ศอ.บต.ขยายผลโครงการ “เก้าอี้ สุขใจ ร้อยรักสู่ครอบครัว” มอบโอกาสให้กับเด็กพิการในพื้นที่ จชต.
สืบเนื่องจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่ง “...ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อยอดการพัฒนาโครงการสืบสานแนวพระราชดำริฯ เก้าอี้ สุขใจ ร้อยรักสู่ครอบครัว”
สืบเนื่องจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่ง “…ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อยอดการพัฒนาโครงการสืบสานแนวพระราชดำริฯ เก้าอี้ สุขใจ ร้อยรักสู่ครอบครัว” ศอ.บต. จึงได้ขยายผลผ่านโครงการ “เก้าอี้ สุขใจ ร้อยรักสู่ครอบครัว” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการเพื่อส่งมอบอุปกรณ์ให้กับเด็กพิการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กพิการได้รับการฝึกพัฒนาการที่ดี สามารถเดินได้เช่นปกติ และให้มีกายอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ครบถ้วนเพียงพอกับเด็กที่ขาดแคลนและจําเป็นจะต้องใช้กายอุปกรณ์ในการฝึกพัฒนาการตามสภาพร่างกายที่เหมาะสม
ทั้งนี้กระบวนงานพัฒนาและผลสำเร็จ จากการลงพื้นที่สำรวจในปี พ.ศ. 2566 พบว่ามีเด็กพิการ (ที่บกพร่องทางการเคลื่อนไหว) ทั้งสิ้น 202 ราย เด็กพิการ ขอรับสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยความพิการ รองเท้าสั่งตัด จำนวน 147 ราย ทีมแพทย์มีความเห็นควรสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ จำนวน 104 ราย ส่วนที่เหลือ จำนวน 43 ราย รูปเท้าไม่ได้ผิดรูปไปมาก และมีโอกาสเคลื่อนไหวได้โดยไม่ต้องใช้รองเท้าสั่งตัด เด็กพิการ ขอรับสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยความพิการ เก้าอี้ สุขใจ จำนวน 55 ราย ได้รับการช่วยเหลือทุกราย ตั้งแต่เริ่มดำเนินการปี พ.ศ. 2560-2566 ได้สนับสนุนอุปกรณ์ไปแล้ว จำนวน 1,089 ราย จากการติดตามประเมินผลโดยรวม เด็กพิการมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ ผลเป็นที่น่าพอใจของแพทย์และผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีการเร่งสำรวจเด็กพิการในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยความพิการ ให้ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ โดยมีเป้าหมายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 200 ราย ประเมินพัฒนาการทางการเคลื่อนไหวหลังจากได้รับอุปกรณ์ช่วยความพิการ “รองเท้าสั่งตัด และเก้าอี้ สุขใจ” เพื่อนำข้อมูลพิจารณาร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยความพิการให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ตลอดจนเพื่อส่งต่อข้อมูลให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด นำไปวิเคราะห์วางแผนแนวทางการช่วยเหลือเพื่อให้เด็กพิการมีพัฒนาการการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้นต่อไป