ถอดอคติ จุดประกายสังคม เพราะ ‘คนพิการ’ คือเพื่อนของเรา
ถอดอคติ จุดประกายสังคม เพราะ ‘คนพิการ’ คือเพื่อนของเรา
คุณเคยเห็นคนพิการออกกำลังกายในสวนสาธารณะไหม ?
คุณเคยเห็นคนพิการในโรงหนังหรือเปล่า ?
พวกเขาอยากจะมีความสนุกในชีวิตบ้างได้ไหม ?
เมื่อการออกแบบพื้นที่ไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มประชากรที่หลากหลายเพียงพอ ทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนบางกลุ่มถูกกีดกันออกจากพื้นที่ส่วนรวมไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบทางเท้า การคมนาคมขนส่งสาธารณะ กระทั่งพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ทำให้ผู้พิการใช้ชีวิตได้ยากกว่าผู้ที่ไม่พิการ
เนื่องในวันที่ 3 ธันวาคม ‘วันคนพิการสากล’ จึงชวนเรียนรู้และทำความเข้าใจผู้พิการ มากกว่าเพียงคนที่สวนกันไปมา เพราะเราสามารถเป็นเพื่อนกับพวกเขาได้ไม่แตกต่างจากคนอื่น
อคติและการกีดกัน คือความท้าทายต่อการทำงานด้านคนพิการ
“ทำทางลาดไปทำไม ไม่มีคนพิการมาใช้สักหน่อย”
“ห้ามคนตาบอดปั่นจักรยาน เดี๋ยวโดนร้องเรียนจากคนที่ปั่นจักรยานอยู่แล้ว”
“มันต้องปิดรอบ ปิดโรงหนัง คนตาดีไม่มีใครอยากฟังเสียงบรรยายภาพหรอก”
ประโยคเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ ‘ต่อ’ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่องดินสอ จำกัด และมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม พบเจอจากการทำงานด้านคนพิการกว่า 10 ปี เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เท่าเทียม
สิ่งสำคัญไม่ใช่ไม่มีคนพิการมาใช้สถานที่ร่วมกับคนที่ไม่พิการ ทว่าสถานที่หลายแห่งไม่ได้คำนึงถึงผู้ใช้งานที่หลากหลาย เช่น ห้างสรรพสินค้าไม่มีลิฟต์ขึ้นไปถึงชั้นโรงภาพยนตร์ แต่ต้องขึ้นบันไดเลื่อนไปอีกชั้น สวนสาธารณะที่ไม่มีการแบ่งทางเดิน ทางวิ่ง กระทั่งทางจักรยาน หรือบางที่ก็ไม่คำนึงถึงการใช้งานจริง อาทิ ทางลาดที่ชันเกินไป เบรลล์บล็อก (braille block) ที่พาผู้พิการทางสายตาไปเจอทางตันหรือสิ่งกีดขวาง ทำให้ผู้พิการกลายเป็นผู้ที่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น สถานีรถไฟฟ้าที่มีลิฟต์ แต่ไม่มีทางลาดให้ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์สามารถเข็นรถขึ้นได้ รถเมล์ที่ไม่มีที่ให้คนพิการนั่งวีลแชร์ขึ้นได้
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่รู้ของสังคมต่อความพิการ หากสังคมปรับมุมมองโดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้คน เช่นเดียวกับมุมมองเชิงสังคม (social model) ที่พยายามปรับสิ่งแวดล้อมและใช้เทคโนโลยีเพื่อขจัดอุปสรรคจากความบกพร่องทางร่างกาย ทำให้ความพิการไม่ใช่ปัญหาในการใช้ชีวิตอีกต่อไป
ขณะเดียวกันอคติต่อผู้พิการไม่ได้เกิดขึ้นจากความไม่รู้จักหรือความไม่เข้าใจของผู้ที่ไม่พิการเท่านั้น แต่บริบทสังคมไทยที่ผ่านมาก็ไม่ส่งเสริมให้ผู้พิการเห็นคุณค่าในตัวเอง
“คนพิการเป็นคนที่ถูกสงเคราะห์มาโดยตลอด คนไปโรงเรียนคนตาบอด เพื่อบริจาคเงิน เพื่อเลี้ยงอาหารกลางวัน คนพิการก็จะร้องเพลงขอบคุณ ฉันเกิดมาพิการ ขอบคุณที่คุณมาเป็นแสงสว่างให้ฉัน นี่เป็นภาพปกติที่เกิดขึ้น”
จุดประกายสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน เริ่มจากรู้จัก เข้าใจ และเป็นเพื่อนกัน
แม้การทำงานด้านคนพิการของคุณต่อ อาจเริ่มต้นจากความสงสารเช่นเดียวกับภาพจำที่สังคมไทยมีต่อผู้พิการในมุมมองเชิงสงเคราะห์ หรือ ‘เวทนานิยม’ (Charity Model) ซึ่งเป็นอคติที่อันตรายที่สุด เพราะทำให้ผู้คนมองผู้พิการว่าด้อยกว่า ต้องได้รับความเมตตา ความสงสาร และให้การช่วยเหลือ นานวันเข้า ผู้พิการก็เริ่มเชื่อว่าตนนั้นน่าสงสารและควรได้รับความช่วยเหลือ ทว่าเมื่อคุณต่อได้มีโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์และทำงานกับคนพิการ ทัศนคติเรื่องคนพิการก็เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากการจัดกิจกรรม ‘วิ่งด้วยกัน’
“แรก ๆ อาสาสมัครมาเพราะสงสารคนพิการ อยากมาทำบุญ อยากมาสงเคราะห์ อยากมาช่วยเหลือคนพิการ แต่พอเขาได้ใช้เวลาร่วมกัน วิ่งไปด้วยกัน และรู้จักกัน จากการทำบุญเปลี่ยนเป็นการวิ่งไปกับเพื่อนคนหนึ่ง มิตรภาพก่อตัวขึ้นระหว่างคนสองคนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”
การวิ่งนี้จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนพิการและคนไม่พิการมาใช้เวลาร่วมกัน แบ่งปันประสบการณ์ และสร้างสายสัมพันธ์ สิ่งสำคัญจึงเป็นการได้รับ ‘สุขภาพ’ และ ‘มิตรภาพ’ เพราะการเป็นเพื่อนกับใครสักคนหนึ่ง ทำให้เรามองข้ามความบกพร่อง/ความพิการ และมองคนคนนั้นเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความแตกต่างหลากหลาย
นอกจากการเริ่มให้ผู้พิการและผู้ไม่พิการรู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น อีกตัวช่วยหนึ่งที่น่าสนใจ คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา อย่างแอปพลิเคชัน ‘พรรณนา’ (pannana) ที่เกิดจากการทำงานร่วมกับบริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้คนตาบอดสามารถดูหนังพร้อมกับคนตาดี ผ่านระบบเสียงบรรยายภาพ
แน่นอนว่านี่เป็นเพียงการคลี่ปมปัญหาไม่กี่เปลาะ เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่รอคอยความร่วมมือ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและแก้ไข สู่สังคมที่มีพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลายและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
“แค่คุณมีเพื่อนเป็นคนพิการสักคนหนึ่ง ความคิดเรื่องคนพิการคุณจะเปลี่ยนไปทันที คุณจะไม่รู้สึกว่าคนนี้น่าสงสาร คนนี้ต้องสงเคราะห์เขา แต่เขาคือเพื่อนที่เราอยากไปเที่ยว ไปดูหนัง ไปชอปปิงด้วยกัน แล้วทำไมเขาไปไม่ได้ ทำไมการเดินทางของเขาถึงเป็นปัญหา โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนพิการและคนไม่พิการมาเจอ มาอยู่ในสังคมเดียวกัน”
‘การเป็นเพื่อนกัน’ อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่จะทำให้มุมมองต่อคนพิการเปลี่ยนไป จากความไม่เข้าใจและอคติ สู่ทัศนคติที่ว่า คนพิการและคนที่ไม่พิการสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพียงทำความเข้าใจและสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ทุกคนพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy): ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคม โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 และ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอบคุณ... https://www.thepeople.co/lifestyle/healheart/53467