สอศ.เติมโอกาสสร้างความเท่าเทียมให้ผู้พิการมีอาชีพ

สอศ.เติมโอกาสสร้างความเท่าเทียมให้ผู้พิการมีอาชีพ

สอศ.ให้ความสำคัญการจัดการศึกษากลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จัดตั้งศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาขึ้น

การเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกันและไม่แบ่งแยกเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพียงแค่เด็กธรรมดาทั่วไปเท่านั้น แต่รวมถึงผู้พิการด้วย เพราะทุกครั้งที่มีการพูดถึงประเด็นนี้ กลุ่มเด็กพิการจะถูกพรากโอกาสทางสังคมเสมอ ซึ่งทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาให้แก่กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จัดตั้งศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา (ศพอ.) ขึ้น เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 ดำเนินการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาไม่ว่าจะเป็นการจัดทำข้อเสนอนโยบายและแผนการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อคนพิการ ผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และผู้ด้อยโอกาส

ในปี 2566 สอศ.ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัดขึ้น เพื่อทำงานระดับพื้นที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลให้กับสอศ. ส่งเสริมระบบความร่วมมือกับสถานประกอบการ และภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาในจังหวัด โดยทำให้คนพิการมีอาชีพเลี้ยงดูตนเองไม่เป็นภาระของสังคม นอกจากนี้ยังมีประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ อัตรา และรายการที่ให้การอุดหนุนทางการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอาชีวศึกษา และระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่าด้วยการจัดการอาชีวศึกษา และฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับคนพิการพ.ศ. 2566 เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิเรียนฟรีตามพ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สอศ.มีราชกิจจานุเบกษาฯ เรื่องเงินอุดหนุนเรียนฟรีสำหรับคนพิการ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการรองรับการเข้าศึกษาต่อของคนพิการระดับอาชีวศึกษาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยปีการศึกษาละ 2 – 6% (ย้อนหลัง 2564-2566) ให้ได้รับสิทธิการศึกษาอย่างเท่าเทียม

สอศ.เติมโอกาสสร้างความเท่าเทียมให้ผู้พิการมีอาชีพ

สำหรับการจัดรูปแบบการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาแบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ 1.การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม 2.การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม และ3.การจัดการศึกษาแบบเรียนเฉพาะความพิการ โดยโครงการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 ได้สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาสายอาชีพให้แก่ผู้เรียนพิการทุกช่วงวัยด้วยการสนับสนุนให้มีงานทำ โดยมีข้อมูลสรุปการมีงานทำของผู้เรียนพิการ ปี 2564 จำนวนผู้เรียนที่จบการศึกษา 250 คน ผู้เรียนที่มีงานทำ จำนวน 200 คน และกำลังศึกษาต่อ จำนวน 50 คน ขณะที่การมีงานทำของผู้เรียนพิการปี 2565 มีจำนวนผู้เรียนที่จบการศึกษา 320 คน ผู้เรียนที่มีงานทำ 295 คน กำลังศึกษาต่อ 35 คน และการมีงานทำของผู้เรียนพิการ ปี 2566 มีจำนวนผู้เรียนที่จบการศึกษา 360 คน ผู้เรียนที่มีงานทำ 150 คน กำลังศึกษาต่อ 50 คน อยู่ระหว่างการหางาน 160 คน ทั้งนี้มีผู้เรียนพิการที่จบการศึกษาและมีอาชีพ เช่น เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบอาชีพอิสระ ธุรกิจส่วนตัว เจ้าหน้าที่ธุรการโรงพยาบาล เจ้าของร้านกาแฟ พนักงานจัดเรียงสินค้า เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลการเงิน เป็นต้น

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนมุ่งมั่นตั้งใจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับผู้เรียนทุกคน ยกระดับการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยเชื่อมั่นว่าผู้เรียนทุกคนจะมีความสุข ถ้าได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค โดยเฉพาะผู้พิการที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางจำเป็นต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษาและการฝึกทักษะวิชาชีพ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเอง ใช้ชีวิตในสังคม และเกิดความมั่นคงของชีวิตได้ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าของสังคม

ขณะที่ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการกอศ. กล่าวว่า สอศ.ได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะชีวิตสำหรับผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่านด้วยการจัดแสดงผลงานด้านการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ภายใต้การดำเนินงานของศพอ. เช่น นิทรรศการเมืองผ้าและผลิตภัณฑ์ เมืองศิลปะ เมืองอาหาร เมืองสุขภาพ และเมืองอุตสาหกรรม นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนพิการและนิทรรศการสถานศึกษาเฉพาะทาง ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2567 มีคนพิการจำนวน 1,853 คน ได้เข้าศึกษาในสถานศึกษาสังกัดสอศ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้คนพิการและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการ (Up Skill, Re Skill) มีหลักสูตร 86 หลักสูตร มีคนพิการผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 2,000 คน สอศ.ให้ความสำคัญกับคนพิการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และยังเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเชื่อมั่นว่าหากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการขัดเกลาและพัฒนาให้มีศักยภาพเพียงพอแล้ว จะสามารถเป็นกำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพ

ด้าน น.ส.ชลิตา โตบัว หรือน้องฮาย นักศึกษาพิการรุ่นที่ 20 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาการจัดการสำนักงาน วิทยาลัยเทคนิคบางแสน จ.ชลบุรี กล่าวว่า ตนได้เข้าฝึกงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด (แหลมฉบัง) เมื่อปี 2565 และขณะนี้ได้สำเร็จการศึกษาแล้ว โดยมีโอกาสได้ทำงานต่อที่บริษัทสยามมิชลิน จำกัด (แหลมฉบัง) ที่ได้เคยฝึกงานด้วย โดยตนรู้สึกภาคภูมิเป็นอย่างมากที่ได้มาเรียนกับวิทยาลัยเทคนิคบางแสน ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง การเรียนกับสถานศึกษาในสังกัดสอศ.ทำให้ตนได้เรียนรู้การฝึกอาชีพและมีงานทำ ซึ่งงานที่ตนได้ทำก็เป็นงานที่ชอบด้วย นอกจากนี้อยากให้สอศ.ได้จัดหลักสูตรการทำบัญชีครัวเรือนให้แก่ผู้เรียนพิการ เพราะจะได้มีทักษะการวางแผนทางการเงินในอนาคต อย่างไรตามตนขอฝากให้คนพิการได้มาเรียนอาชีวะ เนื่องจากเรียนจบแล้วมีงานทำและยังมีความรู้ด้านทักษะอาชีพด้วย

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/news/3655662/

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 23 ก.ค. 67
วันที่โพสต์: 23/07/2567 เวลา 11:24:52 ดูภาพสไลด์โชว์ สอศ.เติมโอกาสสร้างความเท่าเทียมให้ผู้พิการมีอาชีพ