“วราวุธ” ทดลองนั่งวีลแชร์-ปิดตาเดินใช้ไม้เท้า สำรวจฟุตบาท
“วราวุธ” รมว.พม. เตรียมลงพื้นที่สำรวจอารยสถาปัตย์ พร้อมแก้ไขให้ถูกจุด ขอเข้าใจความรู้สึกคนพิการ ทดลองนั่งวีลแชร์ – ปิดตาเดินใช้ไม้เท้า ย่านใจกลางกรุง
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายของวันนี้ (31 ต.ค. 66) ตนจะลงพื้นที่สำรวจอารยสถาปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ร่วมกับเครือข่ายฑูตอารยสถาปัตย์ ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งเสริมสิทธิผู้พิการ – มนุษย์ล้อ และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล
โดยเริ่มกิจกรรมในเวลา 13.30 น. รวมพลกันที่ลานน้ำพุ หน้าสยามพารากอน ซึ่งเป็นทางเชื่อมไปสถานี BTS สยาม จากนั้น 14.00 น. ตนจะทดลองนั่งรถเข็นวีลแชร์โดยเข็นไปเอง พร้อมกับ นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล แล้วออกเดินทางไปยังสถานี BTS สยาม และจะไปลงที่สถานี BTS เพลินจิต จากนั้นลงลิฟต์คนพิการไปยังชั้นล่างเพื่อสำรวจฟุตบาททางสัญจร ไปจนถึงหน้า เซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เพื่อสำรวจทางเท้าว่าเป็นอย่างไร
และนอกจาก การนั่งรถเข็นวีลแชร์แล้ว ตนจะทดลองปิดตาเดิน โดยใช้ทางเท้าเพื่อดูว่า การเดินโดยใช้ไม้เท้าแบบคนตาบอด บนทางเดินของคนพิการในใจกลางกรุงเทพฯ นั้น เอื้อต่อการเดินทางมากน้อยอย่างไร ซึ่งนอกจากการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว จะไปทำกิจกรรมเช่นนี้ที่จุดท่องเที่ยว ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ด้วย
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมนี้จะทำให้ตนได้รู้ถึงความรู้สึกของคนที่จะต้องใช้รถเข็นวีลแชร์กับคนที่ตาบอดมองไม่เห็น และจะได้รู้ว่าหากเป็นเช่นนี้เราจะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานใด และแก้ไขอย่างไร ในการที่จะทำให้กรุงเทพฯ และอีกหลายๆ จังหวัดในประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับคนพิการในแต่ละสถานะ และจะผลักดันนโยบายอย่างเต็มที่ อย่างกรณีอารยสถาปัตย์นั้น ตนเคยเริ่มทำมาแล้วในหลายพื้นที่อุทยานฯ
เช่น ทำทางลาดลงไปน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เพื่อให้บริการกับคนพิการ ดังนั้น จากนี้ไป เราจะดูแลในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ว่ามีสิ่งใดที่ควรจะต้องเพิ่มเติม ทำอะไร อย่างไรบ้าง ที่จะทำให้สังคมไทยเดินไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะคนพิการไม่ใช่คนด้อยโอกาส เพียงแต่บางครั้งสังคมไม่ได้เอื้อในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของคนพิการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ และหน้าที่ของทุกๆ คนที่จะทำให้คนพิการยืนอยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเท่ากันในสังคม
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีจะเกิดดราม่าหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ได้ร่วมกิจกรรมเช่นเดียวกันนี้มาแล้วนั้น ตนคิดว่าไม่ดราม่าแน่นอน ถ้าสามารถทำให้หลายฝ่ายตื่นตัวขึ้นมาได้ก็น่าดีใจ และการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ไปร่วมกิจกรรมอย่างที่เราเคยพูดคุยกันในที่ประชุมระหว่างกระทรวง
พม. กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่างคนต่างแยกย้ายกันทำงาน ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกฝ่ายจะได้เร่งมือช่วยกันทำงาน ซึ่งการทำงานสองคนย่อมดีกว่าหนึ่งคน ไม่ได้เป็นการแย่งงานหรือดราม่าอะไรกัน มีคนทำงานมากกว่าหนึ่งคนถือเป็นเรื่องที่ดี เมื่อครั้งเราประชุมร่วมกัน เราได้พูดว่ามีหลายเรื่องที่เราจะต้องทำร่วมกัน
ขอบคุณ... https://www.sanook.com/campus/1407943/ (ขนาดไฟล์: 214967)