เติม…เต็ม Empower 10 รุ่น 10 ปี โปรเจ็กต์ มจธ. ฝึกทักษะคนพิการ
10 รุ่น 10 ปี โปรเจ็กต์ มจธ. ฝึกทักษะคนพิการ ‘ผู้พิการ’ คือ อีกหนึ่งกลุ่มที่สังคมต้องให้ความสำคัญ
ไม่ใช่ในแง่ของความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ หากแต่ประเด็นใหญ่กว่านั้น คือการสนับสนุนผลักดันให้คนเหล่านั้นอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
ดังปรากฏในวาระครบรอบ 10 ปีของโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. เติม…เต็ม Empower ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. สถาบันการศึกษาที่ดำเนินการในประเด็นดังกล่าว ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
เปิดข้อมูลลึก ส่อง ‘มาตรา 35’ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของผู้พิการ
ว่าแล้ว มาดูข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับคนพิการ ซึ่ง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่า คนพิการที่ลงทะเบียนมีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวนกว่า 2.2 ล้านคนทั่วประเทศ อยู่ในวัยทำงาน (15-60 ปี) กว่า 8 แสนคน คนพิการที่มีงานทำ 3.1 แสนคน (27%) และยังไม่มีงานทำสูงถึง 423,650 คน ซึ่งแม้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้างหรือสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องจ้างคนพิการ 1 ตำแหน่ง ทุกๆ จำนวน ลูกจ้าง 100 ตำแหน่ง ที่น่าจะทำให้เกิดการจ้างงานคนพิการตาม มาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ถึง 55,000 อัตรา แต่จากข้อมูลช่วงปี 2557-2559 กลับมีจำนวนคนพิการที่ได้ทำงานกับผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานรัฐ 35,000 อัตรา เท่านั้น จำนวนที่เหลืออีกกว่า 20,000 อัตรา ที่จ้างได้ไม่ครบนั้น หลายบริษัทจะเลือกใช้การนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้มาตรา 34 ของ พ.ร.บ.ในปัจจุบัน อัตรา 119,720 บาทต่อคนต่อปี
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถรับคนพิการเข้าไปทำงานในสถานประกอบการของตนเอง แต่ต้องการให้เงินของตนเองส่วนนี้ สามารถทำให้คนพิการได้ทำงานในสถานประกอบการได้ทัดเทียมคนทั่วไป คือ การเลือกใช้มาตรา 35 ที่นอกเหนือจากการจัดสถานที่ให้จำหน่ายสินค้าและบริการกับคนพิการ รวมถึงการจ้างเหมาคนพิการ และการจัดให้มีผู้ดูแลคนพิการแล้ว ก็คือการใช้เงินดังกล่าวเพื่อ ‘การฝึกงาน’
สถานการณ์ข้างต้น คือที่มาของ ‘โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานเพื่อเตรียมความพร้อมคนพิการเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการ’ ของ มจธ. เพื่อเป็นทางเลือกให้กับภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้าข่ายตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. แต่ไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานกับตนเอง แต่อยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาคนพิการให้มีทักษะอาชีพที่สามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการได้จริง มากกว่าการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งปัจจุบัน มจธ. ได้พัฒนาหลักสูตรด้านการประกอบอาชีพอิสระเพิ่มเติม เป็นทางเลือกให้กับคนพิการในการประกอบอาชีพได้ โดยมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 10 รุ่น
10 ปีทุ่ม 44 ล้าน ฝึกงานคนพิการทั่วไทย-พัฒนา 4 หลักสูตร
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ย้อนเล่าที่มาของโครงการว่า ภายใต้มาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้นายจ้าง หรือสถานประกอบการสามารถให้ความช่วยเหลือคนพิการด้วยการ ‘ฝึกงานด้วยหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง’ แทนการจ้างงานได้ ดังนั้นหัวใจของโครงการนี้คือ การนำเงินเดือน 1 ปีที่ต้องจ่ายเป็นเงินเดือนให้คนพิการ ตามมาตรา 35 (ปัจจุบัน 119,720 บาท/คน/ปี) ของบริษัทหรือหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการมารวมกันเป็นเงินงบประมาณในการฝึกทักษะอาชีพให้กับคนพิการในปีนั้นๆ
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ภายใต้การสนับสนุนจากภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐรวม 12 หน่วยงานคิดเป็นเงินกว่า 44 ล้านบาท และการสนับสนุนจาก มจธ. ในส่วนอื่นๆ ทั้งสถานที่ฝึกงาน ที่พัก บุคลากร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้ได้หลักสูตร 600 ชั่วโมง สำหรับคนพิการที่พัฒนาขึ้นรวม 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน (พ.ศ.2557-ปัจจุบัน) หลักสูตรผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัส (พ.ศ.2562-2563) หลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล (พ.ศ.2563-ปัจจุบัน) และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น (พ.ศ.2564-ปัจจุบัน) มีผู้สำเร็จการอบรมตามโครงการรวมทั้งสิ้น 398 คนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่สำคัญคือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ได้รับการบรรจุเข้าทำงานในสถานประกอบการจริง
“ทุกครั้งของการจัดหลักสูตรอบรม เราจะมีการนำข้อมูล รวมถึงองค์ความรู้ หรือข้อค้นพบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการในแต่ละรุ่น มาวิเคราะห์และสรุปผลที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้แต่ละหลักสูตรมีเนื้อหาที่เหมาะสมตรงกับความต้องการของตลาด มีวิธีการฝึกและสอนที่ทำให้คนพิการมีทักษะอาชีพ ที่นำไปใช้กับการสมัครงาน หรือประกอบอาชีพส่วนตัวแบบอิสระได้ รวมถึงการทำให้เขามีทักษะที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร การบริหารเวลา การทำงานเป็นทีม รวมถึงความรู้ด้านกฎหมายไปพร้อมกัน” รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย กล่าว
เติม…เต็ม Empower ฝึกทักษะ สร้างอาชีพ
คว้า ‘ใบประกอบสมรรถนะ’
ถามว่า ก้าวต่อไปในอนาคตของโครงการนี้ มีแผนงานอย่างไร ? รศ.ดร.สุวิทย์เผยว่า นอกเหนือจากการทำให้ตัวหลักสูตร สามารถเข้าถึงกลุ่มคนพิการลักษณะอื่นๆ เช่น คนพิการทางการได้ยิน หรือคนพิการที่เคลื่อนที่ได้ยาก จะเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการบังคับควบคุมระยะไกลที่ทำให้สามารถทำงานจากที่บ้าน รวมไปถึงหลักสูตรต่อเนื่องที่จะทำให้เขามีทักษะ หรือศักยภาพในการทำงานมากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญ และประโยชน์ของการพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการ ทั้งในระดับตัวบุคคล องค์กร และระดับประเทศ
ขณะที่ สุชาติ เพริดพริ้ง ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ. อธิบายลงในรายละเอียดว่า มจธ.ต้องการที่จะขับเคลื่อนเพื่อก้าวต่อไปในปีต่อๆ ไป โดยต้องเริ่มโครงการสำหรับผู้สูงอายุด้วย
“เราเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเทคโนโลยี เราจะเชิญผู้พิการสูงอายุ มาเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยี ให้สื่อสารกับลูกหลานได้ และเมื่อเราทำเรื่องของคนพิการมา 10 ปีแล้ว มีทั้งทางด้านร่างกาย ทางด้านความเคลื่อนไหว แต่ในอนาคตต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นทางด้านสายตา ทางหู และทางสมอง เพื่อเป็นการขยายโอกาส” อาจารย์สุชาติกล่าว
ด้าน จุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง มจธ. และทางสถาบันฯ ว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีหน้าที่ภารกิจหลักคือการพัฒนาทักษะกำลังคน กำลังแรงงานของประเทศให้มีมาตรฐานของประเทศ ขณะนี้มีการพัฒนามาตรฐานมากกว่า 1,000 อาชีพ นับตั้งแต่ ตัดผม ตัดต้นไม้ ไปถึงทางด้านงานโรงแรม และ ‘ผู้พิการ’ คือหนึ่งเป้าหมาย
“ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเราสามารถออกหนังสือสมรรถนะให้แก่ผู้พิการ ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพยินดีอย่างยิ่งที่จะได้มีส่วนร่วมกับทาง มจธ. และทางสมาคมที่ฝึกอบรมผู้พิการอยู่ทั้งหลายรูปแบบที่จะประกอบอาชีพ อย่างน้อยเขาก็มีหนังสือที่เป็นเครื่องรับรองเขาติดตัวไปต่อยอดในการทำงานได้ และยังสามารถเทียบกับภาคการศึกษาได้อีกด้วย และเมื่อมีหนังสือรับรองการทำงานให้กับผู้ประกอบการเขาควรที่จะได้รับค่าตอบแทนต่อฝีมือที่มี” จุลลดาอธิบาย
มาถึงความเห็นของ ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่ย้ำว่าต้องปลูกฝังความเชื่อใหม่ อย่าคิดว่าคนพิการทำงานยากๆ ไม่ได้ คำว่าตาบอดทำอะไรไม่ได้นอกจากขอทาน หากเป็นทางโลกตะวันตก 1 บาทก็ไม่ได้ เพราะมีการส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้พิการ และทำงานที่ท้าทายอีกด้วย
“ผมได้พบกับผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอด เขาได้ปลูกฝังความเชื่อใหม่ให้แก่ผมว่า ตาบอดทำได้ทุกอย่าง ให้ต้องหาเรื่องท้าทายทำ และตาบอดต้องรู้จักให้ ถามว่าให้อย่างไรนั้นก็คือการบริจาคโลหิตให้แก่ผู้ที่ต้องการ และเมื่อช่วยเหลือตนเองได้แล้ว อย่างลืมที่จะช่วยเหลือคนอื่นต่อไป ในการยกระดับนั้นต้องเดินไปข้างหน้าคนตาบอดจึงต้องทุ่มเทเมื่อมีโลกของ AI ของหุ่นยนต์เข้ามา เราก็ต้องมีการสอนโค้ดตั้งแต่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพราะอะไรทำไมถึงต้องสอน เพราะเพื่อให้คนพิการนั้นเข้าไปมีส่วนร่วมกับบุคคลทั่วไปได้มากขึ้น อยากเชิญชวนทาง มจธ. พัฒนาทางด้านความรู้ในเรื่องนี้”
ไต่ระดับ จากประสาทสัมผัส สู่งานบริหาร
ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ แต่มุ่งสู่ธุรกิจพึ่งตนเอง
สนทนามาถึงตรงนี้ ต้องพาไปทำความรู้จักอาชีพและผลิตภัณฑ์น่าสนใจที่ผู้พิการทำได้อย่างดียิ่ง ภายใต้การสนับสนุนโดยภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเริ่มที่การเบลนด์ชาด้วยความพิถีพิถัน โดยกลุ่ม ‘Sensory Intelligence Group (SIG)’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้พิการทางสายตาที่มีเชี่ยวชาญในการใช้ประสาทสัมผัส เบลนด์ชาชุด Working day tea ผสมผสานวัตถุดิบหลักของสมุนไพรไทย ผลไม้ไทย และต่างประเทศ อย่างลงตัว นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ชาที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันไปในแต่ละวัน ทั้ง 5 รสชาติ
‘มิ้ง’ ผู้พิการทางสายตา จากการที่จอประสาทตาเสื่อม ร่วมเบลนด์ชาอย่างตั้งใจ โดยเผยว่า เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตนั้นตั้งแต่การฝึกอบรมทดสอบกลิ่น แยกลักษณะวัตถุต่างๆ ตามกลิ่น ว่าลักษณะแบบไหน มีกลิ่นอย่างไร ในการฝึกทดสอบ ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมโครงการการผลิตต้องมีประสาทสัมผัสทางด้านกลิ่น, สัมผัส, รส ไม่จำเป็นต้องรู้ครบทุกองค์ประกอบ แต่เพียงต้องสามารถแยกกลิ่นต่างๆ ได้
อีกหนึ่งแบรนด์น่าสนใจคือ ‘เอ็ดดิ คราฟ’ สินค้าหัตถกรรมฝีมือจากผู้พิการ อาทิ เทียนหอม และสีเทียนผงสีธรรมชาติ จากตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร โดย Social Cultural Innovation Lab ภายใต้สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ร่วมกับ ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอน ให้กับผู้พิการ เพื่อดึงศักยภาพและทักษะด้านงานฝีมือ หัตถกรรมและการออกแบบของผู้พิการ ให้สามารถผลิตสินค้า สร้างรายได้ และพึ่งพาตนเองได้
ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ.เล่าว่า ในการเริ่มสอนปีแรกๆ จะเริ่มสอนให้ผู้พิการฝึกแบบง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ไต่ระดับพัฒนาทักษะขึ้นเรื่อยๆ สามารถทำตามออเดอร์ได้อย่างมีคุณภาพ โดยนอกจากทักษะการผลิตสินค้าแล้ว ยังมีการสอนงาน ‘บริหาร’ ให้ด้วย
“เราเอาจริงเอาจัง จึงเหมือนเป็นการคัดคนในการทำงานจริงๆ จึงเริ่มการสอนงานบริหารมากขึ้น ก็ให้เขาเลือกกันเลยว่าอยากจะทำอะไร ใครจะดูแลเรื่องการผลิต ใครจะคุมสต๊อกสินค้า ใครพูดเก่งก็ให้ไปฝ่ายการตลาด เราต้องสอนให้ครบทุกอย่าง เพราะถ้าเราไม่อยู่เขาจะขายของไม่เป็น โดยในปีหน้าจะมีเรื่องการฝึกทางด้านการตลาดมากขึ้น เราจะพาเขาไปรู้จักกับพาร์ตเนอร์ทางการขายมากขึ้น” ผศ.วรนุชเล่า ถึงแผนระยะใกล้
ปิดท้ายที่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เอ่ยขอบคุณ มจธ. ผู้ริเริ่มทำโครงการนี้และดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว
“ผมเองเชื่อเหลือเกินว่าโครงการนี้จะมีความเจริญรุ่งเรืองมาก วันนี้มีความสุขมากที่ได้เห็นผู้รับนั้นมีความสุข ผู้ให้เองก็มีความสุขเช่นกัน โดยทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้ให้ความมั่นใจขอให้โครงการนี้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป”
ถือเป็นโครงการดีๆ ที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสังคมที่เท่าเทียม โอบกอดทุกกลุ่มคนอย่างอ่อนโยน สร้างชุมชน เมือง และประเทศที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_4269625