กทม.เร่งจัดเก็บข้อมูลคนพิการ ออกแบบตำแหน่งงานใหม่ อุดช่องว่าง 222 อัตรา
วันที่ 22 ก.ค.68 ที่ศาลาว่าการ กทม.นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าการดำเนินนโยบายส่งเสริมพัฒนาคนพิการว่า ในด้านการจ้างงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดให้สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100:1 ปัจจุบัน กทม.จ้างงานคนพิการไปแล้ว 414 คน จากเป้าหมาย 636 คน ยังขาดอีก 222 คน
โดยตำแหน่งที่จ้างไปแล้ว ได้แก่ ข้าราชการ 48 คน ลูกจ้างประจำ 51 คน และอาสาสมัครช่วยปฏิบัติงานในสำนักงานเขตต่าง ๆ 312 คน ซึ่งพยายามสร้างโอกาสหลากหลายและครอบคลุมความพิการทั้ง 7 ประเภท รวมถึง มีนโยบายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จ้างอาสาสมัครคนพิการอย่างน้อยเขตละ 6 คน เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานใกล้บ้านและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง
ในด้านโครงการเชิงรุก ได้แก่ 1.โครงการ 3ดี โดยร่วมมือกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เพื่อสร้างกระบวนการจ้างงานที่มีคุณภาพ ได้แก่ 1.สนับสนุนดี การจัดตั้งศูนย์กลางประสานงาน 2.กระบวนการดี การสร้างมาตรฐานการทำงานผ่านคู่มือปฏิบัติงาน (Work Guide) 3.คนทำงานดี มุ่งพัฒนาทักษะและความพร้อมของคนพิการ
2.จัดตั้งศูนย์สนับสนุนการจ้างงานคนพิการ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงระหว่างคนพิการที่ต้องการหางานกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการจับคู่ที่เหมาะสมและลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล 3.การสัมภาษณ์ขณะลาออก (Exit Interview) เป็นกลไกที่ริเริ่มโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากพนักงานคนพิการที่ลาออก เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
นายภาณุมาศ กล่าวว่า นอกเหนือกฎหมายกำหนด กทม.เน้นการจ้างงานตามศักยภาพ ส่งเสริมคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนพิการ เพื่อการจ้างงานที่ยั่งยืน จากการวิเคราะห์ตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ 222 อัตรา สะท้อนถึงความต้องการของตำแหน่งงานอาจยังไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของคนพิการในตลาดแรงงาน รวมถึง ลักษณะการจ้างงาน ส่วนใหญ่เป็น อาสาสมัครถึง 312 คน แม้จะเป็นการสร้างโอกาส แต่ประเด็นด้านความมั่นคงและสวัสดิการในการทำงานอาจเป็นข้อพิจารณาที่ต้องพัฒนาไปสู่การจ้างงานในรูปแบบลูกจ้างประจำหรือข้าราชการมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อเสนอแนะให้ กทม.ใช้ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ขณะลาออก (Exit Interview) และศูนย์สนับสนุนการจ้างงาน เพื่อวิเคราะห์และออกแบบตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ตรงกับศักยภาพของคนพิการมากขึ้น ควบคู่การส่งเสริมการพัฒนาทักษะ (Upskill/Reskill) เพื่อให้คนพิการมีความพร้อมสำหรับตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูง
รวมถึง มีการบูรณาการข้อมูลอย่างเป็นระบบและปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง เพื่ออุดช่องว่างตำแหน่งงาน และเป็นกุญแจสำคัญในการจ้างงานคนพิการอย่างเท่าเทียมและยั่งยืนตามเป้าหมายต่อไป
ขอบคุณ... https://siamrath.co.th/n/637984