ตะลอนเที่ยว : ช่วยเขาก็หมายถึงช่วยเรา ช่วยให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น

ตะลอนเที่ยว : ช่วยเขาก็หมายถึงช่วยเรา ช่วยให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น

เป็นปกติทุกๆ สองเดือน (เป็นอย่างน้อย) ที่สมาชิกคอลัมน์ตะลอนเที่ยว ในหนังสือพิมพ์แนวหน้าจะรวมตัวกัน (จำนวนมากบ้างน้อยบ้างตามความสะดวก) แล้วไปเลี้ยงอาหาร มอบสิ่งของ ขนม เสื้อผ้า และเงินขวัญถุงให้คนชรา โดยสลับกับการนำข้าวของเครื่องใช้ และขนมนมเนย รวมถึงเสื้อผ้า เพื่อไปบริจาคให้เด็กผู้พิการทางสายตา และมีความพิการด้านอื่นๆด้วย ณ บ้านเด็กตาบอดและพิการซ้ำซ้อน ที่ตั้งอยู่บนถนนนวลจันทร์ รามอินทรา 34

ล่าสุดคณะของเราไปมอบเงิน และสิ่งของ รวมถึงนำขนม (สลิ่ม ทับทิมกรอบ มะพร้าวกะทิ แห้ว) รสชาติแสนอร่อย สะอาด คุณภาพดี จากร้านคำหวาน ปานเอ่ย ไปเลี้ยงเด็กๆ และเจ้าหน้าที่ รวมถึงครูทุกคน ณ บ้านเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อนด้วย

ตะลอนเที่ยว : ช่วยเขาก็หมายถึงช่วยเรา ช่วยให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น

ครั้งนี้คณะของเราไปร่วมทำกิจกรรมเพียงไม่กี่คน เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ติดธุระ แต่ก็ยังฝากข้าวของเครื่องใช้ และบางรายก็ฝากเงินไปร่วมบริจาค โดยคณะที่ไปในครั้งนี้ส่วนมากเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ เช่น คุณหมอคำพร-คุณหมอสุภัชชาชาญวิเศษ คุณหมอศิริวัฒน์ มโนธรรม และคุณพยาบาลธนาธร ธนะคำดี ส่วนสมาชิกที่ไม่เคยพลาดการทำบุญทำกุศลกับคณะของเราคือ ร้านคำหวาน ปานเอ่ย

ข้อมูลจากครูเก๋ (ครูใหญ่บ้านเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน) คือ เด็กๆ ที่นี่มีประมาณ 60-70 คน มีตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ ไปจนถึงอายุ 14 ปี แต่เมื่ออายุเกิน 15 ปี จะนำเด็กกลุ่มนี้ไปเรียนหนังสือและฝึกอาชีพ ในสถานที่ในความดูแลของบ้านเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อนในจังหวัดปริมณฑลรอบๆ กรุงเทพฯ โดยแบ่งเป็นกลุ่มหญิงและชาย แล้วฝึกอาชีพและให้การศึกษากับแต่ละคนตามความเหมาะสม และตามศักยภาพของเด็ก

ครูเก๋บอกด้วยว่า การทำงานของครูและพี่เลี้ยงเด็กในบ้านแห่งนี้ ใช้อัตราครูและพี่เลี้ยงต่อเด็ก 7-8 คน โดยดูแลตลอดเวลา 24 ชั่วโมง โดยแบ่งงานกันทำ โดยต้องสอน

หนังสือตามความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กดูแลและอบรมสั่งสอนให้เด็กปรับตัวได้ดี และศึกษาพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน เพื่อช่วยแนะนำให้แต่ละคนเติบโตได้อย่างเหมาะสมกับสภาพของตนเอง

ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบเสมอๆ คือเด็กบางคนต้องการความเอาใจใส่มากแต่เนื่องจากครูและพี่เลี้ยงมีน้อย ไม่เพียงพอกับจำนวนเด็ก ดังนั้น จึงต้องใส่ใจดูแลเด็กให้ดีที่สุดตลอดเวลา เพราะเด็กบางคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าครูและพี่เลี้ยงไม่รัก ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนเดินหรือวิ่งไปหาครูและพี่เลี้ยงเพื่อหวังให้ครูและพี่เลี้ยงกอด แต่บางครั้งครูก็มองไม่เห็น เพราะต้องดูเด็กคนอื่นๆ ประกอบกับครูก็เป็นผู้พิการทางตาด้วย จึงทำให้ไม่เห็นความต้องการของเด็ก เมื่อเด็กไม่ได้รับการตอบสนองตามต้องการ ก็อาจเกิดอาการน้อยใจ เราจึงต้องสอนให้เขารู้ว่าปัญหาของแต่ละคนคืออะไร และพยายามทำความเข้าใจกับเขา แม้บางคนอาจจะมีปัญหาด้านสมอง ทำให้สื่อสารกันยากลำบาก แต่ก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด ต้องให้เด็กไม่เกิดความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือไม่มีความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องบอกเด็กๆ ว่าครูและพี่เลี้ยงไม่สามารถอุ้มหรือกอดเด็กๆ ได้ทุกคนในเวลาเดียวกัน เพราะเด็กมีมากกว่าครูและพี่เลี้ยงเพราะฉะนั้น ทุกคนต้องช่วยกันดูแลกันและกัน

Mr.Flower เองนั้นไปบ้านเด็กตาบอดและพิการซ้ำซ้อนมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว และมักไปบริจาคข้าวของและเงินเป็นประจำ และปัจจุบันก็ยังคงพาสมาชิกไปร่วมบริจาคเป็นประจำ ขอเชิญชวนคุณๆ ที่มีความพร้อมให้ร่วมกันบริจาคให้กับเด็กๆ ที่บ้านเด็กตาบอดและพิการซ้ำซ้อน โดยคุณสามารถไปบริจาคได้ด้วยตนเอง หรือจะไปเป็นหมู่คณะกับ Mr.Flower ได้ในแต่ละเดือน (เดือนเว้นเดือน)

หากคุณสนใจร่วมกิจกรรมต่างๆ กับ Mr.Flower เช่น การเลี้ยงอาหาร และบริจาคข้าวของให้คนชรา เด็กตาบอด เด็กและคนด้อยโอกาส การช่วยเหลือสงเคราะห์หมาแมวจรจัดที่อดอยากและบาดเจ็บ เจ็บป่วย รับสัตว์เลี้ยงไปอุปการะ รวมถีงการช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนเงินและข้าวของเครื่องใช้ และการทำบุญเพื่อส่งเสริมสนับสนุนพระศาสนา และร่วมกันท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม พร้อมๆกับช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โปรดติดต่อหมายเลข 091-7233615

ขอบคุณ... https://www.naewna.com/lady/826155

ที่มา: naewna.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 2 ก.ย.67
วันที่โพสต์: 2/09/2567 เวลา 15:09:47 ดูภาพสไลด์โชว์ ตะลอนเที่ยว : ช่วยเขาก็หมายถึงช่วยเรา ช่วยให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น