กูรู IT แนะเสพการเมืองผ่านโซเชียลฯ อย่างมีสติ
เจาะความเห็นคนไอทีต่อประเด็นการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกับการเมือง ย้ำภัยคุกคามเล็งใช้สถานการณ์ที่คนสนใจเพื่อลวงข้อมูล-เงิน...หากกล่าว ถึงการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในปัจจุบัน ภาพที่ทุกคนสามารถเห็นได้ชัดเจน คงหนีไม่พ้นการถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง ทั้งใช้ส่งข่าว กระจายข้อมูล แสดงความเห็น ไม่เว้นแม้กระทั่งนำมาใช้โจมตีกัน ซึ่งดูเหมือนยิ่งนานวัน สถานการณ์ก็ยิ่งทวีความรุนแรงตามไปด้วย จนกลายเป็นความสงสัยว่าสารพัดข่าวที่แพร่กระจายอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมี ความน่าเชื่อถือเพียงใด ยิ่งในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ยิ่งดูเหมือนการตอบโต้บนโลกออนไลน์ก็ยิ่งดุเดือด ไม่มีทีท่าจะลดความร้อนลง...
"ส่วนตัวไม่เชื่อถือกระแสข่าวบนโซเชียลเน็ตเวิร์กเลย เพราะมนุษย์มีนิสัยชอบเผยแพร่ข่าวลือ ข่าวลวงมานานแล้ว เช่น การส่งจดหมายลูกโซ่ แต่ปัจจุบันมีโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งกระจายข่าวได้กว้างและเร็วมาก จึงกลายเป็นช่องทางแพร่ข่าวทั้งที่เป็นจริงและไม่จริงอยู่เสมอ ประกอบกับคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบตรวจเช็กข้อมูล แม้จะทำได้ง่ายแต่ก็ไม่นิยมทำ โซเชียลเน็ตเวิร์กจึงกลายเป็นเครื่องมือทรงพลังในการขยายข่าวลวง" นายปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานคอมมาร์ต แสดงความเห็น
เจ้าพ่องานคอมมาร์ต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโซเชียลเน็ตเวิร์กถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองอย่างมาก ทั้งใช้กระจายข่าวและใส่ร้ายกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใช้ทุกคนในการเรียนรู้ว่าควรเชื่อหรือไม่ ควรเชื่อสิ่งไหน จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองในการบริโภคข้อมูล เนื่องจากความเห็นทางการเมืองที่แตกออกเป็น 2 ฝ่ายนั้น เป็นสาเหตุให้แต่ละฝ่ายต้องการออกมาแสดงพลัง แสดงความคิดเห็นในมุมมองของตนเอง
สำหรับความเห็นในการจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ. นี้ นายปฐม เปิดใจว่า ส่วนตัวมองว่าถ้าอะไรที่ทำแล้วไม่เดือดร้อนคนอื่น ตนก็จะทำ ตั้งใจไว้ว่าจะไปใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชน แต่อีกมุมหนึ่งเรามีครอบครัวแล้ว ถ้าทำอะไรแล้วเสี่ยงก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่ปลอดภัย ก็คงจะไม่ทำ
"ช่วง 1-2 เดือนนี้ คนรอบตัวมักชวนพูดถึงประเด็นการเมืองตลอด ทั้งมาระบายมาปรึกษา เพราะเกิดความเครียดจากการเสพสื่อรับข้อมูลเข้าไปมาก ยิ่งอยู่ในสังคมที่เห็นต่างกับตัวเองยิ่งทำให้เกิดความอึดอัด บางครอบครัวกลายเป็นปัญหาทะเลาะกัน เพราะทุกวันนี้ไม่ได้เป็นปัญหาว่าคนเราไม่ยอมรับความเห็นต่าง แต่กลับเป็นการมองว่าคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามนั้นคนป่วย จึงพยายามหาข้อโต้แย้งมาถกเถียงเอาชนะอีกฝ่าย อยากฝากเตือนให้คิดกันให้ดี เพราะหากหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมอย่างครอบครัวยังเกิดความไม่มั่นคง ไม่มีความเป็นเอกภาพจากประเด็นทางการเมือง ที่สุดแล้วจะกลายเป็นปัญหาใหญ่และส่งผลต่อสังคม ไม่ว่าจะเห็นชอบกับฝ่ายไหนก็ไม่ควรดึงเรื่องการเมืองเข้ามาถกเถียงกันในครอบ ครัว" นายปฐม กล่าว
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยข้อมูลอย่าง นายประมุท ศรีวิเชียร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ไซแมนเทค (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความเป็นห่วงว่า ข้อมูลที่แพร่สะพัดอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์กในขณะนี้จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะเสี่ยงจะถูกโจมตีด้วยไวรัสและมัลแวร์ เนื่องจากแนวโน้มของอาชญากรออนไลน์ทั่วโลกนิยมใช้สถานการณ์ที่อยู่ในความ สนใจเป็นเครื่องมือลวงผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
ผู้เชี่ยวชาญด้านความ ปลอดภัยข้อมูล กล่าวด้วยว่า การคลิกหรือยอมรับลิงก์ต่างๆ ที่ไม่รู้ต้นทาง ไม่รู้จักผู้ส่ง ยิ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อเรื่องความปลอดภัยอุปกรณ์ ข้อมูล หรือทรัพย์สิน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีการแนะนำกันมาโดยตลอด แต่พบว่าคนไทยจำนวนมากมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าหมายของภัยคุกคาม เหล่านั้น
นาย ประมุท แนะนำว่า การที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีพฤติกรรมดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องติดตั้งซอฟต์แวร์สแกนไวรัสบนอุปกรณ์ ซึ่งไม่เฉพาะกับคอมพิวเตอร์ แต่รวมถึงสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งลิงก์แพร่หลายผ่านอีเมล์ โซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือแอพพลิเคชั่นแชตที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรตระหนักถึงและให้ความสำคัญ เนื่องจากตลาดสมาร์ทโฟนยังคงได้รับความนิยมและขยายตัวต่อเนื่อง
"จากการสำรวจเกี่ยวกับการให้ความสำคัญในการป้องกันข้อมูลและอุปกรณ์ของคนไทย พบว่าให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวในสัดส่วนที่น้อยมาก โดยมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวนกว่าครึ่งไม่ตั้งรหัสล็อกเครื่อง ดังนั้นคำแนะนำที่ควรส่งเสริมแก่ผู้ใช้ก็คือต้องมีความรู้ความเข้าใจและให้ ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ต้องมีการป้องกันในการใช้งาน เช่น ตั้งค่ารหัสปลดล็อกเครื่อง และติดตั้งซอฟต์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นเพื่อป้องกันภัยคุกคาม" นายประมุท กล่าว
ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจะกลับมาสงบสุข หรือยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งต่อไป แต่สิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้ลดลงไปก็คือ ความมีสติในการตระหนักถึงการรับข้อมูลข่าวสาร อย่ารอให้สถานการณ์ร้ายๆ ต้องเป็นตัวกำหนดให้เสพข่าวสารแบบมีสติ.
ขอบคุณ http://m.thairath.co.th/content/tech/400467
(ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 1 ก.พ. 57 )