ประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
ประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค
วันที่ 26 สิงหาคม 2566 ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และที่ปรึกษาโครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค โดยมี นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายพิษณุเวท โพธิ์เพ็ชร ผู้อำนวยศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ดร.บุญส่ง จำปาโพธิ์ ที่ปรึกษาโครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาโครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 นายวิศาล วัชรินทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาคเหนือ 2 และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัด คณะวิทยากร ร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมทิพย์พิมาน โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
นายพิษณุเวท โพธิ์เพ็ชร ผู้อำนวยศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษ กล่าวว่า โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลงานการขับเคลื่อน การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 มีการประกาศจัดตั้ง ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค 5 ภาค 10 จังหวัด จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัด 77 จังหวัด
จัดทำตัวชี้วัดมาตรฐานของการจัดการศึกษาพิเศษ เนื่องจากว่าในการขอเงินอุดหนุน เรายังไม่ทราบกลุ่มเป้าหมายว่า มีผู้พิการที่จะเดินเข้ามามากน้อยเพียงใด ทุกวันนี้กลุ่มคนพิการที่ไม่ได้รับการเข้าถึงการศึกษายังมีอีกจำนวนมาก
ส่วนหนึ่งมาจากสังคมไทย มีลูกพิการ พ่อแม่ไม่อยากเปิดเผยลูก เก็บไว้ที่บ้าน ไม่เอาลูกไปขึ้นทะเบียนตามที่กระทรวง พม.กำหนด ถ้าไม่ขึ้นทะเบียน เด็กคนนี้เขาไม่มีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาหรือได้รับการพัฒนา อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองที่จะต้องส่งเสริมลูก ให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เชื่อว่าเด็กที่พิการในมุมหนึ่งเขามีความสามารถพิเศษ ซึ่งธรรมชาติสร้างเขาพิการมาก็จริง แต่ธรรมชาติก็ไม่ได้กลั่นแกล้งเขาตลอด มีความเป็นเลิศอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีให้เห็นมากมาย เพียงแต่ว่าเราอาจจะเข้าไม่ถึง เพราะพ่อแม่ไม่เปิดโอกาสหรือสังคมไม่เปิดโอกาส แต่วันนี้อาชีวศึกษาเปิดโอกาสแล้ว อยากจะเรียนสาขาอะไรเข้ามาเรียนได้มีหลายหลายอาชีพ ตามที่เขาต้องการ ตามศักยภาพระดับความสามารถของเขาที่สามารถทำได้ เช่น พิการทางการเคลื่อนไหว ก็เรียนคอมพิวเตอร์ได้ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำขนม นอกจากนี้มี เรียนทำเครื่องหนัง เรียนวาดรูป ฯลฯ
ปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้พิการที่เข้ามาในระบบ ปวช. ปวส. ป.ตรี จำนวน 1,817 คน ทั้งนี้อาชีวศึกษา ได้มีการจัดการศึกษาพิเศษให้กับผู้พิการ มานานแล้ว เช่น วิทยาลัยเทคนิคบางแสน วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จ มีผลงานให้เห็น เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้นังเป็นหน่วยเล็กๆที่ไม่ได้ตั้งศูนย์บังคับบัญชาขึ้นมาให้ถูกต้อง วิทยาลัยไหนมีความพร้อมที่สอนผู้พิการได้ก็ดำเนินการ แต่เมื่อ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ขึ้นมาเป็น เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา นี้ขึ้นมา ฉะนั้นภาพของสำเร็จของคนพิการคือ อย่างน้อยสังคมให้ความเอ็นดูมากกว่าคนปกติ ศักยภาพที่เขามีอยู่ แล้วเป็นคนที่ใจเย็นแต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เขาไม่เป็นภาระของสังคม
ผู้อำนวยศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษ กล่าวอีกว่า อนาคตข้างหน้าอาจจะต้องมีการบรรจุครูผู้ช่วย ซึ่งเป็นผู้ที่จบหลักสูตรพิเศษนี้มาในการสอน เช่น ครูสอนภาษามือ ซึ่งเป็นเรื่องของการสอนเฉพาะทางเพราะบางทีต้องยืมตัวผู้สอนมาจากศูนย์การศึกษาพิเศษ ในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณลงไปยังศูนย์ภาคฯ หรือศูนย์ฯจังหวัด ในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเช่น ทำทางลาดเอียง ห้องน้ำเฉพาะคนพิการ ห้องเรียนเฉพาะทาง สำหรับคนพิการ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำ ในส่วนกลางก็พยายามที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการได้เข้าถึง การศึกษาให้ได้มากที่สุด
นายวิศาล วัชรินทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ ประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภาคเหนือ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมพิณทอง โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมวิเคราะห์แนวทางการติดตามการขับเคลื่อนงานศูนย์การศึกษาพิเศษภาค เพื่อร่วมกันสังเคราะห์และรายงานผลการขับเคลื่อนงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาคให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีคณะผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ของศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค เข้าร่วมจำนวน 10 ศูนย์ พร้อมด้วยศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา เข้าร่วมจำนวน 2 จังหวัด