเรื่องตัวบ้านอยู่ ที่เราต้องส่งเขาให้จบ ผมก็ต้องพยายาม คือเลิกเช่าร้านเพื่อรักษาบ้านนี่แหละ”
ทุกครั้งที่พ่อหนึ่งลงมือทำเส้นบะหมี่ น้องต้นหลิวจะชอบมายืนดูอยู่ใกล้ๆ และช่วยพ่อเท่าที่สามารถทำได้ เวลาจะไปส่งอาหารให้ลูกค้า พ่อแม่ลูกจะไปด้วยกันทั้งหมด ไม่มีการทิ้งใครไว้บ้าน เวลาไปไหน ก็ไปด้วยกัน บางครอบครัวหากมีลูกพิการ อาจไม่ค่อยกล้าพาลูกออกไปไหน เพราะอายสายตาคนอื่น แต่พ่อหนึ่งและแม่นุชไม่เคยอายที่มีลูกพิการ และไม่เคยคิดว่าลูกเป็นภาระ แต่ลูกคือแก้วตาและดวงใจ ขอแค่ลูกมีลมหายใจ ไม่ว่าลูกจะอยู่ในสภาพไหน พ่อแม่ก็รับได้"ถ้าคนอื่นคิดว่า การมีลูกพิการคือความทุกข์ ...ผมก็จะขออยู่กับความทุกข์อย่างมีความสุขให้ได้"
ภาพความรักความอบอุ่นและความสุขของครอบครัวนี้ ทำให้หลายคนที่ได้รู้จัก อดรู้สึกชื่นชมความรักที่พ่อแม่คู่นี้มีต่อลูกไม่ได้ หนึ่งในผู้ที่คุ้นเคยกับครอบครัวนี้ก็คือ อติพัชร อิ่มเอม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถีคลองตำหรุ จ.ราชบุรี ที่ยอมรับว่า หัวใจของพ่อหนึ่งและแม่นุชสุดยอดมาก
"เขาดูแลลูกของเขาอย่างดี ไปไหนเขาก็อุ้ม เขาไม่เคยอาย แม่ก็จูงน้องต้นหลิว ส่วนน้องริว พ่อก็อุ้มไป เดินผ่านเข้าไปในห้าง คนก็จะมอง แต่เขาก็รู้สึกว่านี่คือลูกของเขา ตรงนี้ผมว่า หัวใจเขาสุดยอดมาก ต้องยอมรับเขาเลย ยังนึกว่าถ้าเป็นเรา เราจะกล้าไปแบบเขาไหม รู้สึกภูมิใจแทนลูกๆ รู้สึกว่าเป็นบุญของเด็กๆ ที่มาเจอพ่อและแม่แบบนี้"
หากท่านใดต้องการอุดหนุนบะหมี่น้องต้นหลิว หรือจะสั่งเพื่องานบุญ งานวันเกิด สามารถติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก "ต้นหลิวบะหมี่สดเกี๊ยวไส้ล้น" หรือโทร. 085-212-2514
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )