ชัยภูมิเริ่มเข้าวันที่ 5 ของการเปิดให้ผู้พิการแสดงความประสงค์ลงทะเบียนผู้พิการ
ชัยภูมิ เริ่มเข้าวันที่ 5 ของการเปิดให้ผู้พิการแสดงความประสงค์ลงทะเบียนผู้พิการ และต่ออายุบัตรผู้พิการ ชาวบ้านยังเดินทางมาใช้บริการอย่างเนืองแน่นพร้อมด้วยคุณยายอายุ 110ปีพิการขาลูกหลานต้องอุ้มลงรถขอใช้สิทธิ์ด้วย
วันนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของชาวบ้านเดินทางมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการ และต่ออายุบัตรผู้พิการ กับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเปิดให้ขึ้นทะเบียนเป็นวันที่ 5 พบว่าตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังมีชาวบ้านเดินทางมาใช้บริการเป็นจำนวนมากเหมือนทุกวันที่ผ่านมา ซึ่งทางสำนักงานยังคงสามารถให้บริการได้เพียงวันละไม่เกิน300รายต่อวัน ว่าที่ร้อยตรี สันทนา ศรีโพธิ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิยอมรับว่าช่วงนี้มีชาวบ้านเดินทางมาติดต่อใช้บริการกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ ปัจจุบัน มีผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ พมจ.ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน - 1 กันยายน 2567 รวมทั้งสิ้นจำนวน 60,481ราย ตามข้อมูลที่สำรวจไว้และเข้ามาแสดงตนเพื่อขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะเรียบร้อยทั้งหมด และปัญหาที่พบ ผู้พิการ ที่ยังไม่ได้รับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มีทั้งบัตรหมดอายุยังไม่ได้ต่อบัตรใหม่ หรือยังไม่ได้จดทะเบียนคนผู้พิการ บัตรที่มีอายุนานแล้ว อาจส่งผลให้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ซึ่งในกรณีนี้จะต้องทำการอัพเดตข้อมูล หรือไปทำบัตรใหม่ เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำ รอบแรกอีกครั้งในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 นี้ โดยปกติที่ผ่านมา จะมีผู้พิการมาทำบัตรใหม่ หรือต่อบัตร วันละไม่เกิน 50 ราย ในช่วงนี้
แต่ในช่วงที่รอรับเงินหมื่นครั้งนี้ ทำให้มีผู้พิการมาขอทำบัตรใหม่วันละมากกว่า 300 ราย ถึงวันนี้ ได้มีการทำบัตรผู้พิการรายใหม่ รวมต่ออายุบัตรแล้วจำนวนมากกว่า 2,000 ราย ในส่วนผู้พิการที่ยังไม่ได้รับสิทธิได้รับเงิน 10,000 บาท จึงขอให้รีบมาติดต่อขอรับบัตรผู้พิการรายใหม่ จนถึงวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ทันต่อการจ่ายเงินในรอบถัดไป
ด้านนาย สุพรรณ พงษ์พรรณนา ชาวบ้านบ้านหมู่ 8 ตำบลหนองสังข์ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ในฐานะผู้ดูแลนาง วัน พงษ์พรรณนา ซึ่งเป็นมารดาอายุ 110 ปี (ตามบัตรประชาชน) พิการขาเดินไม่ได้ต้องอุ้มตลอด ออกมายอมรับว่าการเดินทางมาติดต่องานราชการกับหน่วยงานภาครัฐมีความลำบากมาก เนื่องจากตนต้องพามารดาเดินทางมาจากต่างอำเภอ โดยเงื่อนไขของทางราชการนั้นจะต้องนำผู้พิการมาติดต่อราชการด้วย ตนจึงอยากเสนอแนะว่าอยากให้กระจายอำนาจการบริหาร ลงไปยังอำเภอต่างๆ จัดเจ้าหน้าที่ไปประจำตามอำเภอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้าน ส่วนมารดาความจริงแล้วอายุเพียง85ปีเท่านั้น แต่เนื่องจากสมัยก่อนมีการแจ้งเกิดผิดพลาด จึงมีอายุตามบัตรประชาชนถึง 110ปี เกิดพ.ศ. 2457 เคยไปแก้ไขที่อำเภอแล้ว ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าแก้ไม่ได้ก็เลยต้องปล่อยต่อไป
ขอบคุณ... https://siamrath.co.th/n/570687