เสียงสะท้อนนโยบายคนพิการจากอดีต ตชด. 19 ปีที่สูญเสียแขน ขา ขณะพิทักษ์ป่าไทย

เสียงสะท้อนนโยบายคนพิการจากอดีต ตชด. 19 ปีที่สูญเสียแขน ขา ขณะพิทักษ์ป่าไทย

เป็นที่รู้กันดีว่า ปฏิบัติการลาดตะเวนป้องกันรักษาป่าไม้ เก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิด เป็นภารกิจที่เสี่ยงภัยและมีอันตรายมาก แม้สงครามสิ้นสุดไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่ทุ่นระเบิดที่ถูกฝังไว้ใต้ดินนั้นยังคงอยู่ เมื่อมีผู้ใดเดินไปเหยียบหรือสัมผัส ย่อมเกิดความสูญเสียต่อชีวิตหรือบางส่วนของร่างกาย และด้วยกลวิธีการวางทุ่นระเบิดที่พลิกแพลง ทำให้การปฏิบัติงานแต่ละครั้งของ ตชด. จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญและความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

จากข้อมูลสถิติของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ระบุถึงจำนวน คนพิการในประเทศไทย มีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการรวมจำนวน 2,180,178 คน คิดเป็นร้อยละ 3.18 ของประชากรทั้งหมดประเทศไทย แบ่งเป็นเพศหญิง 1,043,342 คน (ร้อยละ 47.77) และเป็นเพศชาย 1,136,830 คน (ร้อยละ 52.23) โดยเป็นคนพิการวัยทำงานอายุระหว่าง 15-59 ปี และคนพิการวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)

ทั้งนี้ คนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมีจำนวน 1,112,763 คน (ร้อยละ 44.07) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด โดยรวมผู้ที่มีความพิการแบบที่ติดตัวมาแต่เกิด และเป็นผู้ที่มีความพิการจากกรณีที่เป็นอุบัติเหตุ เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 460,506 คน (ร้อยละ 21.12) หนึ่งในนั้นคือ อดีต ตชด. ผู้สูญเสียขา แขนและอวัยวะอื่นๆ เพื่อพิทักษ์ผืนป่าชายไทย-กัมพูชา มากว่า 19 ปี

จังหวัดสระแก้ว เมืองชายแดน ภาคตะวันออกของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ 256 กิโลเมตร มีป่าดงพงไพรเป็นพื้นที่รอยต่อจุดเชื่อมระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา ระยะทางยาวถึง 145 กิโลเมตร ป่าไม้ที่สำคัญยังอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติปางสีดา อันเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีสัตว์ป่าหายาก ทั้งช้าง กระทิง วัวแดง เสือ หมีควาย กวาง นกเงือก และอุทยานแห่งชาติตาพระยาในเขตเทือกเขาพนมดงรักที่มีภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำหลายสาย น้ำตกหลายแห่ง อาทิ น้ำตกปางสีดา น้ำตกลานแก้ว น้ำตกแควมะค่า น้ำตกถ้ำค้างคาว และเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง จระเข้น้ำจืด และนกมากกว่า 200 ชนิด แต่ทว่าพื้นที่เหล่านี้เคยได้รับผลกระทบจากสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อปมปัญหาการรุกล้ำข้ามเขตแดนเข้ามาในพื้นที่ป่าของไทย

ณ บ้านไม้ กลางสวนป่าต้นสัก พ.ต.อ.ปราโมทย์ แก้วพิจิตร ชายสูงวัยนั่งบนวีลแชร์ เขาเป็นผู้ที่มีความพิการทางการเคลื่อนไหว สูญเสียขาและแขนทั้งสองข้าง ทว่าสองตาและหนึ่งใจยังฉายแววแน่วแน่มั่นคง มองไปที่ต้นสักหลายสิบต้นที่ปลูกไว้เสมือนป่าไม้ที่คุ้นเคย

เขานึกย้อนกลับถึงในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ ปฏิบัติการลาดตะเวนป้องกันรักษาป่าไม้ เก็บกู้ระเบิดและทำลายทุ่นระเบิด ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ผ่านมานานกว่า 19 ปี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่เหตุเกิดการสูญเสียขึ้นในระหว่างร่วมปฏิบัติภารกิจฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก ที่ทอดตัวยาวไกลจากจังหวัดในภาคตะวันออกไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี

ใกล้ๆ มี คุณครูรัชวรรณ แก้วพิจิตร ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากผู้เคียงข้างเสมอ แม้ตนเองก็ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเคยประสบอุบัติเหตุถูกรถชนในขณะที่ก้าวเดินข้ามถนน เพื่อไปดูแลลูกที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยไปอีกคนหนึ่ง จนขาทั้งสองข้างผิดรูปไปจากขาปรกติ ทำให้การใช้ชีวิต ลุก นั่ง ยืน เดิน และเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่วดังเก่าก่อน

บ้านกลางสวนป่าสัก โอบล้อมไว้ด้วยรัก

บ้านน้อยหลังนี้ ต้อนรับมวลมิตรผองเพื่อนของ พ.ต.อ.ปราโมทย์ ที่มาเยี่ยมเยือนเสมอ หนึ่งในคือบดินทร์ จันทศรีคำ “ลุงหมู สาริกา” ประธานชมรมคนรักษ์สัตว์-ป่า เพื่อนผู้ไม่เคยทอดทิ้ง คอยให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความผูกที่มีต่อผืนป่า หลังลาออกจากราชการ ได้มาปลูกบ้านที่นี่ ตั้งใจปลูกต้นสักแบบสวนป่า ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ต้นสักที่นี่เริ่มจากการจ้างคนมาปลูก ส่วนการดูแลบำรุงรักษ และรดน้ำ เราทำเอง จากกล้าต้นเล็ก เติบโตเป็นต้นใหญ่ ประมาณสิบปีกว่ามาแล้ว

“ต้นสักที่นี่ผมต้องการปลูกให้เป็นป่า ชีวิตอยู่ป่าตลอด ใจมันอยากเป็น ตชด.กับทหารตั้งแต่แรก”

บ้านเดิมของ พ.ต.อ. ปราโมทย์ แก้วพิจิตร พ่อแม่เป็นคนบางคล้า ฉะเชิงเทรา พี่ชายเป็น ตชด. เขาเผยถึงเส้นทางชีวิต ตั้งใจเป็นตำรวจตะเวนชายแดน (ตชด.) เริ่มรับราชการ พ.ศ. 2521 อยู่ค่ายมฤคทายวัน (ค่ายพระราม 6) มาปรับพื้นฐาน ฝึกในป่านาดี บ้านทุ่งแฝก ปราจีนบุรี 4 เดือน ตอนนั้นผู้ก่อการร้าย (ผกค.) พยายามเข้ามาตีตลอด จากป่านาดีมาที่ป่าตาพระยา หนองผักแว่น บ้านทุ่งแฝกก็เป็นพื้นที่สีชมพูที่มี ผกค. ในป่า ต้องพบเจอเหตุการณ์หลากหลาย บางครั้งการออกไปลาดตะเวนเพื่อหาข่าว ตชด.รุ่นพี่ ก็โดน ผกค.ซุ่มยิง ตายไปสองคนในป่ากลางเขา ก่อนถึงอุทยานทับลาน

“เราอยู่ในป่า ทำงาน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายก็จริง แต่มันสบายใจ อบอุ่นใจที่ได้อยู่กับธรรมชาติ ไม่เคยคิดจะย้ายไปที่อื่น อยากจะอยู่เป็น ตชด. ไปจนเกษียณฯ….”

วันเกิดเหตุ ทำให้ต้องสูญเสียขา-แขนและนิ้วมือ

ในช่วงบ่ายของวันที่ 4 สิงหาคม 2548 ชุดลาดตะเวนป้องกันรักษาป่าไม้ เก็บกู้ระเบิดและทำลายทุ่นระเบิด เป็นภารกิจร่วมกันระหว่าง ตชด.21, ทหารพรานภาค 2 และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อการลาดตระเวนป้องกันประเทศ หาข่าวและจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในฝั่งชายแดนไทย แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มลาดตะเวนทางอากาศ โดยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ และ กลุ่มลาดตะเวนภาคพื้นดิน

เป็นที่รู้กันว่า คนทำไม้ในป่าชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นพวกทหารเขมรที่เข้ามาลักลอบตัดไม้ทำไม้ ในไทย แล้วส่งกลับเข้ามาขายในแดนไทยด้านตาพระยา โดย การลากลงจากภูเขา แล้วมาลงแถวโคกสูง

“หัวหน้าก๋อยขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ผมลงข้างล่างไปเอากำลัง ตชด 21 ทหารพรานภาค 2 หน่วยงานอุทยานฯ ขึ้นไปเจอระเบิดฝังอยู่ลูกนึง ก็เก็บกู้ แล้วยิงทิ้งไป พอเครื่อง ฮ. บินมา มันยิง ฮ. ไปอีกสามนัด…”

กองกำลังลาดตะเวน ได้ยินเสียงเลื่อยตัดไม้บนเขา ระยะห่างไม่เกินสามร้อยเมตร แต่เป็นเส้นทางเฉพาะ เดินลำบาก เพราะต้องระวังสนามทุ่นระเบิดเก่าที่ถูกฝังไว้ใต้ดิน และวางกับดักระเบิดไว้ใต้กองปีกไม้ พื้นที่ราบทุกหนึ่งตารางเมตรมีระเบิดห้าลูก เป็นแบบฝักข้าวโพดดักรถถัง แต่บนเขาไม่มี เพราะรถถังขึ้นเขาไม่ได้ แต่ตามโคนต้นไม้อย่าได้เข้าไป มีแต่ระเบิดเต็มไปหมด บางทีเขาซ่อนไว้ใต้กองปีกไม้ที่เลื่อยทิ้งไว้

“ผมเดินนำมาเจอกองปีกไม้ มันยาวไม่ต่ำกว่า 12 เมตร พวกที่เดินตามมาข้างหลัง เหยียบปีกไม้แล้วมันพลิก โดยไม่รู้ว่ามีทุ่นระเบิดซุกซ่อนอยู่ด้านล่าง ผมก้มลงก็ตูม… ผมจำได้มือนี้ถือปืนอยู่ ตูมขึ้นมาผมตัวลอย ตกลงมา โดนแรงอัด คนที่ห่างจากผมไปห้าเมตรเจ็ดเมตร กระเด็นออกไปหมด แรงกดทำให้ระเบิดทำงานทันที พอเหยียบบนกองปีกไม้แล้วขยับคงไปโดนระเบิดที่ซ่อนอยู่ข้างล่าง…”

หามออกจากป่า กว่าจะถึงมือหมอ

เผชิญกับเหตุกับดักระเบิดตอนบ่ายโมง ต้องหามออกมาจากป่าจะใช้เส้นทางเดิมไม่ได้ เพราะมีกับดักระเบิดฝังอยู่เต็มไปหมด ต้องพากันข้ามต้นไม้ ลากดินกันไป ต้นไม้ล้มทับทางก็มี พอดีวันนั้นมีเปลของพี่คำพันใช้มัดตัว แล้วหามพาออกมา มีอุปสรรคตลอดทาง ตอนที่พวกทหารพรานและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ช่วยกันหามมาบนเปล ขาทั้งสองข้างที่โดนระเบิดแต่ยังไม่ขาด มันยังห้อยก็ไปกับติดต้นไม้ บางทีช่วงคอก็ติดไม้เปลที่หาม ต่างคนต่างตกตะลึงก็เลยให้ “จุก” เป็นคนฟันส่วนขาที่มันห้อยอยู่ออกไป ฟันสดๆ กลางป่า แล้วยังเดินหลงทางกันอีก เส้นทางไม่ไกลก็จริง แต่ต้องเดินอย่างระมัดระวังมาก กว่าจะพากันออกมาจากป่าถึงสนามบินก็ห้าโมงเย็น เคลียร์กันมาตลอด เพราะเป็นพื้นที่สนามระเบิด รถฉุกเฉินไปรับที่ด่านเสือ

“โดนระเบิด ตอนบ่ายโมง กะว่าจะไปกินข้าวที่ด่านเสือ แต่มาโดนระเบิดเสียก่อน แต่กว่าจะหามเอาตัวออกมาจากป่าได้ ก็ห้าโมงเย็น ต้องให้ทหารพรานมาช่วย แต่ก็เข้าไม่ถึง เพราะมันวางระเบิดไว้ในกองไม้และพื้นที่รอบจุดตัดไม้ทำไม้ของทหารเขมร ที่ลักลอบเข้ามาตัดไม้ ล่าสัตว์และวางกับดักระเบิด”

อุปสรรคยังไม่สิ้นสุด คนเจ็บนอนมาเปลสนาม พามาขึ้น ฮ.ที่มาจาก รพ.สุรินทร์ ก็มีปัญหาสำคัญ น้ำมันเชื้อเพลิงมีไม่พอที่จะมาส่ง รพ.ที่โคราช หรือ รพ.ตำรวจที่กรุงเทพฯ ยังเบิกน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้ จึงต้องติดต่อขอใช้เครื่องบิน-เฮลิคอปเตอร์ที่มาจากจังหวัดสุรินทร์ พาไปส่งโรงพยาบาลในจังหวัดสุรินทร์

ชีวิตที่ต้องเริ่มต้นใหม่

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดต.ปราโมทย์ แก้วพิจิตร (ยศในขณะนั้น) จำเป็นต้องหยุดพักการปฏิบัติภารกิจทั้งหมด โดยใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อรักษาตัว ฟื้นฟูร่างกาย และการหัดเดินใหม่ด้วยขาเทียม หลังจากได้รับการผ่าตัดและรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลในจังหวัดสุรินทร์นาน 4 วัน แล้วจึงถูกนำส่งตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพฯ ต้องพักยาวนานอีก 7 เดือน สองเดือนแรกต้องใส่ท่อระบายเลือด ท่อรับน้ำเน่าๆ จำได้ว่าตอนนั้นมันเจ็บมาก กว่าจะได้ตัดไหมที่เย็บแผลก็ห้าถึงหกเดือน

“ผมรู้ตัวตลอด ตอนที่ต้องตัดขาก็ต้องทำใจ ยังไงก็ต้องตัดขาทิ้งไป ไม่มีทางหลีกเลี่ยง และเป็นสิ่งที่เสียใจที่สุดก็ตาม แต่สิ่งที่เสียใจกว่าคือการที่เขาตัดขาตัดแขนไป ไม่น่าจะตัดสั้นขนาดนี้เลย …..”

แต่ทว่าความคิดเห็นทางการแพทย์ เกรงว่าจะติดเชื้อ กระดูกมันแตกหมด หมอเขาตัดไปหมดเลย ไม่เหลือข้อต่อไว้ เป็นการตัดเพื่อรักษาชีวิต แม้จะเสียใจมากที่สุดก็ตาม ตอนนั้นคิดอย่างเดียว พอหายแล้วจะดำรงชีพต่อไปยังไง ตอนนั้นอายุ 47 ลูกชายเพิ่งไปเรียนที่วิทยาลัยสาธารณสุขเพชรบุรี

ในส่วนของค่าใช้จ่ายการรักษาและค่าห้องพักพิเศษ ไม่ต้องเสียเงินทุกอย่างฟรี แต่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อย่างค่าไฟฟ้า ค่าคนเฝ้าดูแลช่วยเหลือจำเป็นต้องมี ส่วนในวันเสาร์และวันอาทิตย์ คุณครูรัชวรรณ ผู้เป็นภรรยามาเฝ้าดูแล บางทีก็เป็นหัวหน้าลูกน้องและเพื่อนๆ มีเนื้อทอดกับน้ำพริกเผาก็ใส่ตู้ไว้

“ผมลุกขึ้นตั้งแต่ตี 5 ซิทอัพ ออกกำลังทุกวัน วันแรกๆ ได้แค่ยี่สิบสามสิบ ทำไปทำมาก็ได้ชั่วโมงละพันกว่าครั้ง แล้วก็ต้องมาหัดเดิน ต้องทำขาเทียมก่อน เดือนที่สามเดือนที่สี่เริ่มหัดเดินใส่ขาเทียม ก็ล้มบ้าง บางทีล้มจนหงายท้องเลยก็มี…”

กลับมาบ้านเดิม เริ่มหัดเดินใหม่ เมื่อกลับมาบ้าน พ.ต.อ.ปราโมทย์ บอกกับตัวเองเสมอว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มันเลยคำว่า“เสียใจ”ไปแล้ว เราต้องพยายามหัดเดิน และช่วยเหลือตัวเองให้ได้ จะเดินคนเดียวก็เดินไม่ได้ แต่ต้องพยายาม กลับมาเริ่มหัดเดินกันใหม่ที่บ้าน ลูกคนโตเรียนจบมา ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลวัฒนานคร พอเลิกงานก็มาช่วยพาออกเดินนอกบ้าน พยุงข้างๆ หัดเดินไปตามถนนพื้นเรียบทุกวัน ในบ้านเดินไม่ได้….กว่าที่จะเดินเองได้ ก็เป็นปี แต่ตอนนี้เดินไม่ได้แล้ว ใส่ขาเทียมไม่ได้แล้ว พอจะลุกจากที่นั่งตรงนี้ ไปขึ้นรถวีลแชร์ก็แทบแย่แล้ว

ขาเทียมอันแรก เป็นของผ่านศึกฯทำให้ แต่ต้องเอาไปแก้ใหม่ เพราะมันหลวม ใส่แล้วเดินไม่ได้ ส่วน รถนั่งวีลแชร์ ได้มาจากโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เป็นแบบเข็นไม่ใช้ไฟฟ้า น้ำหนักเบา ส่วน วีลแชร์ คันที่ลุงหมู สาริกา (บดินทร์ จันทศรีคำ) เอามาให้ เป็นแบบใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอร์รี่ เปลี่ยนแบตเตอร์รี่ครั้งละห้าหกพันบาท โชคดีมีคนช่วยทำแบบพิเศษมาให้ มีค่าใช้จ่ายประมาณสองพันบาท ลดค่าใช้จ่ายได้มาก

สำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน คุณครูรัชวรรณ แก้วพิจิตร อดีตครู กศน. ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากจะเป็นดูแลใกล้ชิดและช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวันในทุกวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน หุงหาอาหารการกิน กาแฟ และการจัดเตรียมยา ตอนจะอาบน้ำก็ช่วยเอาวีลแชร์ตัวที่เบาเข้าไปนั่งอาบน้ำ ไม่งั้นลื่นล้มหงายท้อง เวลาจะขึ้นเก้าอี้ ลงเก้าอี้ หรือเวลาอาบน้ำ ก็ให้เขาช่วยถูหลังให้บ้างเพราะถูกไม่ถึง ก็ต้องให้เขาช่วยเหลือ หาเสื้อผ้าวางไว้ ใส่เสื้อพอจะทำเองได้

จากผู้พิทักษ์รักษาผืนป่าสู่ “วิทยากรจิตอาสา”

การได้ทำงานจิตอาสาในฐานะ “วิทยากร”ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมของโรงเรียนในพื้นที่ใกล้บ้าน เป็นภารกิจใหม่ที่ พ.ต.อ.โปราโมทย์ แก้วพิจิตร ตระหนักถึงความสำคัญ จึงเดินทางไปด้วยตนเองโดยการใช้รถวีลแชร์ แม้ร่างกายไม่สมบูรณ์ดั่งก่อน แต่ใจดวงเดิมยังคงแกร่ง ผ่านเรื่องราวการรักษาป่าไม้

“เราอธิบายไปว่า ประเทศไทยเรา ต้นไม้จะหมดป่าแล้ว เราต้องช่วยกันปลูก อย่าตัดไม้ทำลายป่า เพราะจะทำให้อากาศร้อน เกิดภาวะโลกร้อน เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ สัตว์ป่า และชีวิตของคนเราเองด้วย หากป่าไม้ไม่มี ฝนก็จะไม่ตกตามฤดูกาล พอถึงฤดูฝน ฝนไม่ตก… เราจะสอนเด็กนักเรียน ป. 4 ป. 5 อายุ 10 – 11 ขวบ ส่วนพวก ม. 3-4-5 เขาจะไม่สนใจแล้ว เราปลูกฝังแต่เล็กๆ สอนพวกเด็กๆ เขาก็เข้าใจ”

เด็กนักเรียนมีคำถาม เกิดอะไรกับคุณครูผู้พัน เราก็ตอบไป เห็นไหม ผู้พันที่ขาขาด เพราะปกปักรักษาป่าเอาไว้ให้พวกเอ็ง เจ้าหน้าที่เขาบาดเจ็บ พิการ ตายไปก็เยอะแยะในป่าอุทยานฯ ถ้าเราไปตัดต้นไม้ไม่ช่วยกันดูแลรักษา ไม่ช่วยกันดูแล ผืนป่าน้ำท่าบนภูเขาก็แห้งแล้งไปแล้ว เขื่อนพระปรง เขื่อนท่ากระบาก ที่พวกเอ็งชอบไปเที่ยวไปชม จะไม่เห็นน้ำธรรมชาติหรอก เพราะป่าไม้มันเป็นป่าหัวโล้น… บางทีคุยกับนักเรียน บ้านเอ็งทำนาไหม แล้วฝนตกไหม ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ต้องอาศัยฝนเทียม แล้วการทำฝนเทียม ถ้าไม่มีเมฆก็ไม่มีฝน และหากจะทำฝนเทียม ไม่มีเมฆ ก็หว่านไม่ได้ เราต้องหยิบเรื่องใกล้ตัวของเด็กๆ และครอบครัวของเขา เขาจะคิดตามและเชื่อมโยงกับสิ่งที่ได้รู้ได้เห็ฯกับตาตัวเอง

ด้วยภารหน้าที่การเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ใจคิดเสมอถึงการทำตามหน้าที่ เพื่อปกป้องอธิปไตยตามแนวชายแดน มีอะไรบ้าง ก็มีป่าไม้ สัตว์ป่า ประชาชน ต้องทำควบคู่กันไปหลายสาขา การลาดตะเวนเข้าไปในเขตอุทยานฯ บ่อยครั้งที่พบการตัดไม้ทำลายป่าก็ต้องจับกุม เพรามันผิดกฎหมายซึ่งหน้า

กรณีปัญหาการลักลอบฆ่าสัตว์ป่า-กระทิงป่า อุทยานฯเจอซากกระทิง แต่ไม่คุมตัวผู้ต้องหาไว้ เราต้องไปร่วมสืบสวน หาตัวคนยิงกระทิงจากรอยรองเท้าฟองน้ำเบอร์ 11 ที่เดินเข้าออกหลายเที่ยว ผมสังเกตรอยรองเท้าฟองน้ำ แล้วใช้การสะกดรอย ผมถามหาหัวมันอยู่ตรงไหน ให้พาไปชี้ว่าทั้งหัวและหนังอยู่ที่ไหน ส่วนเนื้อส่งตามไปร้านอาหาร การที่ผู้ต้องหาพาไปชี้จุดพบซากได้ เท่ากับเป็นยอมรับผิดโดยสภาพแล้ว

กรณีปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ยังไม่พบผู้ต้องหา แต่เราเห็นเด็ก ป.3 -ป.4 ไม่ไปโรงเรียน แต่มาอยู่ในป่าลัดเลาะตามแนวตีนเขา และมีผู้ชาย 3-4 คนกับรถอีแต๊ก ผมเรียกเด็กมาถาม ไอ้หนูทำไมไม่ไปโรงเรียน เด็กทำท่าจะร้องไห้ เด็กตอบมาดูต้นทาง แล้วพาไปจับคนลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

“กรณีนี้เป็นคนไทย ลักลอบตัดไม้ไปขายเพื่อยังชีพ ถามว่าทำไม่ไปทำงานอื่น เขาตอบเคยไปแล้ว แต่มันไม่คุ้ม การเข้าป่าไปตัดไม้ออกมาขาย วันสองวันก็ได้พันสองพันแล้ว เนื้อไม้ดีๆ เลื่อยแล้วเอาไปขาย ส่วนปีกไม้เอามาสร้างบ้านอยู่เอง…”

เสียงสะท้อนจากอดีต ตชด.

เมื่อคนที่เคยไม่พิการ ต้องมาเป็น“คนพิการ”ในวันนี้

“ จากเคยทำงานแล้วไม่ได้ทำงาน ตชด. ก็ต้องทำใจ บางทีก็โทรคุยกับน้อง ๆ ที่เคยทำงานด้วยกัน ก็พยายามเตือนกันตลอด ทุกวันนี้พอนึงถึงภาพจำเก่าๆ ที่เราทำงาน บางทีก็นั่งขำอยู่คนเดียว อย่างตอนที่ต้องหลอกล่อกัน เพื่อให้ผู้ทำผิดยอมรับสารภาพ และความสุขที่อยู่กลางป่า ได้เห็นธรรมชาติ ป่าเขา สัตว์ป่า โอบล้อมเราไว้…”

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 4 ส.ค. 2548 เจ้าหน้าที่ ตชด. ทหารพราน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังไม่มีใครโดนกับดักระเบิดหนักอย่างที่เขาประสบมา แต่มีครั้งหนึ่งใกล้กับจุดเกิดเหตุเดิม กรณีของ “จุก” สุพัก อิ่มสำราญ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าบาระแนะ เจ้าหน้าที่ลาดตะเวนพิทักษ์ป่าตาพระยา ถูกผู้ลักลอบตัดไม้กัมพูชา ซุ่มดักยิงได้รับบาดเจ็บ

“จุก”(นายสุพัก อิ่มสำราญ) พนักงานพิทักษ์ป่า หัวหน้าชุดลาดตะเวนพิทักษ์ป่าตาพระยา ถูกผู้ลักลอบตัดไม้ชาวกัมพูชา ซุ่มดักยิงได้รับบาดเจ็บ ตามที่ชุดลาดตระเวนประจำอุทยานแห่งชาติตาพระยา ที่ ตย.5 (บาระแนะ) ออกตรวจปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ บริเวณป่าด้านทิศใต้บ้านงามเจริญ ท้องที่ ตำบลหนองไม้งามอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ พิกัดที่ 48P 287940 E 1576059 N (WGS84) ในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 21.00 น. เกิดเหตุปะทะกับกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย จำนวน 4-5 คน ทำให้นายสุพัก อิ่มสำราญ ถูกยิงบริเวณหน้าท้อง จำนวน 1 นัด จนเวลา 04.00 ของวันที่ 30 สิงหาคม 2564 หัวหน้า.อช.ตาพระยา สามารถนำเจ้าหน้าที่เข้าไปเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บส่งตัวเข้ารักษาที่ รพ.ละหานทรายได้ และส่งต่อ รพ.บุรีรัมย์ เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางทำการรักษา ความคืบหน้าล่าสุด (13.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2564) นายสุพัก อิ่มสำราญ ผู้บาดเจ็บ ได้เข้ารับการผ่าตัด บริเวณหน้าท้องเพื่อเย็บลำไส้ที่ฉีกขาด และได้ออกจากห้องผ่าตัด อาการปลอดภัย

“ตั้งแต่ผมโดนกับดักระเบิด เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาก็ผวา และ ตชด.ที่เคยไปอยู่ด้วยเขาก็ไม่มาแล้ว เขากลัวเส้นทางเก่าๆ ที่เคยเจอกับดักระเบิด อุทยานฯ เขาก็ลาดตะเวนเฉพาะในพื้นที่ที่เก็บกู้แล้วเท่านั้น… ส่วนกับดักระเบิดอันที่ทำให้ต้องสูญเสียขาและแขนทั้งสองข้าง ผู้ก่อการร้ายนำมาวางไว้ในตอนเช้า ทหารเขมรพวกนี้เข้ามาทำไม้ไปขายและทำหน้าที่คุ้มกันด้วย ตอนบ่ายที่ชุดกองกำลังไทยเข้าพื้นที่ก็โดนระเบิด..”

• ฝากถึง “คนพิการ” ที่เป็นมาแต่เกิดและเป็นเพราะเกิดอุบัติเหตุ

“ …ขอให้ทำใจสู้ไว้ คนพิการ รัฐบาลเขาก็ช่วยอยู่เดือนละแปดร้อย ได้เงินมาก็รู้จักใช้ และพยายามดูแลตัวเอง อย่าไปท้อแท้ ทำไมพิการ คนที่พิการมากกว่าคุณยังมีอีกเยอะ หรือมากกว่าผมก็ยังมีอีกเยอะ ..บางคนก็ต้องป้อนเข้าว ผมเองยังช่วยเหลือตัวเอง แม้จะทำได้ในส่วนหนึ่ง ไม่ถึง 30% จากปรกติก็ตาม…”

พ.ต.อ. ปราโมทย์ แก้วพิจิตร กล่าวด้วยความห่วงใยไว้ว่า ทุกสังคมที่อยู่ชายแดน ต้องระวังให้มาก ระเบิดที่วางไว้นานกว่า 20 ปีมาแล้ว ยังเก็บกู้ไม่หมดและไม่เสื่อมสลาย สำหรับตนเองนั้นทางราชการ ก็แค่ปรับเงินเดือนให้เป็นบำนาญ แล้วก็จบกันไป และปรับเลื่อนชั้นยศจาก ดต.(ดาบตรี-จ่า) เป็น พ.ต.อ.

“ ส่วนประเด็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองสังกัดของผม ได้ทำเรื่องเอกสารผิดส่งไป จึงทำให้ทาง สายใจไทยฯ เขาไม่อนุมัติในสิทธิ์ และสวัดิสการอื่นๆ ที่ควรจะได้ ผมก็เหนือยที่จะไปเรียกร้อง..”

• ฝากถึง “ภาครัฐ” และสังคมไทย

หากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขั้นกับผู้สูญเสียเช่นนี้ ควรมีการ ทบทวนในประเด็นการจัดการสวัสดิการ จัดสรรทุนการสร้างอาชีพ และอำนวยความสะดวกด้านการช่วยเหลือแก่ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่ายกาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทาง และความเป็นอยู่หลังเกิดอุบัติการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน และโอกาสในดำรงชีพอย่างมีความปกติสุข อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับตนเอง โดยเฉพาะความยุ่งยากของการเชื่อมระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการต้นสังกัด กับหน่วยงานที่จัดการบริการดูแลเรื่องสวัสดิการใดๆ

“ผมลาออกอายุ 48 แล้ว ในปี พ.ศ. 2549 หากยังรับราชการต่อไป ใครจะมาอุ้มเรา แต่งเครื่องแบบ ไปทำงาน สู้ลาออกมาเลยดีกว่า ไม่ต้องไปกั๊กตำแหน่ง บอกกับตัวเอง เราต้องเข้าใจนะ คนที่มาเป็นหัวหน้าคนใหม่ เขาจะเข้าใจเราไหม เราไปทำอะไรมา ทำไมจึงทำเรื่องไปผิด….” พ.ต.อ.ปราโมทย์ เปิดใจถึงเหตุผล การรับเป็นบำนาญ หากรู้จักกิน รู้จักใช้ ก็อยู่ได้ จะไปขอเขากินก็ทำไม่ได้ สู้เรามีบำนาญ รู้จักใช้ เราก็อยู่ได้ การทำเรื่องเอกสารส่งไปผิดพลาด หน่วยงานของสายใจไทยฯ ก็เลยไม่อนุมัติ

น้าหมู บดินทร์ จันทศรีคำ กล่าวเสริมว่า การไปติดต่อส่วนงานต่างๆ ที่กรุงเทพฯ ตอนนั้น ก็ต้องอุ้มกันไป นั่งรถจากสระแก้วไปกรุงเทพฯ แล้วตะเวนไปตามหน่วยงานอื่นๆ พี่โมทย์เขาก็รู้เหนื่อย และเกรงใจเพื่อนและครอบครัวที่จะต้องพากันไปลำบาก ทุลักทุเล ก็เลยหยุดไว้เพียงแค่นั้น ไม่คิดจะเรียกร้องอะไรอีก

19 ปีจากวันนั้นถึงวันนี้

ความภาคภูมิใจที่มีต่อการเป็น ตชด. นั้น ผ่านทำงานมากมาย ยังมีเพื่อนมีพี่น้องมาแวะดูเยี่ยมเยือนไม่ทิ้งกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในรุ่นเดียวกันหรือพวกทหารพวกน้องก็มาหากันเสมอ เป็นมีความสุขที่พอทำให้เรามีอยู่ แต่พอพวกเขาเขากลับไป…เราก็เหงา แต่จะให้ผมไปของความช่วยเหลือจากใคร ผมไม่เอา ผมก็มีความสุขไปกับการปลูกต้นไม้ของผมไป

“ผมก็มีความสุข ปลูกต้นไม้ของผมไป ผมวัดวงรอบต้นไม้ที่ปลูกทุกปี สวนป่าต้นสักเป็นไม้มรดกได้ ผมจะไม่ตัด อะไรจะเกิดก็ให้เกิดหลังจากผมไม่อยู่แล้ว ผมชอบบรรยากาศ…มันจะเหมือนป่าที่เคยอยู่”

เพราะตั้งใจจะทำให้เป็นป่าเล็กบนพื้นที่สามไร่กว่า รอบนอกเป็นพื้นที่ทุ่งนา มีนก กระรอก อีกาบินไปมา เหมือนป่าธรรมชาติ พื้นที่ระหว่างต้นสัก มีกระเจียวขาวเก็บไปแจกเพื่อนบ้านและญาติ

• เพื่อนไม่เคยทิ้งกัน

บดินทร์ จันทศรีคำ ได้กล่าวถึง พ.ต.อ.ปราโมทย์ แก้วพิจิตร อดีต ตชด.ผู้เสียสละแขนขา เพื่อป่าไทยในวันครบรอบ 19 ปีที่ไม่แขนขา 4 สิงหาคม ว่า เช้าวันนี้ (4ส.ค.67) ดาบปราโมทย์ (อดีต ตชด.124) โทรมาหา ลุงเพราะคิดถึงเพื่อนๆ ที่เคยช่วยกันรักษาป่าปางสีดา เพราะวันนี้ครบรอบ 19 ปี ที่เกิดเหตุมีคนร้ายลอบวางระเบิดสังหาร ตชด. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2548 จนทำให้ดาบตำรวจปราโมทย์ แก้วพิจิตร หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 124 กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว แขนขาขาด จากการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ชาติหหคือ การป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูง ที่บริเวณ อช.ตาพระยา และ อช.ปางสีดา ภารกิจหลักในครั้งนั้น คือการออกลาดตระเวน เพื่อการป้องกันรักษาป่าไม้ตามแนวเชายแดนไทย-กัมพูชา และติดตามจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้พะยูงขนาดใหญ่ พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา รอยต่อระหว่าง อ.ละหานทราย อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กับ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกันที่สามารถข้ามชายแดนเข้าไปยังเขตประเทศกัมพูชาได้ง่าย การลักลอบตัดไม้พะยูงและไม้มะค่าตามแนวชายแดนจึงเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น

จนกระทั่งวันที่ 4 สิงหาคม 2548 เวลา 16.45 น. ดต.ปราโมทย์ แก้ววิจิตร หัวหน้าชุดปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้นำกำลัง ตชด.ออกเดินลาดตระเวนมาถึงช่องทางผ่านแดน “ช่องตาเพ็ด” อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ก็เหยียบกับระเบิดที่กลุ่มลักลอบตัดไม้วางกับดักไว้ จนเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง

ทำให้ ตชด.ได้รับบาดเจ็บ 7 นาย โดยเฉพาะ ดต.ปราโมทย์ แก้ววิจิตร ได้รับบาดเจ็บอย่างหนักและต้องสูญเสียขาบริเวณเหนือหัวเข่าทั้งสองข้าง แขนข้างขวาถูกตัดขาดบริเวณข้อศอก และนิ้วนางและนิ้วก้อยมือซ้ายถูกตัดขาด ทำให้ได้รับความลำบากอย่างมากในการดำเนินชีวิตจนถึงวันนี้

ขอคารวะ “หัวใจของคนกล้า ดาบปราโมทย์ แก้วพิจิตร” ครบรอบ 19 ปี ที่เกิดเหตุระเบิดจนสูญเสียแขนขา และขอขอบ “คุณครูรัช รัชวรรณ แก้วพิจิตร” ภรรยาพี่ปราโมทย์คู่ทุกข์คู่ยาก ขอบันทึกความดีไว้เป็นความทรงจำไม่มีวันลืม ภูมิใจนาย คือ เพื่อนที่ดีที่สุดของพวกเรา

เรื่อง: รสวรรณภัทชก์ หงษ์สุวรรณ์

ภาพ: อภินันท์ บัวหภักดี

ขอบคุณ... https://www.77kaoded.com/news/rossawanaphatchg/2602944

ที่มา: 77kaoded.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 ก.ย. 67
วันที่โพสต์: 17/09/2567 เวลา 14:37:10 ดูภาพสไลด์โชว์ เสียงสะท้อนนโยบายคนพิการจากอดีต ตชด. 19 ปีที่สูญเสียแขน ขา ขณะพิทักษ์ป่าไทย