สังเกตอย่างไร แบบไหนเรียก "เด็กพิเศษ"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ เสรี
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กพิเศษและอาจารย์ประจำ
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
“เด็กพิเศษ” (Special Child) คำนี้มีที่มาจากคำเต็มว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (child with special needs หรือ exceptional children) เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีความต้องการและความจำเป็นบางอย่างที่ใช้ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และทักษะต่าง ๆ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตได้ ในประเทศไทยจำแนกตามต้องการพิเศษตามประเภทของคนพิการได้ 7 ประเภท ดังนี้
1.ความพิการทางการเห็น
1.1ตาบอด หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการเห็น เมื่อตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้ว อยู่ในระดับแย่กว่า 3 ส่วน 60 เมตร (3/60) หรือ 20 ส่วน 400 ฟุต (20/400) ลงมาจนกระทั่งมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีลานสายตาแคบกว่า 10 องศา
1.2 ตาเห็นเลือนราง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมใน ชีวิตประจําวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการเห็นเมื่อตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่า เมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้วอยู่ในระดับตั้งแต่ 3 ส่วน 60 เมตร (3/60) หรือ 20 ส่วน 400 ฟุต (20/400) ไปจนถึงแย่กว่า 6 ส่วน 18 เมตร (6/18) หรือ 20 ส่วน 70 ฟุต (20/70) หรือมีลานสายตาแคบกว่า 30 องศา
2.ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
2.1หูหนวก หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยินจนไม่สามารถรับข้อมูลผ่านทางการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยิน โดยใช้คลื่นความถี่ที่ 500 เฮิรตซ์ 1,000 เฮิรตซ์ และ 2,000 เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียง 90 เดซิเบลขึ้นไป
2.2หูตึง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวันหรือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยิน เมื่อตรวจวัดการได้ยิน โดยใช้คลื่นความถี่ที่ 500 เฮิรตซ์ 1,000 เฮิรตซ์ และ 2,000 เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียงน้อยกว่า 90 เดซิเบลลงมาจนถึง 40 เดซิเบล
2.3ความพิการทางการสื่อความหมาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติ กิจกรรมในชีวิตประจําวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมี ความบกพร่องทางการสื่อความหมาย เช่น พูด ไม่ได้ พูดหรือฟังแล้วผู้อื่นไม่เข้าใจ เป็นต้น
3.ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
3.1ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรม ในชีวิตประจําวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือการสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ได้แก่ มือ เท้า แขน ขา อาจ มาจากสาเหตุอัมพาต แขน ขา อ่อนแรง แขน ขาขาด หรือภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังจนมีผลกระทบต่อการทํางานของมือ เท้า แขน ขา
3.2ความพิการทางร่างกาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมใน ชีวิตประจําวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า ลําตัว และภาพลักษณ์ภายนอกของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจน
4.ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจําวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความ บกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์ หรือความคิด
5.ความพิการทางสติปัญญา หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมใน ชีวิตประจําวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีพัฒนาการช้ากว่า ปกติ หรือมีระดับเชาว์ปัญญาตํ่ากว่าบุคคลทั่วไป
6.ความพิการทางการเรียนรู้ หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจํากัดในการปฏิบัติกิจกรรมใน ชีวิตประจําวัน หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมโดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผล มาจากความบกพร่องทางสมอง ทําให้เกิดความบกพร่องในด้านการอ่านการเขียน การคิดคํานวณ หรือกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานอื่นในระดับความสามารถที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามช่วงอายุ และระดับสติปัญญา
7.ความพิการทางออทิสติก หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้อารมณ์หรือความคิด
นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่รับผิดชอบในเรื่องการจัดหาและการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กยังจำแนกย่อยเพิ่มเติมอีก 2 ประเภท คือการสื่อสารและการฟัง และกลุ่มพิการซ้ำซ้อน เพื่อความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือดูแลเด็กที่มีปัญหาโดยเฉพาะ โดยจัดกลุ่มในการช่วยเหลือเรื่องของพัฒนาการการเรียนรู้ไว้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1)กลุ่มเด็กพิการ คือ กลุ่มที่มีความพิการที่จำแนกไว้ 9 ประเภทข้างต้น
2)กลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted) เด็กอัจฉริยะ เด็กไอคิวสูง
3)กลุ่มด้อยโอกาส คือกลุ่มเด็กเปราะบาง ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนดไว้
สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง มีข้อแนะนำในการสังเกตบุตร หลาน ที่อาจมีอาการเข้าข่ายเด็กพิเศษเบื้องต้น เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม กลุ่มแรก สังเกตจากสภาพร่างกายคือ สภาพร่างกายพิการชัดเจน มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังต่าง ๆ กลุ่มนี้จะสังเกตได้ง่าย กลุ่มที่สอง จะมีความคลุมเครืออาจดูได้ยาก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาทางด้านอารมณ์ และจิตใจ เช่น เด็กสมาธิสั้น เด็กที่มีบกพร่องทางการเรียนรู้ พัฒนาการช้า มีความซุกซนมากกว่าปกติ ยับยั้งชั่งใจตนเองไม่ได้ มีการเล่นที่รุนแรง เข้ากับผู้อื่นไม่ได้ ควบคุมตนเองไม่ได้เมื่อเทียบกับพัฒนาการตามวัยของเด็กกลุ่มนี้ เป็นต้น ผู้ปกครองจะสังเกตได้ยาก แต่ครูผู้สอนจะสังเกตได้ง่าย เพราะมีประสบการณ์และคลุกคลีอยู่กับเด็ก ๆ เช่น เด็กสมาธิสั้นจริง จะไม่ค่อยตอบสนองต่อวิธีการปรับพฤติกรรม ซึ่งแตกต่างจากเด็กซนปกติที่จะตอบสนองต่อการปรับพฤติกรรม กลุ่มที่บกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) จะเป็นกลุ่มที่ดูฉลาดแต่อ่านหนังสือไม่ออก IQ ปกติแต่เรียนไม่รู้เรื่อง ส่วนนี้เกิดจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ กลุ่มนี้จะดูยากมาก ๆ เด็กจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และคิดเลขไม่เป็น และกลุ่มออทิสซึม จะสังเกตความผิดปกติได้ 3 เรื่อง คือ ภาษาและการสื่อสาร ทักษะทางสังคม และการมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น ไม่มองหน้า ไม่สบตา เสียงพูดแบบ monotone จะสนใจแต่เรื่องตัวเอง ทำอะไรซ้ำ ๆ มีปัญหาเรื่องการปรับตัว
การดูแลเด็กพิเศษนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและแก้ไขพัฒนาการของเด็กเหล่านี้ให้กลับมาปกติและมีพัฒนาการตามวัยได้ ซึ่งในเด็กเล็ก จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องของทักษะชีวิต ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เป็นสำคัญ สอนให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก เช่น ตื่นนอนเองได้ ดำรงชีวิตเองได้ กินข้าวเองได้ เล่นกับเพื่อนอย่างถูกวิธี สำหรับเด็กโตและวัยผู้ใหญ่ จะต้องมีทักษะเพิ่มมากขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ดูแลคนในบ้านหรือคนรอบข้างได้มากขึ้น ดูแลตนเองในเรื่องของสาธารณะได้มากขึ้นตามลำดับ เช่น เดินทางด้วยตนเองได้ ไปซื้อของด้วยตนเองได้ เป็นต้น ฝึกฝนการควบคุมตนเองและดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ ในทางกลับกัน สังคมหรือกลุ่มเพื่อนเองก็ต้องเรียนรู้และส่งเสริมและให้มีความเข้าใจในลักษณะและพฤติกรรมของเด็กเหล่านี้ด้วย ต้องสอนให้รู้จัก ยอมรับในความแตกต่าง ไม่ล้อเลียนหรือกันแกล้งเพื่อนกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ลดปัญหาอาชญากรรมและอันตรายที่จะเกิดจากการ bully ได้