ครม. เคาะ 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัลให้กลุ่มเปราะบางและผู้พิการ 14.5 ล้านคน

ครม. เคาะ 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัลให้กลุ่มเปราะบางและผู้พิการ 14.5 ล้านคน

(17 ก.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายคือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนไม่เกิน 12.4 ล้านราย และคนพิการจำนวนไม่เกิน 2.15 ล้านราย เป็นจำนวน 10,000 บาทต่อคน จะเริ่มทยอยจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบในหลักการและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก

ครม. เล็งเห็นว่า เนื่องจากในปี 2567 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำกว่าอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ (Potential Growth) และประเทศในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เช่น การหดตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในช่วงครึ่งปีแรก การหดตัวของการบริโภคสินค้าคงทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้ผลิตอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมลดลงอย่างต่อเนื่อง หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ เป็นต้น เป็นปัจจัยทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและคนพิการที่มีกำลังซื้อที่อ่อนแอได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ๆ โดยมีสาระสำคัญของโครงการฯ ดังนี้

1. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) ปี 2565 ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน (ไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์) หรือผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง (*เฉพาะกรณีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป* ยกเว้นกรณีผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปที่ไม่สามารถผูกพร้อมเพย์ได้ จะโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์ใน "หนังสือให้ความยินยอมโอนเงินสวัสดิการเข้าบัญชีร่วมกับบุคคลอื่น หรือบุคคลอื่น" ซึ่งได้แจ้งไว้ ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง ตามแนวทางการจ่ายเงินของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 12.40 ล้านราย ประกอบด้วย

1.1 ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จแล้วตามฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง และไม่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

1.2 ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.

1.3 ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ e-KYC สำเร็จแล้ว เป็นคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ ตามฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา แต่ไม่อยู่ในฐานข้อมูลของ พก. พม.

ทั้งนี้ จะใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งไม่รวมถึงผู้ที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ที่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) สำเร็จ และเป็นบุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ตามที่ พม. ได้ยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง

2. โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของคนพิการ ซึ่งเป็นผู้เปราะบางที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็นของคนพิการแต่ละประเภทในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่

(1) ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา

(2) บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ (กรณีไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการตามข้อ (1" ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 2.15 ล้านราย ประกอบด้วย

2.1 คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่ยังไม่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม.

2.2 คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่หมดอายุ ตามฐานข้อมูลของ พก. พม. และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ

2.3 คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา และไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ

2.4 คนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการในฐานข้อมูลของ พก. พม. แต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการตามฐานข้อมูลของ อปท. กทม. และเมืองพัทยา มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้ยืนยันตัวตน (e-KYC) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ตามฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 และ พก. แจ้งยืนยันข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทราบ จึงจะได้รับสิทธิ

ทั้งนี้ จะใช้ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 และไม่รวมถึงคนพิการที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ในสังกัด พม. ตามที่ยืนยันข้อมูลคนพิการดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง

เริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย 25 - 30 ก.ย.

สำหรับการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่ กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป โดยขณะนี้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมที่จะจ่ายเงิน ดังนี้

• 25 กันยายน 2567 คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 0

• 26 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 1-3

• 27 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 4-7

• 30 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 8-9

หมายเหตุ: คนพิการ หมายถึง ผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ

ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หมายถึง ผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ให้เวลา 3 เดือนเร่งดำเนินการทุกขั้นตอนให้เรียบร้อยรับเงิน

ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 และครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 โดยเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ

ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาท

ภายใต้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 10,000 บาทต่อคน ให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวมจำนวนประมาณ 14.55 ล้านราย สามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยไม่จำกัดประเภทร้านค้า จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนเพิ่มการบริโภคที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 ได้อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าการมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 145,552.40 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 0.35 ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น จะช่วยก่อให้เกิดการผลิต การค้าขาย การจ้างงาน และการคมนาคมขนส่งตามมา ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะเอื้อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

โดยเน้นย้ำให้กลุ่มเป้าหมายตามโครงการดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือหากยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ขอให้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน และสำหรับคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการหรือบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ขอให้ดำเนินการทำบัตรหรือต่ออายุบัตรให้เรียบร้อยภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เพื่อรับสิทธิตามโครงการดังกล่าว

24 ก.ย. สามารถตรวจสอบสิทธิได้

ช่องทางหลักในการตรวจสอบสิทธิและผลการได้รับเงินในโครงการ โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

1. เว็บไซต์ https://โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ2567.cgd.go.th

2. เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th

3. เว็บไซต์ https://govwelfare.dep.go.th/check (เฉพาะคนพิการ)

4. แอปพลิเคชัน "รัฐจ่าย" (โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง)

5. ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทร. 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง

ช่องทางติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

1. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

o ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โทร. 0 2109 2345 ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น. - 17.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

o Call Center กรมบัญชีกลาง โทร. 0 2270 6400 ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น. - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

2. คนพิการ

o ศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. โทรศัพท์สายด่วน (Call Center) 1300

o กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โทร. 0 2354 3388 ต่อ 701 - 702 (หน่วยงานออกบัตรประจำตัวคนพิการ)

o ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น. - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสถานที่ตั้งและเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์บริการคนพิการแต่ละแห่งได้ทางเว็บไซต์ www.dep.go.th/th/contact-us/dsc-contactcenter

o อปท. กทม. หรือเมืองพัทยา ที่คนพิการรับเงินเบี้ยความพิการ ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น. - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

คำถาม-คำตอบ (Q&A) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวิสติการแห่งรัฐและคนพิการ

Q: คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ได้รับเงินจากภาครัฐ (ต้องดำเนินการให้ทันตามกำหนดเวลา มิฉะนั้นอาจไม่ได้รับเงินจากโครงการ)

A: (1) ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือคนพิการที่เข้าข่ายได้รับโอนเงินทางบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน กรณีไม่เคยมีอยู่ให้เร่งติดต่อธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากเพื่อผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หรือภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 และหากกรณีมีอยู่แล้วโปรดตรวจสอบว่าบัญชีดังกล่าวยังมีสถานะที่รับได้ตามปกติหรือไม่ (สถานะ active) และต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หรือภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2567

(2) กรณีคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการแต่ได้รับเงินเบี้ยความพิการ และคนพิการที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ให้ติดต่อยื่นขอมีบัตรหรือขอต่ออายุบัตรโดยเร็ว หรือภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ได้ที่

(2.1) ยื่นขอมีบัตรประจำตัวคนพิการเพื่อยืนยันตัวตน ที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น. - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยใช้เอกสาร ดังนี้

• บัตรประจำตัวประชาชน/สูติบัตรสำหรับบุคคลอายุต่ำกว่าสิบห้าปี

• ทะเบียนบ้าน (ถ้ามี)

• รูปถ่ายคนพิการ ขนาด 1 นิ้ว (กรณีที่ไม่ได้มายื่นด้วยตนเอง)

• เอกสารรับรองความพิการ (กรณีที่พิการเชิงประจักษ์ตามประกาศฯ ไม่ต้องใช้เอกสารรับรองความพิการ)

• หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล (ถ้ามี)

(หมายเหตุ: กรณีคนพิการที่ได้รับเงินเบี้ยความพิการแต่ไม่มีในฐานข้อมูลของ พก. อาจเกิดจากเป็นคนพิการที่ใช้บัตรประจำตัวคนพิการแบบเก่า (แบบเล่ม) และไม่ได้มีการยื่นเพื่อลงทะเบียนในระบบ)

(2.2) ต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08:30 น. - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยใช้เอกสาร ดังนี้

• บัตรประชาชน

• ทะเบียนบ้าน (ถ้ามี)

• เอกสารรับรองความพิการ (กรณีมีความพิการเพิ่มหรือเปลี่ยนไปจากเดิม)

• หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล (ถ้ามี)

• บัตรประจำตัวคนพิการใบเดิม

ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอมีบัตรหรือต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการได้ทางโทรศัพท์สายด่วน พม. โทร. 1300 หรือกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) หมายเลขโทรศัพท์ 0 2354 338888 ต่อ 701 - 702 (หน่วยงานออกบัตรประจำตัวคนพิการ)

Q : ได้ลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไว้แล้ว แต่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ใช่คนพิการ ในอนาคตยังจะได้เงิน 10,000 บาท อยู่หรือไม่

A : ขณะนี้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มที่เปราะบาง 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการก่อนเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป ตามที่ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาไว้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยจะมีการนำฐานข้อมูลของผู้ลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ได้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐมาใช้ต่อ ในการนี้ จึงขอให้รอติดตามข่าวสารเพื่อรับทราบความคืบหน้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจากรัฐบาลต่อไป

ขอบคุณ... https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/325065

ที่มา: prd.go.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 ก.ย. 67
วันที่โพสต์: 19/09/2567 เวลา 14:50:33 ดูภาพสไลด์โชว์ ครม. เคาะ 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัลให้กลุ่มเปราะบางและผู้พิการ 14.5 ล้านคน